Focus

'ทางรถไฟจีน-ลาว' ขนส่งสินค้าทะลุ 203 ขบวน คาดจีนเปิดนำเข้าผลไม้ไทยต้นปี 65

3

February

2022

24

December

2021

        หลังจากรถไฟจีน-ลาวเชื่อมคุนหมิง-เวียงจันทน์ เริ่มเปิดเดินรถอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจากหลากหลายพื้นที่ของจีน อาทิ เซินเจิ้น กว่างโจว ฉงชิ่ง อี้อู หนานจิง ฯลฯ ต่างเปิดหวูดมุ่งหน้าขนส่งสินค้าเข้าจีนตอนใต้ รวมถึงกระจายสินค้าเข้าไทยและอาเซียน ผ่านเส้นทางรถไฟระหว่างสายใหม่อย่างต่อเนื่อง

รถไฟจีน-ลาวขนอะไรมาขายแล้วบ้าง?

        “ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน www.thaibizchina.com” รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2564 เวลา 17.00 น. รถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศซึ่งบรรทุกวัตถุดิบอาหารสัตว์ไดแคลเซียมฟอสเฟส จำนวน 50 ตู้ TEU เดินทางออกจากสถานีคุนหมิงไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ โดยเดินทางถึงสถานีเวียงจันทน์ใต้เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2564 เวลา 23.11 น. รวมระยะเวลาการขนส่งประมาณ 30 ชั่วโมง เร็วกว่าการขนส่งโดยรถบรรทุกที่ใช้เวลาประมาณ 48 ชั่วโมง ช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้ถึงร้อยละ 40

        นอกจากนี้ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 4 ธ.ค. รถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจีน-ลาว ซึ่งบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นจำนวน 33 ตู้ บรรจุสินค้าผักสดของมณฑลยูนนาน เดินทางออกจากท่าบกนานาชาติเถิงจวิ้น (Tengjun International Land Port) อำเภอจิ้นหนิง นครคุนหมิง ไปถึงยังนครหลวงเวียงจันทน์ในวันที่ 5 ธ.ค. โดยผักสดบางส่วนได้ถูกส่งต่อไปยังประเทศไทยด้วย นับเป็นการส่งออกสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ (cold-chain logistics) ครั้งแรกของมณฑลยูนนานผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

        ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ภายหลังการเดินรถไฟขนส่งผู้โดยสารเที่ยวแรกของลาว รถไฟขนส่งสินค้าเที่ยวแรกจากลาวมายังจีน ซึ่งบรรทุกยางพารามูลค่ารวม 10 ล้านหยวน ก็ได้เดินทางออกจากสถานีเวียงจันทน์ใต้ ผ่านเข้าจีนที่ด่านรถไฟโม่ฮานเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. เวลา 13.01 น. และเดินทางถึงสถานีรถไฟขนส่งสินค้าหวังเจียหยิง นครคุนหมิง เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. เวลา 22.55 น.

        นอกจากขบวนรถไฟขนส่งสินค้าคุนหมิง-เวียงจันทน์แล้ว ยังมีขบวนขนส่งสินค้าจากมณฑลต่างๆทั่วจีนที่ต่างมุ่งหน้าขนส่งสินค้ามายังเวียงจันทน์ ผ่านเส้นทางรถไฟสายใหม่กันอย่างคึกคัก

        3 ธ.ค.2564 นครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง จัดพิธีปล่อยรถไฟขนส่งสินค้ากว่างโจว-เวียงจันทน์ขบวนแรก ซึ่งบรรทุกสินค้า ได้แก่ วัสดุโซลาร์เซลล์ ของใช้ในชีวิตประจำวัน อุปกรณ์เครื่องจักรกล เป็นต้น จำนวน 72 ตู้ TEU น้ำหนักรวม 608 ตัน มูลค่า 15 ล้านหยวน เดินทางไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ โดยผ่านคุนหมิง ใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน จากเดิมที่การขนส่งทางเรือต้องใช้เวลา 9-12 วัน

        4 ธ.ค. นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน และนครฉงชิ่ง ได้จัดพิธีปล่อยรถไฟขนส่งสินค้าเฉิงตู/ฉงชิ่ง-เวียงจันทน์ขบวนแรก บรรทุกสินค้า ได้แก่ รถบรรทุกน้ำหนักเบาจากนครเฉิงตู รวมถึงลูกนัต อะไหล่รถจักรยานยนต์ และสารเคมี จากนครฉงชิ่ง ผ่านคุนหมิงไปยังเวียงจันทน์ โดยใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน จากเดิมที่การขนส่งทางบกหรือทางเรือต้องใช้เวลาราว 30 วัน

        14 ธ.ค. เมืองอี้อู มณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีน เปิดเดินรถไฟสินค้าระหว่างประเทศจีน-ลาว โดยรถไฟขบวนแรกซึ่งบรรทุกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนเครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ปุ๋ยโปแตส และสินค้าอื่นๆ รวม 70 ตู้คอนเทนเนอร์ ได้ออกเดินทางจากสถานีรถไฟตะวันตกเมืองอี้อู มณฑลเจ้อเจียง สู่ปลายทางนครหลวงเวียงจันทน์ นับเป็นขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศขบวนแรกของการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟอี้อู-ซินเจียง-ยุโรปกับเส้นทางจีน-ลาว และเป็นช่องทางใหม่ของการค้าระหว่างจีนกับอาเซียน โดยใช้เวลาเดินทาง 4 วัน ทั้งนี้ สถานีวิทยุ CRI ของจีน รายงานว่า ในอนาคต หลังทางรถไฟจีน-ลาวเชื่อมต่อกับทางรถไฟสายอาเซียนแล้ว ขบวนรถไฟอี้อู-ซินเจียง-ยุโรปก็จะให้บริการไปถึงไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เสริมกำลังพัฒนาของเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน โดยจะเชื่อมต่อกับท่าเรือแหลมฉบังของไทย เมืองท่าเรือย่างกุ้งของพม่า และท่าเรือริมฝั่งทะเลอื่นๆ จนขยายขอบเขตบริการไปยังภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย

        ปรากฏการณ์ข้างต้นนับเป็นสิ่งที่สะท้อนว่า แม้เส้นทางรถไฟจีน-ลาวจะมีต้นทางจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน แต่เนื่องจากเครือข่ายเส้นทางรถไฟของจีนที่เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์ จึงทำให้เส้นทางรถไฟจีน-ลาวไม่เพียงเป็นโอกาสของมณฑลยูนนานเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนประตูบานใหม่ที่เชื่อมโอกาสทางการค้าระหว่างมณฑลอื่นๆของจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

“ เส้นทางรถไฟจีน-ลาวไม่เพียงเป็นโอกาสของมณฑลยูนนาน แต่ยังเป็นเหมือนประตูบานใหม่ที่เชื่อมโอกาสทางการค้าระหว่างมณฑลอื่นๆของจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

        ล่าสุด สำนักข่าวซินหัว รายงานข้อมูลที่เปิดเผยโดยการรถไฟแห่งประเทศจีนสาขานครคุนหมิง ว่า เมื่อนับถึงวันที่ 21 ธ.ค.2564 ทางรถไฟจีน-ลาว รองรับรถไฟขนส่งสินค้าแล้ว 203 ขบวน ในจำนวนนี้เป็นรถไฟขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน 47 ขบวน   โดยมีการขนส่งสินค้าแล้วกว่า 50,000 ตัน แบ่งเป็น ทางรถไฟส่วนที่อยู่ในจีนกว่า 28,000 ตัน และทางรถไฟส่วนที่อยู่ในลาวกว่า 22,000 ตัน โดยสินค้าโภคภัณฑ์ส่งออกสำคัญของจีนที่ขนส่งผ่านทางรถไฟจีน-ลาว ได้แก่ ผัก ผลไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์เครื่องจักรกลและเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญของจีน ได้แก่ ยางธรรมชาติ

คาดจีนเปิดนำเข้าผลไม้ไทยต้นปี 65

        ด้าน อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เส้นทางรถไฟระหว่างนครคุนหมิง-เวียงจันทน์ (สปป.ลาว) เป็นอีกหนึ่งโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศจีน ซึ่งได้รับรายงานว่าจีนอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมของจุดตรวจสอบกักกันผลไม้นำเข้า คาดว่าจะสามารถเปิดนำเข้าผลไม้ไทยได้ในต้นปี 2565  

        ส่วนกรณีมีข่าวว่ามีผลไม้จีนทะลักเข้าไทยผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว นั้น ไม่เป็นความจริง ด่านตรวจพืชหนองคายยังไม่มีการอนุญาตให้นำเข้าผลไม้จากจีน แม้แต่ตู้เดียว ทั้งนี้ หลังจากที่เส้นทางรถไฟดังกล่าวเปิดบริการเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา จีนได้มีการทดลองขนส่งผักมาไทย จำนวน 33 ตู้ นอกจากนี้ จะมีไม้ตัดดอกเข้ามาอีก 2 ตู้ในวันที่ 15 ธ.ค. และผักอีก 26 ตู้ในวันที่ 18 ธ.ค. ซึ่งยังเป็นปริมาณที่น้อยมาก ส่วนใหญ่มาจากการเปลี่ยนการขนส่งจากรถเทรลเลอร์บนเส้นทางR3A มาเป็นรถไฟ เพราะด่านโม่ฮานของจีนติดขัดแออัดอย่างหนักเพราะมาตรการป้องกันโควิด

        “ในส่วนกระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมความพร้อมล่วงหน้ามากว่า 1 ปี และเมื่อมีการทดลองขนส่งล็อตแรกของจีนมาไทยได้สำเร็จในวันที่ 3 ธ.ค. ท่านรัฐมนตรีเกษตรฯ ได้มอบหมายให้ผมประชุมกับสมาคมและสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทย และให้ติดต่อกับบริษัทจีนเพื่อร่วมมือในการส่งออกสินค้าเกษตรของเราโดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ที่บริษัทดังกล่าวขนสินค้าจีนมาไทย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งของทั้ง 2 ฝ่ายเพราะเป็นการขนส่งทั้งขาไปและขากลับ ถ้าเขามา 100 ตู้ก็ขนสินค้าเกษตรของเรากลับไป 100 ตู้เช่นกัน เรียกว่า Win-Win ทั้ง 2 ฝ่าย ช่วงนี้ยังไม่คล่องตัวนักเนื่องจากเพิ่งเริ่มเปิดบริการ ต้องพร้อมทั้งฝ่ายเขาฝ่ายเรา

        สำหรับสินค้าเกษตรอื่นๆ อยู่ระหว่างเตรียมการส่งออกได้แก่กล้วยไม้และยางพาราบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสมาคมผู้ผลิตและส่งออกกล้วยไม้เพื่อให้สามารถส่งออกโดยใช้เส้นทางดังกล่าว รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตรอื่นๆ ด้วย เท่าที่ทราบจีนจะพร้อมหลังตรุษจีนปี 2565”ที่ปรึกษารมว.เกษตรกล่าว

Tags: