Movement

ปิดฉากประชุมเอเปค รับรองปฏิญญา 2 ฉบับ 'ผู้นำ APEC 2022' - 'Bangkok Goals'

19

November

2022

19

November

2022

        เมื่อวันที่ 19 พ.ย. เวลา 12.30 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานที่ประชุม APEC 2022 เ ได้แถลงข่าวความสำเร็จการเป็นเจ้าภาพเอเปค 2565ของไทย โดยมีใจความสำคัญว่า การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 จบลงแล้วด้วยความสำเร็จอย่างงดงาม ถือเป็นความสำเร็จร่วมกันของสมาชิกเอเปคทั้งหมด เอเปคต้องยืนหยัดทำงานเพื่อสร้างการเจริญเติบโตและอนาคตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สัปดาห์ที่ผ่านมาไทยได้ต้อนรับคณะผู้นำ ผู้เข้าร่วมประชุม และสื่อต่างชาติ รวมกว่า 5,000 คน ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ประชุมแบบพบหน้า

        การประชุมนี้ นอกจากจะเป็นเวทีให้การหารือระหว่างผู้นำ ยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับแขกพิเศษ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และมกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ผู้นำได้พูดคุยกับภาคเอกชน ในการหารือกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค และนายกฯ ยังได้รับฟังมุมมองของกลุ่มผู้แทนเยาวชนเอเปคจาก APEC Voices of the Future 2022

        ที่ประชุมยังได้หยิบยกสถานการณ์การคุกคามด้านนิวเคลียร์ ไทย ในฐานะเจ้าภาพเอเปคเข้าใจและมีความห่วงกังวลต่อผลกระทบ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และพร้อมร่วมมือกับหุ้นส่วนต่าง ๆ เพื่อหาทางแก้ไขประเด็นปัญหาอย่างใกล้ชิดต่อไป และผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้รับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. 2022 ซึ่งการทำงานของเอเปค 2022 ตลอดทั้งปี ที่มีแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อน ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” มีผลลัพธ์ ดังนี้

        ประการแรก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์” เอเปคได้เดินหน้าสานต่อการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก FTAAP ผลงานที่เป็นรูปธรรม คือ จัดทำแผนงานต่อเนื่องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิก และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับประเด็นการค้าการลงทุนใหม่ ๆ

        ประการที่สอง “เชื่อมโยงกัน” เอเปคได้ฟื้นฟูการเดินทางข้ามแดนระหว่างกันอย่างปลอดภัย และไร้รอยต่อ เพื่อสร้างความพร้อมรับมือวิกฤติใหม่ในอนาคต

        ประการสุดท้าย “สู่สมดุล” ผู้นำเอเปคทุกคนได้ร่วมกันรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี” วางรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ซึ่งโอกาสนี้ เอเปคได้ร่วมเปิดตัวเว็บไซต์ bangkokgoals.apec.org อีกด้วย

        พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2565 ของไทยได้สิ้นสุดลงแล้ว ตนได้ส่งมอบหน้าที่นี้แก่สหรัฐอเมริกาที่จะเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2566 ตนเชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ จะสานต่อภารกิจของไทยที่ได้ริเริ่มไว้ การส่งเสริมการเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งมอบการเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำ APEC 2023 ให้แก่สหรัฐอเมริกา และมอบชะลอมสานไม้ไผ่ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของการประชุมเอเปคปีนี้ ให้แก่นางกามาลา แฮร์ริส รองประธานาธบดีสหรัฐฯ

        ก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 รูปแบบ Retreat ช่วงที่ 2 หัวข้อ “การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน” นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ว่า

        นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การค้าและการลงทุนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน และครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคและโลก การค้าและการลงทุนถือเป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือในเอเปค โดยองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่เอเปคสนับสนุน และสนับสนุนมาโดยตลอด คือ ระบบการค้าพหุภาคี มี WTO เป็นแกนหลัก ทั้งนี้ เอเปคสามารถมีบทบาทในฐานะแหล่งบ่มเพาะทางความคิด โดยร่วมกันหาทางออกใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ อาทิ ความครอบคลุม ความยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล

        การสนับสนุนสำคัญอย่างหนึ่งของเอเปคในระบบการค้าพหุภาคี คือ การขับเคลื่อนวาระเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia- Pacific: FTAAP) ที่ในปีนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยจัดทำแผนงานต่อเนื่องหลายปีเพื่อขับเคลื่อนวาระเรื่อง FTAAP ต่อไป ซึ่งจะช่วยสร้างศักยภาพและเตรียมเศรษฐกิจให้พร้อมสำหรับยุคหน้า รวมถึงประเด็นการค้าและการลงทุนยุคใหม่ เช่น ความยั่งยืน เศรษฐกิจดิจิทัล การค้า และสาธารณสุข

        นายกรัฐมนตรีเห็นว่า นอกจากจะต้องดำเนินการตามแผนงานต่อเนื่องแล้ว ยังต้องคำนึงถึงขั้นตอนต่อไปด้วย โดยปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยรับมือและให้ฟื้นตัวจากโควิด-19 รวมทั้งยังสนับสนุน MSMEs ที่ถือเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโต ให้สามารถเข้าสู่ตลาดโลกและห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ยังขยายการเข้าถึงและสร้างโอกาสให้กับสตรี เยาวชน ตลอดจนในชนบทและพื้นที่ห่างไกล

        อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ยังคงมีช่องว่างอยู่ จึงจำเป็นที่จะต้องลดช่องว่างด้านดิจิทัลและเสริมพลัง เพื่อสร้างหลักประกันให้กับคนทุกกลุ่ม

        นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุปว่า เอเปคเห็นพ้องว่าต้องทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความมั่งคั่งและความกินดีอยู่ดีของประชาชนทุกคนในภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน

        ทั้งนี้ ยินดีที่เอเปคมุ่งมั่นสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่มี WTO เป็นศูนย์กลาง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนวาระ FTAAP โดยเอเปคยังสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต โดยเฉพาะสำหรับ MSMEs และธุรกิจนอกระบบ รวมถึงการส่งเสริมการค้า การลงทุน และห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น มุ่งเน้นการจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง ไทย หวังว่าแนวคิดเศรษฐกิจ BCG จะช่วยบ่มเพาะความคิดใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมร่วมกันต่อไป

        โดยในตอนท้าย ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคร่วมกันรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี ค.ศ. 2022 และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG

Tags: