Movement

กยท. เร่งพัฒนาระบบตลาดกลางทั้ง 8 แห่งทั่วประเทศ ลุยสร้าง national platform เชื่อมโยงข้อมูล สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดยางได้ 100%

22

January

2024

28

August

2023

        นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า การตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดของผลิตภัณฑ์ยางพารา เป็นนโยบายสำคัญที่การยางแห่งประเทศไทยมุ่งเน้นและเร่งดำเนินการเพื่อรองรับมาตรการนี้มาระยะหนึ่งแล้ว  หลังจากสหภาพยุโรปได้ออกประกาศเตรียมบังคับใช้กฎหมาย EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) ที่เป็นกฎหมายที่กำหนดให้ผลผลิตจากยางพาราต่าง ๆ ที่จะเข้าตลาดยุโรปต้องแสดงที่มาของผลิตภัณฑ์ว่า “มาจากสวนยางที่ไม่รุกป่า หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่” ซึ่ง กยท. มีความพร้อมในการจัดการระบบข้อมูลเพื่อตรวจสอบย้อนกลับ ตั้งแต่ข้อมูลเกษตรกรชาวสวนยาง ข้อมูลสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง (การรับซื้อยางสมาชิกเพื่อแปรรูป) และข้อมูลของสถาบันเกษตรกรตลอดจนผู้ประกอบการที่ซื้อขายยางพาราผ่านตลาดกลางฯ กยท. ทั้ง 8 แห่ง รวมถึงการพัฒนาและนำร่องทดสอบ national platform ซึ่งเป็นระบบที่ต่อยอดจากแพลตฟอร์มการซื้อขายยางของตลาดกลางฯ เดิม โดยแพลตฟอร์มนี้จะเชื่อมโยงทุกข้อมูลเข้าด้วยกัน ทำให้ กยท. มั่นใจว่าจะแสดงข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับได้ครบถ้วนทั้ง 100%

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

        นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กยท. มีการปรับปรุง และพัฒนาการซื้อขายยางพาราผ่านระบบตลาดกลางของ กยท. ทั้ง 8 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเดิมทีตลาดกลางแต่ละแห่งจะมีระบบบันทึกข้อมูลการซื้อขายยางที่เฉพาะแตกต่างกัน ปัจจุบัน กยท. ได้เริ่มนำระบบ Thai Rubber Trade (TRT) ซึ่งเป็นระบบการซื้อขายยางที่เชื่อมโยงข้อมูลของระบบตลาดกลางแต่ละแห่งเข้าด้วยกัน เพื่อขยายฐานข้อมูลทะเบียนสมาชิกผู้ขายและเกษตรกรให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยได้เริ่มใช้งานระบบดังกล่าว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยสามารถจัดเก็บข้อมูลการซื้อขายยาง ว่ามาจากกลุ่มเกษตรกร/สถาบันเกษตรกร และผู้ซื้อจากที่ไหน เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของยางได้

        นอกจากนี้ กยท. เริ่มดำเนินการพัฒนา platform ใหม่ สำหรับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อใช้บันทึกข้อมูลของสมาชิกแต่ละรายที่อยู่ในการดูแลของสถาบันฯ ตั้งแต่ข้อมูลพิกัดแปลงสวนยาง การรับซื้อผลผลิตยางจากสมาชิก เพื่อทราบว่ายางของสมาชิกมาจากพิกัดสวนยางแปลงไหน และมีรายละเอียดการซื้อขายยางในแต่ละครั้งเป็นอย่างไร ซึ่ง platform ดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ทำให้สามารถระบุพื้นที่สวนยางของเกษตรกรแต่ละรายได้ โดยปัจจุบัน กยท. ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (RAOT GIS) ขึ้น เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลการทำสวนยางในมิติต่างๆ ได้ โดยเปิดให้เกษตรกรสามารถเข้าไปอัปเดตพิกัดแปลงสวนยางของตนเองให้เป็นปัจจุบันได้ ซึ่ง กยท. จะพยายามผลักดันให้เกษตรกรทำสวนยางพารา ลงพิกัดแปลงให้ได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปีนี้

        “ในอนาคต เมื่อมีการเชื่อมโยงระบบข้อมูลยางจากระบบ TRT GIS และ platform ตัวใหม่ของ กยท. เข้าด้วยกัน จึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มาของผลผลิตยางได้อย่างครอบคลุม และถูกต้องแม่นยำ” ผู้ว่าการ กยท. กล่าว

Tags:
No items found.