Focus

สินค้าไทยอะไรเสี่ยงบ้าง? เมื่อจีนชูยุทธศาสตร์ Dual Circulation ลดการนำเข้า

12

January

2022

13

January

2021

        ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบวงจรคู่ขนาน หรือ Dual Circulation Strategy ของจีนกำลังได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง และเป็นนโยบายสำคัญที่กำหนดทิศทางการพัฒนาของจีนในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 5 ปี (ปี 2021-2025) ซึ่งคาดว่าจะเผยแพร่ในเดือนมี.ค.นี้  

        ล่าสุด สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้วิเคราะห์ถึง “ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบวงจรคู่ขนานของจีนและนัยยะต่อการค้ากับไทย” ไว้อย่างน่าสนใจ

ยุทธศาสตร์ Dual Circulation คืออะไร?

        ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบวงจรคู่ขนาน หรือ Dual Circulation Strategy เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ของจีนที่หันมาพึ่ง“การหมุนเวียนภายใน” สร้างตลาดภายในประเทศให้แข็งแกร่ง ขณะเดียวกันยังคงเปิดกว้างเชื่อมโยงกับตลาดโลกซึ่งเป็น “การหมุนเวียนภายนอก” เพื่อสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจของประเทศ

        จากผลกระทบในช่วงที่ผ่านมาของสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้หลายประเทศพยายามลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจีน ทำให้จีนเล็งเห็นถึงความเสี่ยงของการพึ่งพาภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทิศทางข้างหน้าของจีนจึงมุ่งเดินหน้าขยายตลาดในประเทศจากเดิมที่เน้นผลิตเพื่อส่งออก  รวมทั้งลดการพึ่งพาการนำเข้าและหันมาผลิตเองมากขึ้น ซึ่งจากจำนวนที่มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน ทำให้การบริโภคภายในประเทศสามารถเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนสำหรับจีนได้

3 สินค้าหลักที่จีนมุ่งลดพึ่งพาการนำเข้า

พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

        พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ให้ข้อมูลว่า จากการศึกษาวิเคราะห์ของ Economist Intelligence Unit (EIU) พบว่ามี 3 อุตสาหกรรมที่จีนมีความเสี่ยงสูงจากการพึ่งพาการนำเข้า และมีแนวโน้มที่จีนจะมุ่งลดการพึ่งพาการนำเข้าในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ได้แก่

        1) อุตสาหกรรมเทคโนโลยี : มีสินค้าสำคัญที่จีนต้องการพึ่งพาตนเอง ได้แก่ สารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) และวงจรรวม (Integrated Circuit/IC) โดยเฉพาะวงจรรวมหรือไอซี เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเป็นสินค้าที่จีนนำเข้ามากที่สุด (ปี 2562 จีนนำเข้าสินค้าไอซีเป็นมูลค่ากว่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 ของการนำเข้าทั้งหมดของจีน)

        รัฐบาลจีนมีนโยบายส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสินค้าไอซี แต่ก็ยังยากในการก้าวทันคู่แข่ง (เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ สหรัฐฯ) ที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบและการผลิตที่ซับซ้อนกว่ารวมถึงที่ใช้สำหรับอุปกรณ์ 5G และ 6G ซึ่งหากจีนจะพัฒนาการผลิตให้ก้าวหน้าโดยเร็ว ก็อาจทำได้โดยการควบรวมกิจการ (M&A) แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนของจีนโดยเฉพาะในธุรกิจเทคโนโลยีมักถูกเพ่งเล็งโดยประเทศเจ้าบ้านที่จีนเข้าไปลงทุน นอกจากไอซีแล้ว คาดว่าจีนจะใช้ซอฟต์แวร์และบริการสารสนเทศของตนเองมากขึ้น เนื่องจากมีประเด็นความปลอดภัยของข้อมูล (Data Security)

        2) อุตสาหกรรมพลังงาน : จีนเป็นผู้นำเข้าพลังงานรายใหญ่ของโลก ในปี 2562 จีนนำเข้าน้ำมันดิบเป็นมูลค่า 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าก๊าซเป็นมูลค่ามากกว่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

        น้ำมันและก๊าซที่จีนบริโภคมาจากการนำเข้าร้อยละ 85 และ 40 ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่นำเข้าน้ำมันจากซาอุดีอาระเบีย และรัสเซีย และนำเข้าก๊าซจากเติร์กเมนิสถาน แต่ก็มีความเสี่ยงที่การขนส่งเกิดหยุดชะงัก รวมถึงการขนส่งผ่านทะเลจีนใต้ที่มีความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

        ดังนั้น จีนจึงมุ่งผลิตพลังงานเองในประเทศโดยใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันพลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของการบริโภคพลังงานของจีน สำหรับในบรรดาพลังงานหมุนเวียน คาดว่าจีนให้ความสำคัญกับพลังงานลมและพลังงานนิวเคลียร์เป็นลำดับแรก และอนาคตคาดว่าจะลงทุนเพิ่มเพื่อผลิตพลังงานลมในทะเล และจะใช้เทคโนโลยีในประเทศด้านพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

        3) อุตสาหกรรมอาหาร : อุตสาหกรรมอาหารของจีนได้รับผลกระทบรุนแรง (Shocks) หลายครั้ง เช่น การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรทำให้ขาดแคลนสุกรสำหรับบริโภค

        นอกจากนี้ การที่จีนเข้าสู่สังคมเมืองและสังคมสูงวัย จึงขาดแคลนแรงงานในชนบท ปัจจุบันในส่วนของสินค้าเกษตร จีนพึ่งพาเพียงการนำเข้าถั่วเหลือง โดยมีบราซิล และสหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าสำคัญ

        ทั้งนี้ สถาบันสังคมศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (The Chinese Academy of Social Sciences: CASS) คาดการณ์ว่าในปี 2025 จีนจะขาดแคลนผลผลิตข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าว รวม 25 ล้านตัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและความมั่นคงทางสังคม ซึ่งจีนได้พยายามนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาการปฏิรูปที่ดินในชนบททำให้จีนยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้า

ความเสี่ยงและผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทย

        ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาแบบวงจรคู่ขนานของจีนเป็นการใช้วงจรภายในประเทศ (Domestic Circulation) และวงจรระหว่างประเทศ (International Circulation) เสริมกำลังกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้า เพื่อเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิดเนื่องจากมีนัยยะต่อการค้ากับไทย เช่น สินค้าไอซีเป็นสินค้าที่จีนนำเข้าจากไทยสูง (ปี 2562 จีนนำเข้าไอซีจากไทย เป็นมูลค่า 3,874 ล้านเหรียญสหรัฐ) หากจีนหันมาผลิตเองมากขึ้น ย่อมมีความเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยในอนาคต

        สำหรับการที่จีนมุ่งสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน พบว่าจีนนำเข้าเครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบของเครื่องกังหันไอพ่นมากกว่ากังหันชนิดอื่นๆ และนำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (ปี 2562 จีนนำเข้ากังหันไอพ่น และส่วนประกอบเครื่องกังหันไอพ่นจากโลก เป็นมูลค่า 3,466 และ 3,634 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ) ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศพัฒนาแล้ว

        อย่างไรก็ตาม มองว่าไทยยังสามารถพัฒนาศักยภาพการผลิต โดยเฉพาะส่วนประกอบเครื่องกังหันไอพ่น โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุนและวิจัยพัฒนานวัตกรรม ซึ่งสินค้าดังกล่าวนี้เป็นที่ต้องการของทั้งตลาดโลกและตลาดจีน

        ในส่วนของสินค้าอาหารส่งออกของไทย แม้จีนจะพยายามลดการพึ่งพาการนำเข้า แต่น่าจะเน้นลดการนำเข้าในสินค้าอาหารหลัก (Staple Food) เช่น ข้าว อย่างไรก็ตาม หน่วยงาน CASS คาดการณ์ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจีนจะขาดแคลนผลผลิตข้าว จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทย

        สำหรับอาหารอื่นๆ ที่ไทยส่งออกไปจีน เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งแช่แข็ง อาหารปรุงแต่ง ก็ยังมีโอกาสทางการตลาดอยู่มาก ประกอบกับการที่จีนเข้าสู่สังคมเมืองทำให้คนมีรายได้มากขึ้น รวมทั้งการเป็นสังคมสูงวัย ส่งผลต่อไลฟ์สไตล์การบริโภคอาหารที่ต้องการอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวัน

        โดยสรุปยุทธศาสตร์ Dual Circulation ของจีน จึงมีนัยยะสำคัญทั้งในด้านความเสี่ยงและโอกาสสำหรับสินค้าส่งออกของไทย ซึ่งยังคงต้องเกาะติดทิศทางความเคลื่อนไหวของ“พญามังกร”ต่อไปอย่างใกล้ชิด

Tags: