Focus

“จีนปรับโมเดลใหม่เสริมแกร่งเศรษฐกิจภายใน..ลดพึ่งพาโลก แต่โลกต้องพึ่งพาจีน”

12

January

2022

22

April

2021

รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

        รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน กล่าวว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีน หรือที่เรียกกันว่า “แผน 5 ปี” ถือเป็นตัวกำหนดอนาคตของจีนว่าจะขับเคลื่อนไปในทิศทางไหน ล่าสุดจีนเพิ่งประกาศใช้“แผน 5 ปีฉบับที่ 14” (ปี 2021-2025) ซึ่งขอให้นิยามของแผนพัฒนาฯฉบับใหม่นี้ว่าเป็น “แผนความมั่นคงทางเศรษฐกิจ”

        ในแผนนี้จีนจะไม่เน้นเติบโตทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจ แต่เน้นความมั่นคงโดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (Economic Security) ใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ ความมั่นคงด้านเทคโนโลยี ความมั่นคงด้านอาหาร และความมั่นคงด้านสาธารณสุข

จีนจะกุมอนาคตโลกด้วยเทคโนโลยี

        รศ.ดร.อักษรศรี วิเคราะห์ว่า บทเรียนจากวิกฤตโควิด-19 และเหตุการณ์ความขัดแย้งจากสงครามการค้ากับสหรัฐและเหตุการณ์อื่นๆที่เป็นแรงกดดันจากต่างประเทศ ทำให้จีนหันมากำหนดยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่มุ่งเน้นความมั่นคง เสริมแกร่งเศรษฐกิจภายในให้เข้มแข็ง ยืนบนขาตัวเองมากขึ้น เลิกยืมจมูกต่างชาติหายใจโดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี

        “ ในอดีตที่ผ่านมา จีนจะถนัดในการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศเพื่อมาปรับประยุกต์/ต่อยอด ทำให้จีนไม่ได้เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐาน (basic research) มากนัก ทำให้ต้องพึ่งเทคโนโลยีพื้นฐานจากต่างประเทศจนเกิดความเสี่ยงจากการถูกดันจากต่างชาติ เช่น กรณีเซมิคอนดักเตอร์ เป็นบทเรียนทำให้จีนหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีพื้นฐานมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นจีนยังได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานเทคโนโลยีของโลก ด้วยการประกาศ “China Standards 2035” สำหรับเทคโนโลยียุคใหม่แห่งโลกอนาคตอีกด้วย”

        ในด้านความมั่นคงด้านเทคโนโลยี ภายใต้แผน 5 ปีฉบับใหม่ นอกจากการทุ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7% ต่อปีแล้ว จีนยังประกาศชัดเจนที่จะเน้นพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐานใน 7 ด้านสำคัญ ดังนี้

  1. เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ยุคใหม่ Next-Generation Artificial Intelligence
  2. สารสนเทศเชิงควอนตัม Quantum Information
  3. ศาสตร์ด้าน Brain Science
  4. สารกึ่งตัวนำ Semiconductors
  5. พันธุศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ Genetic Research and Biotechnology
  6. การสาธารณสุขและเวชศาสตร์คลินิก Clinical Medicine and Health
  7. เทคโนโลยีด้านอวกาศห้วงลึก Deep Space มหาสมุทรห้วงลึก Deep Sea และการสำรวจขั้วโลก Polar Exploration

        “ เทคโนโลยีพื้นฐานที่จีนทุ่มพัฒนาเหล่านี้ ล้วนเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ หากจีนทำได้สำเร็จยังจะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของจีนในการผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนโลก และกุมอนาคตของโลกด้วย”

‘Dual Circulation’ โมเดลเสริมแกร่งจีน

        บทเรียนจากโรคอุบัติใหม่ที่ไม่คาดคิดอย่างโรคโควิด-19 ยังส่งผลให้จีนหันมาให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านสาธารณสุข (Health Security) เช่นเดียวกับความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) ซึ่งจีนมีนโยบายที่จะขยายพื้นที่ทางเกษตร ผลิตอาหารด้วยตัวเองมากขึ้น แม้บางอย่างอาจจะมีต้นทุนการผลิตเองสูงกว่าการนำเข้า ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าคนจีนทั้งประเทศ 1,400 ล้านคนจะมีอาหารเพียงพอ ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้น จีนจะยืนอยู่บนขาตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ โดยทิศทางการขับเคลื่อนของจีนได้มีการกำหนดโมเดลการพัฒนาแบบ “เศรษฐกิจวงจรคู่” หรือ “Dual Circulation”  คือการขับเคลื่อนประเทศโดยเน้นความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในประเทศ (Internal Circulation) เป็นแกนหลัก ควบคู่ไปกับพลังการหมุนเวียนจากเศรษฐกิจภายนอกประเทศ (External Circulation)

        “ วิกฤตโควิดและแรงกดดันจากภายนอกประเทศ ทำให้จีนต้องหันมาทบทวนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่จะต้องเน้นความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทั้งการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยี และทำให้เศรษฐกิจภายในมีความแข็งแกร่ง เพิ่มเงินในกระเป๋าทำให้คนจีนมีรายได้มากขึ้น สร้างพลังบริโภคระลอกใหม่จากจำนวนผู้บริโภคชนชั้นกลางยุคใหม่ที่เพิ่มขึ้นเป็น 600 ล้านคน ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจีนจะไม่คบค้ากับต่างประเทศ ในทางตรงกันข้ามจีนจะยังยกระดับการเปิดประเทศเพื่อเชื่อมโยงกับโลกภายนอกมากขึ้น จากบทบาทประเทศผู้ส่งออกมาเป็นประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ เพราะเมื่อเศรษฐกิจจีนแข็งแกร่งจากภายใน ด้วยพลังของผู้บริโภคจีนที่มหาศาลจะเป็นแรงดึงดูดให้โลกต้องพึ่งพาจีนมากขึ้น ตัวอย่างเช่นการท่องเที่ยวของไทยที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวจีนปีละนับสิบล้านคน นี่คือภาวะที่ไทยพึ่งพาจีน ”

        จากทิศทางดังกล่าว จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าไทยจะปรับตัวอย่างไรเพื่อพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อแปลงยุทธศาสตร์จีนให้เป็นโอกาสในการเติบโตอย่างรู้เท่าทัน ควบคู่กับการกระจายความเสี่ยง สร้างสมดุลทางเศรษฐกิจโดยไม่พึ่งพาจีนมากเกินไปจนเป็นความเสี่ยง

        “ พัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของจีนย่อมจะสร้างความกดดันกับประเทศคู่แข่งหรือผู้ผลิตในต่างประเทศ รวมทั้งภาคเอกชนไทย ทั้งนี้ ไม่ควรกังวลจนเกินไป แต่ควรใช้เป็นแรงผลักดันให้เราต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมอย่างจริงจัง เพื่อแสวงหาโอกาสจากโมเดลใหม่ของจีน โดยเฉพาะศักยภาพของผู้บริโภคจีนที่มีกำลังซื้อ เช่น การหันมาเน้นการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยหันมาเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนในระดับพรีเมียมที่มีรายได้สูงซึ่งมีความต้องการท่องเที่ยวพักผ่อนเชิงสุขภาพ หรือ Wellness Tourism, การพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องของชาวจีนในกลุ่มสูงวัยที่มีกำลังซื้อที่เรียกว่า Silver Economy เป็นต้น

        นอกจากนี้ ยังมีโอกาสใหม่ๆในด้านพลังงานสะอาดซึ่งเป็นทิศทางที่จีนให้ความสำคัญ และสอดคล้องกับไทยที่มีวาระแห่งชาติในเรื่อง BCG model มุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว/เศรษฐกิจชีวภาพ/เศรษฐกิจหมุนเวียน ดังนั้น ถ้าเราเชื่อมโยงกับจีนดีๆยังมีอีกหลายจุดที่ไทยมีศักยภาพที่จะแปลงยุทธศาสตร์ของจีนให้เป็นโอกาสเพื่อผลประโยชน์สูงสุดร่วมกัน” รศ.ดร.อักษรศรี กล่าวในท้ายที่สุด

Tags: