Focus

จับตาปฏิรูประบบเลือกตั้งฮ่องกง เมื่อ‘พญามังกร’เดินหมากสยบ‘ฮ่องกง’สงบ..เพื่อเสถียรภาพและความมั่นคง

13

December

2021

24

March

2021

รัฐบาลจีนเดินเกมรุกปฏิรูประบบเลือกตั้งฮ่องกง ตอกย้ำเสถียรภาพ “หนึ่งประเทศ สองระบบ”  

        ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) หรือ “ฉวนกั๋วเหรินต้า” ชุดที่ 13 ครั้งที่ 4 ที่ผ่านมา หนึ่งในประเด็นที่ได้รับการจับตามองอย่างยิ่งจากทั่วโลกหนีไม่พ้นการเห็นชอบปฏิรูประบบการเลือกตั้งของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ”โดยยึดหลักการ ‘คนรักชาติ’ ต้องเป็นคนบริหารฮ่องกง

        ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารเขตฮ่องกง และสภานิติบัญญัติฮ่องกง คนที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลจีน ซึ่งจะมีกระบวนการและกรรมการที่เป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติ โดยการปฏิรูประบบการเลือกตั้งฮ่องกงดังกล่าวจะมีการปรับเพิ่มสัดส่วนของสมาชิกคณะกรรมการสรรหาผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้ ประกอบไปด้วยกลุ่มบุคคลจากสาขาอาชีพต่างๆ ภาคธุรกิจการค้า แรงงาน โดยเพิ่มจาก 1,200 คนเป็น 1,500 คน และเพิ่มจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติของฮ่องกง (LegCo) จาก 70 เป็น 90 ที่นั่ง

        นอกจากนี้ คณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแน่งผู้บริหารสูงสุดจะมีสิทธิแต่งตั้งสมาชิก LegCo มากถึง 1 ใน 3  ซึ่งถือเป็นการ “ตอกตะปูปิดฝาโลง” ไม่ให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนประชาธิปไตยและต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์เข้ามามีส่วนร่วมในแวดวงการเมืองของฮ่องกง

        มติดังกล่าวนับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของรัฐบาลจีนในการปรับปรุงระบบกฎหมายและการเมืองของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง นับตั้งแต่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมิ.ย.2563

        ถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าจีนจะไม่ยอมให้เกิดความขัดแย้งภายในฮ่องกงอีกต่อไป ทั้งนี้เพื่อยุติปัญหาความวุ่นวายจากการชุมนุมประท้วง การจลาจล และความปั่นป่วนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลต่อการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพในระยะยาวของฮ่องกง

ตอกตะปูสยบฮ่องกง..คืนสู่เสถียรภาพ

        ในมุมมอง ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร เลขาธิการหอการค้าไทยในจีน และอดีตอัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงปักกิ่ง  มองว่า การที่จีนรุกคืบเข้ามาปรับปรุงกฎหมายเลือกตั้งฮ่องกงครั้งนี้ ถือเป็นการ “ตอกตะปูจั่วสุดท้าย” ปิดฝาโลงกลุ่มฝ่ายค้านที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล เพราะสิ่งสำคัญที่ทางการจีนต้องการมากที่สุด คือ “เสถียรภาพ และความมั่นคง” ดังนั้น จีนจึงต้องใช้ทุกวิธีทางในการยุติปัญหาความไม่สงบจากการประท้วง เพราะเชื่อว่าความสงบ จะนำไปสู่ความเชื่อมั่นและขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคม ให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร เลขาธิการหอการค้าไทยในจีน และอดีตอัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงปักกิ่ง

        “ถ้าการเมืองไม่นิ่งไม่ต้องไปหวังเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ความวุ่นวายของการประท้วงผสมโรงกับโควิด ส่งผลทำให้ทุนบางส่วนย้ายออก เพราะไม่เชื่อมั่นในอนาคตที่ไม่แน่นอนของฮ่องกง แต่หากทุกอย่างกลับสู่ความสงบ เชื่อว่าฮ่องกงจะค่อยๆ ฟื้นตัว ตั้งแต่การท่องเที่ยว การลงทุน และการค้า เพราะฮ่องกง ยังมีความเป็นศูนย์กลางทางการกระจายสินค้าและการขนส่ง (Logistics)และการเงินที่เข้มแข็ง ซึ่งใช้เวลาพัฒนามายาวนานจึงยังมีระบบเสรีทางการเงิน ดึงดูดเงินทุนเข้ามาทำธุรกรรมในเกาะฮ่องกง ”

        ฮ่องกงยังมีความสำคัญสำหรับจีน เป็นศูนย์กลางการเงิน และโลจิสติกส์ แม้จะตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสิ่นเจิ้น ไห่หนาน รวมถึงพื้นที่อื่นๆ   แต่เป็นบริบทการพัฒนาที่ต่างกัน ไม่มีพื้นที่ไหนแทนที่กันได้ ทุกเขตการปกครองเปรียบเสมือนเป็นนิ้วมือทั้ง 10 นิ้ว ทุกนิ้วมีความสำคัญเท่ากัน ไม่อาจจะตัดขาดนิ้วไหนออกได้

        นอกจากนี้ ฮ่องกงยังเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในการเป็นต้นทางของการพัฒนาประเทศอย่างบูรณาการ ในฐานะเป็นสะพานการค้าที่เชื่อมจีนแผ่นดินใหญ่สู่โลกภายนอก โดยใช้ระบบฐานการเงิน และโลจิสติกส์ที่เป็นระบบสากลทั่วโลกยอมรับความสะดวก และความเข้มแข็ง

        นี่คือเส้นทางการพัฒนาที่เริ่มต้นจาก ในปี 1978 มีการปฏิรูปเศรษฐกิจนำไปสู่การเปิดประเทศ 42 ปีก่อน โดยอดีตผู้นำ “ประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยวผิง” ผู้พลิกโฉมประเทศด้วยการกล้าเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติพลิกโฉมประเทศที่เคยยากจนในอดีต พัฒนาจนกลายเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ จนสามารถเอาชนะความยากจนได้เป็นผลสำเร็จในปี 2020 และได้รับการยกย่องจากองค์การสหประชาชาติในการช่วยทำให้ประชากรสัดส่วน  3 ใน 4 หรือ 800 ล้านคนใน 1,400 ล้านคน สามารถหลุดพ้นเส้นความยากจน โดยมีคนหลุดพ้นจากความยากจนเฉลี่ย 20 ล้านคนต่อปี

        เมื่อย้อนมากลับมามองประเทศไทยที่กำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งการยกระดับประเทศให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวมถึงโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นที่ต้องปรับเปลี่ยนไปสู่ประเทศไทย 4.0 เมื่อผสมโรงกับปัญหาการเมืองที่ไม่นิ่ง จึงทำให้เศรษฐกิจไทยเจ็บหนัก เหมือนเจอหมัดน็อกซ้ำ

        สิ่งที่คนไทยทุกคนต้องทำเพื่อปลดล็อกปัญหาร่วมกันเพื่อผลประโยชน์ของชาติ เดินหน้าอย่างมีเสถียรภาพ แล้วเศรษฐกิจจะฟื้น ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องเปิดใจพูดคุย ไม่เช่นนั้นทั้งประเทศจะติดกับดักปัญหา

        “ยิ่งปล่อยไปนานวันความมั่งคั่งของประเทศจะหายไปเรื่อยๆ ธุรกิจภายในประเทศเริ่มฝ่อลง กำลังซื้อเริ่มหดหาย คนไม่อยากมาค้าขายเพราะไม่เชื่อมั่นอนาคตประเทศ ทุนก็มีการย้ายฐานออก การส่งออกก็แย่ลง ภาพน่ากลัวจะค่อยๆ เกิดขึ้นหากไม่มีการร่วมมือ”  

        ผู้นำและประชาชนคนไทยควรต้องเรียนรู้ และเรียนหาทางลัด โมเดลความสำเร็จของการสร้างชาติของจีนนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศ หัวใจสำคัญคือการมีคนคิดเก่ง พร้อมกันกับทำเก่ง

        “การครบรอบ 100 ปี ของการก่อสตั้งพรรคคอมมิวนิสต์อยู่ในรัฐบาล จนพัฒนามาถึงจุดความสำเร็จได้ สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง มุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศจีนให้ยิ่งใหญ่ จึงขออวยพรให้พรรคเติบใหญ่ยิ่งขึ้นไปเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาจีนสู่ยุคของความเรืองรอง ทำให้จีนก้าวสู่ความเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2025 ตามเป้าหมาย และก้าวไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความมั่งคั่งเต็มตัวตามแผนการพัฒนาปี 2049 จะบรรลุการสร้างชาติสังคมนิยมสมัยใหม่ (Modern Socialist China)”

ยึดมั่นในหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” เพื่อเสถียรภาพและความมั่นคง

        ด้านมุมมองจาก รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การที่จีนก้าวเข้าไปมีบทบาทในการปรับปรุงระบบการเลือกตั้งของฮ่องกง เพราะมีเป้าหมายชัดเจนว่าท้ายที่สุดแล้วฮ่องกงต้องกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของจีน

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

        ทางการจีนมีเป้าหมายในการสร้างชาติ รวมเกาะที่เป็นอาณานิคม เป็นส่วนหนึ่งของจีน ตั้งแต่ปี 1982 แม้จะอยู่ภายใต้ “หนึ่งประเทศสองระบบ” ตามข้อตกลงกับอังกฤษ แต่ชัดเจนว่าปลายทางที่สุดแล้ว ฮ่องกงก็ต้องกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีนโดยสมบูรณ์ภายในปี 2047

        เพียงแต่การรุกคืบเข้ามาทีละเล็กน้อยนั้น ส่งผลต่อความไม่พอใจของชาวฮ่องกงในช่วงแรกๆ กับการเริ่มเข้ามาแทรกแซง การปฏิรูปการเลือกตั้ง จนเกิดขบวนการ“ปฏิวัติร่ม” จากนั้นการประท้วงก็ค่อยๆ สงบลง และเหตุการณ์มาปะทุอีกครั้งเมื่อเกิดกรณีกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ทำให้คนฮ่องกงบางส่วนลุกฮือ ประท้วงรุนแรง เพราะกลัวการแทรกแซงของจีนอย่างหนัก จนเกิดการปะทะกัน สุดท้ายกลายเป็นความชอบธรรมที่จีนเข้ามาแทรกแซงเพื่อสร้างความสงบ

        การที่จีนเข้ามามีบทบาทด้านการเลือกตั้งในฮ่องกง เป็นการเริ่มแสวงหาผู้ที่มีทำงานทางการเมืองที่เห็นสอดคล้องในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาลจีนให้มีบทบาทเพิ่มขึ้น ลดกลุ่มต่อต้าน

        อ.ปิติ วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งที่ฮ่องกงเป็นการปะทะกันทางความเชื่อโมเดลการพัฒนาของประชาธิปไตยภายใต้เสรีทุนนิยม กับการปกครองแบบคอมมิวนิสต์

        ทางโลกตะวันตกต้องการพัฒนาฮ่องกงให้เป็นต้นแบบการค้าขาย การเงินโดยเสรี เพื่อให้จีนเห็นถึงความเจริญทางเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่าฮ่องกงมีการพัฒนาจนเป็นศูนย์กลางทางการเงินและโลจิสติกส์ ทว่าการกำหนดพื้นที่ใช้สอยได้เพียง 25% และเหลือพื้นที่สีเขียวถึง 75% ทำให้มีพื้นที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ อสังหาริมทรัพย์มีราคาสูง และยิ่งระบบทุนนิยมพัฒนามากขึ้นกลับยิ่งทำให้คนรวยเพิ่มขึ้น ช่องว่างความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นตั้งแต่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ขณะที่ระบบสังคมนิยมก็มีแนวทางแตกต่างกันอีกบริบท ต้องการทำให้มีความเป็นอยู่เท่าเทียมกัน จึงต้องกระจายทรัพยากรให้กับประชาชนทุกคนได้เข้าถึง

        แต่จีนก็ได้รับบทเรียนจากการเข้าไปแทรกแซงในทันทีไม่สามารถทำได้ในทันที จึงต้องเป็นการเรียนรู้พร้อมกันกับปฏิบัติแบบทีละขั้นตอนแบบค่อยเป็นค่อยไป (Learning by doing) ดังนั้นท้ายที่สุด จีนต้องการดึงฮ่องกงกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีน เพราะยึดความมั่งคงและเสถียรภาพทางการเมืองเป็นเรื่องหลัก ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องรอง โดยที่จีนมีพลังมีอำนาจทางเศรษฐกิจ และมีเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่กว่าฮ่องกงในหลายเขต เช่น เสิ่นเจิ้น ทั้งตลาดทุน ท่าเรือโลจิสติกส์และการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมไปถึงจีนกำลังพัฒนาระบบการเงินดิจิทัลที่ล้ำหน้ากว่าฮ่องกงขึ้นไปอีกระดับ

        ที่ผ่านมาการพัฒนาฮ่องกงเป็นคนละระบบกับจีนที่เป็นระบบอำนาจนิยม ขณะที่ฮ่องกงคือเสรีทุนนิยม ซึ่งทุกระบบมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน วันนี้ภายใต้อำนาจนิยม ทำให้คนหลุดพ้นจากความยากจน แต่ในที่สุดแล้วแต่ละประเทศมีบริบทการปกครองในแบบของตัวเอง ซึ่งการที่จีนสามารถครองอำนาจพรรคเดียวอย่างจริงจังมายาวนานจนขับเคลื่อนประเทศได้ประสบลสำเร็จ และเป็นประเทศเดียวที่ทำได้แบบนี้ ไม่สามารถลอกเลียนแบบไปใช้กับประเทศอื่นที่มีบริบทแตกต่างกันได้”

        ทั้งนี้ หลังจากมีการปฏิวัติเศรษฐกิจ เปิดประเทศเป็นระบบเศรษฐกิจผสม เปิดรับทุนนิยม โดยอดีตประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยวผิงตั้งแต่ปี 1978 จีนได้เดินหน้าขจัดความยากจน โดยมีทั้งการใช้หลักวิทยาศาสตร์ ค้นหาปัญหาและสาเหตุของความยากจนในแต่ละพื้นที่ และมีกระบวนการทำงาน พิสูจน์พื้นที่ และมีการติดตามผลอย่างเป็นรูปธรรม มีแผนการทำงาน และมีคนทำงานที่ชัดเจน ดึงทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม

        ท้ายที่สุด สูตรสำเร็จของจีน ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ข้ามคืน แต่เป็นการมุ่งมั่นจริงจัง วางแผนชัดเจน ถือเป็นแบบอย่างที่ควรดูเป็นแนวทางแต่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ทั้งหมด เพราะบริบททางการเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อมนั้นแตกต่างกัน แต่ควรเรียนรู้วิธีการนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในไทย เป็นการขัดแย้งทางอุดมการณ์ที่ฝ่ายที่แตกต่างล้วนเลือกที่จะรับฟังข้อมูลข่าวสารที่สนับสนุนความเชื่อและความคิดของตัวเองในบางส่วน (Echo Chamber) นี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่จะส่งผลทำให้ทั้งสองฝ่ายพร้อมจะปะทะกัน เพราะความเห็นที่แตกต่างกัน ทำให้มีผู้อยู่เบื้องหลังนำข้อมูลมาสร้างความเชื่อสนับสนุนบางสิ่งเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยม และฝ่ายหัวก้าวหน้า ยังขาดพื้นที่ตรงกลางที่ต้องเปิดใจรับฟังสิ่งที่เห็นตรงกันเพื่อประโยชน์ของชาติ

        ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้การตีความประชาธิปไตยแตกต่างกัน แต่หากผู้นำฟังเสียงของคนทุกฝ่าย และมีวิธีกระบวนการสร้างประชาธิปไตยให้มีสูตรที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของประเทศก็จะขับเคลื่อนไปด้วยกันได้ทั้งภาคประชาชน และผู้นำประเทศ รวมไปถึงมีความชัดเจน และต่อเนื่องในการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง โดยทุกฝ่ายที่ก้าวขึ้นมาจะต้องเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ

Tags: