China-ASEAN Panorama

‘ภาษาจีนฟีเวอร์’ มาแรงในอาเซียน จากความนิยมไปสู่ผลลัพธ์ทางปฏิบัติ

29

May

2023

6

March

2023

ผู้เขียน ถังอี้ นิตยสาร China-ASEAN Panorama

ตีพิมพ์ในนิตยสาร China-ASEAN Panorama ฉบับเดือน ก.พ. 2566

        จากแรงขับเคลื่อนและการเดินหน้าของข้อริเริ่ม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ทำให้กระแส‘ภาษาจีนฟีเวอร์’ มาแรงต่อเนื่อง  อาเซียนซึ่งมีความใกล้ชิดกับจีนทั้งทางด้านภูมิศาสตร์สายเลือดและวัฒนธรรม ถือได้ว่าเป็นทั้งจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของข้อริเริ่ม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ และพื้นที่หลักซึ่งได้รับอิทธิพลจากกระแสนิยมภาษาจีน

        ปี 2566 เป็นวาระครบรอบ 10 ปีของข้อริเริ่ม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนและอาเซียนได้เกิดการบูรณาการอย่างลึกซึ้งทั้งทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ส่งผลให้กระแส ‘ภาษาจีนฟีเวอร์’ ในอาเซียนยังคงมาแรงไม่มีตก และค่อยๆ พัฒนาจากความนิยมไปสู่การเห็นผลทางปฏิบัติ

‘เรียนภาษาจีน’ เทรนด์มาแรง

        จากขีดความสามารถทางการแข่งขันและบทบาทในเวทีโลกของจีนที่เพิ่มมากขึ้น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างจีน-อาเซียน ช่วยจุดกระแสให้ภาษาจีนซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือสื่อสารสำคัญกลายเป็นที่นิยมขึ้นมา สร้างสายสัมพันธ์และเป็นสะพานเชื่อมมิตรภาพระหว่างจีน-อาเซียน

       ในบาหลี ประเทศอินโดนีเซียนักท่องเที่ยวชาวจีนสามารถสื่อสารกับคนในพื้นที่ด้วยภาษาจีนได้โดยง่าย ทั้งในโรงแรมร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยวและสถานบริการต่างๆ  ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญในหลายประเทศอาเซียน ความเชี่ยวชาญด้านภาษาจีนของผู้ประกอบวิชาชีพจำนวนมากก็มีระดับที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังกลายเป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพ

พิธีเปิดสถาบันขงจื่อการท่องเที่ยวมหาวิทยาลัยอูดายานา อินโดนีเซีย (ภาพ: ASEAN Top News)

       หลวงพระบาง สปป.ลาว ในเดือนกรกฎาคมยังคงร้อนมาก แต่ยังสามารถได้ยินเสียงอ่านหนังสือดังมาจากโรงเรียนประถมหมู่บ้าน Buam Aor เมืองเชียงเงิน ริมฝั่งแม่น้ำโขง ขบวนรถไฟจีน-ลาวแล่นผ่านข้างหมู่บ้าน สถานีหลวงพระบางอยู่ห่างออกไป 12 กิโลเมตร เด็กนักเรียนประถมหลายสิบคนกำลังอ่านประโยค “ฉันอยากนั่งรถไฟไปจีน” ที่เขียนบนกระดานดำเป็นภาษาลาวและจีนด้วยเสียงเจื้อยแจ้ว

เด็กประถมในหมู่บ้าน Buam Aor เมืองเชียงเงิน
แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว กำลังเรียนภาษาจีน (ภาพ: People's Daily)

        ในฐานะหนึ่งในโครงการสำคัญของข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” รถไฟจีน-ลาวได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 จากการก่อสร้างที่มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง การไปมาหาสู่ระหว่างกัน ทั้งการเยี่ยมชมแลกเปลี่ยน ท่องเที่ยว เยี่ยมญาติหรือศึกษาต่อ ทำให้ความกระตือรือร้นในการเรียนภาษาจีนของชาวลาวเพิ่มมากขึ้นทุกวัน สถาบันขงจื่อในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมภาษาจีนในระดับนานาชาติ รับผิดชอบการฝึกอบรมภาษาจีนอย่างเข้มข้นให้กับนักศึกษาลาวสำหรับสายงานอาชีพที่ต้องทำงานในสายรถไฟจีน-ลาว

        นอกจากนี้ หลายประเทศในอาเซียนอย่าง ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและเวียดนาม ยังได้บรรจุภาษาจีนลงในหลักสูตรการศึกษาของประเทศ ส่งเสริมให้โรงเรียนดำเนินการสอนภาษาจีนอย่างจริงจัง ช่วยผลักดันให้ภาษาจีนเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น โรงเรียนประถมและมัธยมในสิงคโปร์เปิดสอนหลักสูตรภาษาจีนโดยทั่วไป ขณะที่มาเลเซียมีการเรียนการสอนภาษาจีนในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย มีการออกแบบหลักสูตรภาษาจีนอย่างเป็นระบบ

ครูอาสาสมัครจากจีนกำลังสอนภาษาจีนให้แก่นักเรียนชาวลาว (ภาพ: สำนักข่าวซินหัว)

       การประยุกต์ใช้ภาษาจีนนั้นสอดคล้องกับความต้องการของประเทศอาเซียน ภายใต้การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ความนิยมของภาษาจีนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีช่องทางการเผยแพร่ที่หลากหลายและรวดเร็วมากขึ้น จนกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคใหม่

ร่วมกันสร้าง ‘สะพานภาษาจีน’

       ผู้คนในอาเซียนต่างให้ความสนใจกับภาษาจีนเป็นอย่างมาก จนทำให้หลายคนสงสัยว่า ‘เสน่ห์’ ของภาษาจีนอยู่ที่ตรงไหน? คำตอบสำหรับคำถามนี้เห็นได้ชัดจาก ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนที่แน่นแฟ้นระหว่างจีน-อาเซียน โดยเฉพาะความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมของโครงการสำคัญภายใต้ข้อริเริ่ม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ต่างๆ  อย่าง โครงการรถไฟจีน-ลาว รถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง รถไฟจีน-ไทย และรถไฟรางเบาเวียดนามฮานอย ซึ่งล้วนแต่เอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ภาษาจีนจึงเปรียบเสมือน‘ขนมหวาน’ที่ผู้คนในอาเซียนต่างก็ฝักใฝ่ที่จะเรียนรู้

       จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์จีน จีนครองตำแหน่งคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนมาติดต่อกัน 13 ปีแล้ว ผู้คนในอาเซียนต่างคาดหวังที่จะใช้ภาษาจีนเป็น ‘สะพาน’ เชื่อมโยงความร่วมมือกับจีน และทำการยกระดับซอฟท์พาวเวอร์ในตัวเอง

       เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2565 พนักงานชาวอินโดนีเซีย 60 คนของ ‘เขตความร่วมมืออุตสาหกรรมการเกษตรจูล่ง จีน-อินโดนีเซีย’ ซึ่งเป็นวิสาหกิจด้านการเกษตรของจีนในอินโดนีเซีย ได้เข้ารับการอบรมภาษาจีนเป็นระยะเวลา 3 เดือน ภายใต้การดูแลของคณาจารย์ชาวจีนจากสถาบันขงจื่อแห่งมหาวิทยาลัย Al-Azhar ประเทศอินโดนีเซีย เหลย เหวินจง ประธานเขตฯ จูล่งจีน-อินโดนีเซียกล่าวว่า หลังจากทราบว่าบริษัทจะจัดการฝึกอบรมภาษาจีน พนักงานชาวอินโดนีเซียก็รีบพากันมาลงทะเบียนในทันที

        ในฐานะที่เป็นพื้นที่สำคัญลำดับต้นๆ ของ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ นอกเหนือจากศักยภาพทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนที่เป็นการเพิ่ม ‘ไฟ’ ให้กับกระแสภาษาจีนแล้ว ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและด้านอื่นๆ ก็เป็นการกระตุ้นกระแสภาษาจีนเช่นเดียวกัน

หนังสือเรียนภาษาจีนที่นักศึกษาไทยใช้ (ภาพ: สถาบันอาณาบริเวณศึกษาม.ปักกิ่ง)

       ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีผลงานซีรีส์จีนคุณภาพออกมาให้คอซีรีส์จีนในอาเซียนได้ติดตามมากมาย ทั้งเรื่อง  “เล่ห์รักวังต้องห้าม” (Story of Yanxi Palace) และ “เทียบท้าปฐพี” (Who Rulesthe World) เพื่อที่จะติดตามรับชมซีรีส์จีนเหล่านี้ แม้แต่นักแสดงชาวไทยที่มีชื่อเสียงบางคนเช่น บิวกิ้น พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล และ พีพี กฤษฏ์ อำนวยเดชกร ก็ยังเรียนรู้ภาษาจีนอย่างขะมักเขม้น ทั้งยังหลุดคำจีนออกมาเป็นครั้งคราวในบทโทรทัศน์ของพวกเขา

       “ช่วงเดือน พ.ค. 2563 - พ.ค. 2564 จำนวนผู้ใช้งาน iQIYI เวอร์ชันสากลของไทยเพิ่มขึ้น 8 เท่า ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนามได้กลายเป็นตลาดต่างประเทศที่สำคัญของ iQIYI”  ตามคำบอกเล่าของ ปี้ อวี่ซี รองบรรณาธิการผู้บริหารของ iQIYI  สถานีโทรทัศน์ K+ ของเวียดนามได้นำเข้าซีรีส์จีนเรื่อง “Light On”  และโปรโมตซีรีส์เรื่อง “The Long Night” และ “The Bad Kids” ที่เป็นซีรีส์แนวระทึกขวัญทางช่องสถานีอย่างจริงจัง ความแพร่หลายของซีรีส์จีน นับเป็นหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้ภาษาจีนได้รับความนิยมในกลุ่มประเทศอาเซียน

        ขณะเดียวกัน จีนและอาเซียนก็มีวัฒนธรรมและตรรกะความคิดที่คล้ายคลึงกัน การเรียนรู้ภาษาจีนไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าใจโลกและกระชับร่วมมือกับจีน แต่ยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะเข้าใจวัฒนธรรมของตนเองอย่างลึกซึ้ง

        การพัฒนาเศรษฐกิจคือรากฐาน ความไว้เนื้อเชื่อใจกันทางการเมืองคือหลักประกัน การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมคือสายสัมพันธ์ ท่ามกลางการสื่อสารและความร่วมมือที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างจีนกับอาเซียน ภาษาจีนได้เข้ามามีบทบาทโดดเด่นมากขึ้นในทุกด้านของวิถีชีวิตทางสังคมในอาเซียน

ยิ่งเดินหน้า ยิ่งเห็นผลทางปฏิบัติ

        ภาษาจีนได้รับความนิยมอย่างมาก ในแง่หนึ่งได้เข้ามามีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมระหว่างประเทศ การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและเศรษฐกิจขณะเดียวกัน เมื่อเข้าร่วม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ กับจีนแล้ว ประเทศในอาเซียนไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะบริการเป็นภาษาจีนได้ ทุกสาขาของงานบริการต่างก็ต้องการผู้ที่มีความรู้ภาษาจีนมารองรับ

       ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ภาษาจีนจากเจ้าของภาษาโดยตรง ทางการจีนได้ส่งครูอาสาสมัครมาสอนภาษาจีนที่ประเทศไทย ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทย กล่าวว่า ไทยและจีนได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาในแต่ละระดับชั้น และมีกรอบความร่วมมือด้านการส่งเสริมการสอนภาษาจีนในประเทศไทยร่วมกัน

นักเรียนไทยแสดงความเคารพต่อคุณครูชาวจีนในวันพิธีไหว้ครู (ภาพ: จางเหล่ยหลิ่วหนาน)

       ในปี 2565 รัฐบาลจีนและเวียดนามได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ว่าด้วย “การสร้างความเข้มแข็งและลึกซึ้งยิ่งขึ้นแก่ความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างจีน-เวียดนาม" โดยกล่าวถึงการให้ทุนรัฐบาลจีนไม่ต่ำกว่า 1,000 ทุนแก่เวียดนามในอีก5 ปีข้างหน้า และทุนการศึกษาสำหรับครูสอนภาษาจีนนานาชาติอีกไม่ต่ำกว่า 1,000 ทุน เพื่อช่วยเวียดนามบ่มเพาะผู้มีความสามารถและครูสอนภาษาจีนนานาชาติ

       อย่างไรก็ตามในทางกลับกัน การเผยแพร่ภาษาจีนยังประสบปัญหาขาดระบบและการปฏิบัติจริง เช่น การจะคงรักษาระดับความนิยมของภาษาจีน สร้างรูปแบบการสื่อสารขนาดใหญ่และได้มาตรฐาน เพื่อให้เส้นทางการเผยแพร่ภาษาจีนสู่ต่างประเทศดีขึ้นและลงลึกยิ่งขึ้นได้อย่างไร ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องคิดพิจารณากันต่อไป

       ในขั้นตอนต่อไปนั้น คือการร่วมกันเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของอาเซียนที่หลากหลาย เพื่อแสวงหาหนทางส่งเสริมภาษาจีนภายใต้บริบทของความแตกต่างและคล้ายคลึงทางด้านภาษาและวัฒนธรรม และสนับสนุนการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในระดับอาชีวศึกษา เน้นการสอนวิชาภาษาจีนควบคู่กับทักษะวิชาชีพ สร้างรากฐานด้านบุคลากรที่มั่นคงเพื่อรองรับ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”

       ภาษามีความต่างของชาติ แต่ไร้ซึ่งพรมแดน ในอนาคตด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีสารสนเทศ อาจเป็นไปได้ที่จะบูรณาการภาษาและวัฒนธรรมของอาเซียนในรูปแบบของ Big Data เพื่อให้การแพร่กระจายของภาษาจีนเป็นไปได้จริงมากขึ้น รวมถึงนำเสนอหลักสูตรการสอนภาษาจีนที่ปรับให้เข้ากับพฤติกรรมการใช้ภาษาของผู้คนในประเทศต่างๆ ของอาเซียน ทำให้กระแส ‘ภาษาจีนฟีเวอร์’ค่อยๆ เปลี่ยนจากความนิยมไปสู่การเห็นผลทางปฏิบัติ

Tags:
No items found.