Focus

EV จีนบุกไทย

12

January

2022

30

March

2021

        กระแสที่กำลังมาแรงในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปีนี้ คงต้องยกให้รถยนต์ไฟฟ้าและค่ายรถจากจีนที่กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างน่าจับตา

        ไม่เพียงแต่ในฐานะ ‘ผู้เล่นรายสำคัญ’ ในตลาด ซึ่งปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนได้สิทธิ์นำเข้ามาในราขอาณาจักรไทยโดยภาษีเหลือ 0 ภายใต้ FTA อาเซียน-จีน มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.2561  

        ในวันนี้ค่ายรถยนต์สัญชาติจีนยังมีบทบาทเป็น ‘พันธมิตรสำคัญ’ ที่ไทยต้องเร่งดึงดูดการเข้ามาลงทุนก่อนเสียโอกาสฐานการผลิตรถยนต์ของโลก ท่ามกลางความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และรถยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine : ICE) ไปสู่ยุคของยานยนต์ไฟฟ้า (EV : Electric Vehicle) ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์เทคโนโลยีพลังงานใหม่เพื่อลดปัญหามลพิษ  

MG ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ครองส่วนแบ่ง 90% ตลาดรถ BEV ในไทย  

        เมื่อกล่าวถึงรถยนต์ไฟฟ้า ค่ายรถสัญชาติจีนอย่าง SAIC Motor นับเป็นหนึ่งในผู้นำทางด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก สำหรับประเทศไทย SAIC Motor ได้จับมือกับพันธมิตรสำคัญอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ก่อตั้ง SAIC Motor-CP ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการผลิตและส่งออกรถยนต์พวงมาลัยขวาภายใต้แบรนด์ MG และถือเป็นผู้จุดประกายให้เกิดกระแสยานยนต์ไฟฟ้าในสังคมไทย ด้วยการเปิดตัว ‘MG ZS EV’ รถยนต์ไฟฟ้า 100% รุ่นแรกเมื่อกว่า 1 ปีที่ผ่านมาในราคา 1,190,000 บาท จนประสบความสำเร็จขึ้นแท่นเป็นผู้นำตลาดรถพลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ที่มียอดขายอันดับ 1 ครองส่วนแบ่งตลาดในไทยมากกว่า 90% ด้วยยอดขายสะสมมากกว่า 2,000 คัน

        ล่าสุด เมื่อปลายปีที่แล้ว MG ยังย้ำจุดยืนในการเป็นผู้นำตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกด้วยการเปิดตัว ‘NEW MG EP’ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% สไตล์ Station Wagon ด้วยราคาจำหน่ายเร้าใจที่ 988,000 บาท   

        นอกจากนี้ยังได้เดินหน้าสร้างระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยการลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในโชว์รูม MG 100 แห่งทั่วประเทศซึ่งเริ่มให้บริการเมื่อต้นปี และมีแผนจะขยายอีกกว่า 500 แห่งภายในปีนี้ พร้อมทั้งมีแผนที่จะนำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ รวมทั้งรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริดเข้ามาทำตลาดในไทยเพิ่มเติม พร้อมนำเสนอให้รัฐบาลช่วยผลักดันเรื่องสิทธิพิเศษด้านภาษี หรือการลงทุน รวมถึงการมอบสิทธิพิเศษให้กับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

Great Wall Motor พร้อมบุก EV ไทยเต็มกำลัง

        ‘Great Wall Motor’ (เกรท วอลล์ มอเตอร์) ชื่อนี้เริ่มคุ้นหูคนไทยมากขึ้น นับตั้งแต่ข่าวใหญ่การเข้าซื้อโรงงานที่ระยองต่อจาก ‘เจเนอรัล มอเตอร์ส’ หรือ GM ที่ถอนทัพจากไทยเมื่อปี 2563

        ล่าสุด Great Wall Motor หรือ GWM มังกรตัวใหม่ในตลาดยานยนต์ไทยเพิ่งจัดงาน “สวัสดีไทยแลนด์” เปิดตัวแบรนด์ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด ‘Experience Your New xEV World’ ที่ต้องการจะเปิดประสบการณ์การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในรูปลักษณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภคชาวไทย  

        หลังจากนั้นคณะผู้บริหารนำโดย เจียหมิง จาง ประธานบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ ภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย ยังได้เดินทางเข้าพบหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอบคุณรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนการลงทุนในประเทศไทย พร้อมชื่นชมศักยภาพของไทยด้านการผลิตยานยนต์ซึ่งตรงกับแนวทางของบริษัทฯ ที่เน้นการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยวางแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเฟสแรกที่จำนวน 80,000 คัน และมุ่งหวังจะดำเนินการลงทุนในไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิต และส่งออกรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียน

        ไทยเป็นหมุดหมายสำคัญในอาเซียนที่ Great Wall Motor ได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนล่าสุด โดยมีเป้าหมายให้ฐานการผลิตที่จังหวัดระยองเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์พวงมาลัยขวาไปยังตลาดต่างๆทั่วโลก โดยทุ่มเงินลงทุนไปแล้วกว่า 22,600 ล้านบาท มีกำลังการผลิตรวมในเฟสแรกอยู่ที่ 8 หมื่นคัน/ปี แบ่งเป็นส่งออก 40% และขายในประเทศ 60% ปัจจุบันโรงงานของบริษัทฯได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอบางส่วนตั้งแต่ปลายปี 2563 และขณะนี้อยู่ระหว่างขอรับการส่งเสริมการลงทุนในส่วนของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาสแรกของปีนี้

        ทั้งนี้ ทิศทางการดำเนินธุรกิจของ Great Wall Motor เพื่อปักธงในตลาดไทยจะเน้นไปที่ 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1. การเป็นผู้นำด้านรถพลังงานไฟฟ้า หรือ xEV Leader ภายใต้ Mission “9 in 3” ที่จะนำรถยนต์ 9 รุ่นเข้ามาทำการตลาดในประเทศไทยภายใน 3 ปี ซึ่งแทบทั้งหมดจะเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

        2. การรับฟังเสียงของผู้บริโภคมาเป็นกลยุทธ์เป็นหลักในการวางแผนธุรกิจ และ 3.การสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า ซึ่งประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในโลกที่ Great Wall Motor จะนำ New User Experience เข้ามาสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับผู้บริโภค เปลี่ยนรูปแบบการขายรถยนต์แบบเดิมๆ โดยประเดิมบุกตลาดไทยด้วยการส่งรถยอดนิยม 2 รุ่น คือ เอสยูวี ‘HAVAL H6’ รถยนต์เอสยูวีขุมพลังไฮบริดภายในครึ่งปีแรกนี้ซึ่งจะเป็นรุ่นแรกที่ประกอบในไทย

        ตามมาด้วยรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่‘ORA Good Cat’ ซึ่งจะนำเข้ามาจากจีนในช่วงครึ่งปีหลัง แม้จะยังไม่ได้มีการเปิดเผยถึงเรื่องราคา แต่คาดกันว่าน่าจะต่ำกว่า 1 ล้านบาท และยังมีอีก 2 รุ่นที่จะเปิดตัวในไทยปีนี้ แต่ยังไม่เปิดเผยชื่อรุ่น

        จากจุดแข็งความเป็นผู้นำด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของจีนซึ่งตลาดโลกให้การยอมรับในด้านเทคโนโลยี ประกอบกับการทำผลสำรวจก่อนหน้านี้กับนิด้าโพลซึ่งคนไทยกว่า 99%ที่ตอบแบบสอบถามมีความเห็นเชิงบวกกับรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน และกว่า77% ของผู้บริโภคชาวไทยสนใจในรถยนต์ไฟฟ้า จึงทำให้ Great Wall Motor มั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด โดยหลังจากนี้บริษัทยังมีแผนการสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าต้นแบบโดยการลงทุนของบริษัท และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นการร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อขยายความครอบคลุมสถานีชาร์จไฟฟ้ารองรับการขยายตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทยในอนาคต

เปิด ROAD MAP ไทยขับเคลื่อน EV

        อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ถือเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่มีศักยภาพและมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ โดยรัฐบาลไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ซึ่งในการประชุมครั้งที่ 1 ได้มีการเห็นชอบ ‘แผน 30@30’ ตั้งกำหนดเป้าหมายภายในปี  2030 ประเทศไทยจะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ในประเทศ โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ คือ

  • ระยะสั้น (2020-2022) จะมีการขับเคลื่อนรถราชการ รถบัสสาธารณะ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะและรถส่วนบุคคลอื่น ๆ ให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้า 60,000-110,000 คัน
  • ระยะกลาง (2021-2025)เร่งให้มีรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัด ECO EV และ Smart City Bus ประมาณ 250,000 คัน
  • ระยะยาว (2026-2030) จะมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 750,000 คัน

        นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการส่งเสริมสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ 2.63 บาทต่อหน่วย และตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะภายในรัศมี 50-70 กิโลเมตร เพื่อให้ครอบคลุมการเดินทางระยะไกล

        ล่าสุด บอร์ดบีโอไอยังได้เห็นชอบให้มีการส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานพาหนะไฟฟ้า (EV) รอบใหม่ ครอบคลุมการส่งเสริมยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสารและรถบรรทุก รวมถึงเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยในส่วนของการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าได้กำหนดเงื่อนไขเป็นกิจการที่มุ่งเน้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่(BEV) แต่ให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมควบคู่ไปด้วยกันได้  โดยกรณีที่มีขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาก็สามารถได้รับสิทธิเพิ่ม

        ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่า หลังจากการเข้ามาของค่ายรถยนต์จากจีน 2 ค่ายใหญ่ MG และ Great Wall Motor ที่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนโดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตแล้ว ทำให้อนาคตมีความเป็นไปได้ว่าจะมีค่ายรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากจีนอีกหลายค่ายให้ความสนใจและเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และน่าจะทำให้รถยนต์กลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

ตลาด EV ไทยเติบโตแค่ไหน?

        จากข้อมูลของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในปี 2563 ประเทศไทยมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าสะสม ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563 ทั้งสิ้น 181,236 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ไฮบริด หรือ HEV (Hybrid Electric Vehicle) / ปลั๊กอินไฮบริด หรือ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle)  จำนวน 179,034 คัน และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ หรือ BEV (Battery Electric Vehicle) 2,202 คัน

        สำหรับยอดรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 30,747 คัน แบ่งเป็นแบบ HEV/PHEV จำนวน 29,459 คัน และแบบ BEV 1,288 คัน นัยยะสำคัญของตัวเลขยอดจดทะเบียนรถใหม่นี้อยู่ที่การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าชนิด BEV ที่แม้จะยังไม่มากเมื่อเทียบกับยอดขายของรถทั่วไป แต่มีการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ เช่น MG ZS EV ที่มีราคาจับต้องได้

        จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2564 รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ รถยนต์กลุ่ม xEV ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มไฮบริด(HEV) และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด(PHEV) น่าจะมียอดขายประมาณ 48,000-50,000 คัน หรือขยายตัวกว่า 10-23% ถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2563 ที่คาดว่าจะขยายตัว 17% หรือคิดเป็นยอดขาย 31,000 คัน

        ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่(BEV) น่าจะมียอดขายประมาณ 4,000–5,000 คัน ขยายตัว 176-245% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2563 ที่คาดว่าจะขยายตัว 102% หรือ คิดเป็นยอดขาย 1,450 คัน ขณะที่ปริมาณการผลิตรถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศในปี 2564 น่าจะทำได้ 72,000-80,000 คัน ขยายตัวกว่า 60-78% จากที่คาดว่าจะผลิตประมาณ 45,000 คัน ในปี 2563

        ปัจจัยที่มีผลทำให้ตลาดรถยนต์กลุ่ม xEV เติบโต มาจากการเข้ามาแข่งขันของค่ายรถที่ทวีความดุเดือดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรถยนต์หลายรุ่นกลุ่ม xEV เริ่มเข้ามารุกตลาดกลุ่มราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเปิดตลาดสู่กลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ขึ้น

        ขณะที่หากมาตรการส่งเสริมใหม่ของบีโอไอสามารถดึงการลงทุนเข้ามาปี 2564 ได้มากและภาครัฐมีการออกมาตรการส่งเสริมตลาดเข้ามาเพิ่มเติมที่เน้นสนับสนุนรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ก็น่าจะช่วยให้ยอดขายปรับเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดได้ นอกจากนั้นแล้วหากไทยใช้จังหวะโอกาสนี้ทำตลาดรถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศให้เติบโตได้ดีจะช่วยเสริมแรงดึงดูดการลงทุนให้เข้ามาในประเทศได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยขึ้นเป็นฐานการผลิตรถยนต์ กลุ่ม xEV ของภูมิภาคได้ไม่ยาก

Tags: