Business

อนาคต ‘นักท่องเที่ยวจีน’ ครองโลก อีก10 ปี ‘ไทย’ จะยังเนื้อหอมอยู่ไหม?

12

January

2022

28

January

2021

            ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจีนมีความสำคัญอย่างมากต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยหากมองไปในอนาคต คนจีนจะออกไปเที่ยวต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน?และประเทศไทยจะยังเป็นปลายทางยอดนิยมอยู่หรือไม่?

            ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส (Krungthai COMPASS) ธนาคารกรุงไทย พร้อมด้วยทีมนักวิจัย ณัฐพร ศรีทอง และพิมฉัตร เอกฉันท์ ร่วมกันเปิดเผยถึงผลวิจัยล่าสุดเรื่อง“เกาะติดทิศทางนักท่องเที่ยวจีน”ซึ่งประเมินถึงทิศทางอนาคตนักท่องเที่ยวจีนในอีก10 ปีข้างหน้า

ปี 2573 คนจีนเที่ยวนอกทะลุ 334 ล้านคน

           จากสถิติในช่วง 5 ปี (ปี2557-2561) พบว่าคนจีนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉลี่ยเติบโตปีละ 8.8%  จนมาแตะระดับเกือบ 150 ล้านคนในปี 2561  ซึ่งหากไม่นับรวมการออกไปเที่ยวฮ่องกงมาเก๊า และ ไต้หวัน ซึ่งกินส่วนแบ่งราว 50-60% พบว่าการเที่ยวต่างประเทศของคนจีนเติบโตสูงถึงปีละ20%    

           ในปี 2562 ศูนย์วิจัยกรุงไทยฯคาดว่า จำนวนคนจีนที่ออกไปเที่ยวต่างประเทศจะอยู่ที่ 160 ล้านคนและจะเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 6.9% เพิ่มขึ้นเป็น 334 ล้านคน ในปี 2573 โดย 3 ปัจจัยหลักที่เป็นแรงหนุนสำคัญ ได้แก่ 1.คนจีนรวยขึ้น สัดส่วนชนชั้นกลางขยายตัวมากขึ้น 2.โครงสร้างประชากรและค่านิยมที่เปลี่ยนไปทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนหน้าใหม่เพิ่มขึ้น 3.โครงสร้างพื้นฐานของจีนและประเทศปลายทางที่เอื้อต่อการท่องเที่ยวมากขึ้นรวมถึงคนจีนที่มีพาสปอร์ตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

กลุ่มชนชั้นกลางของจีนเติบโตต่อเนื่อง

           พิมฉัตร วิเคราะห์ว่า กลุ่มชนจีนที่มีศักยภาพออกไปเที่ยวต่างประเทศมากที่สุดคือ กลุ่มชนชั้นกลางที่มีฐานะไปจนถึงระดับเศรษฐี ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยคาดว่าภายในปี 2573 ประชากรกลุ่มที่มีความมั่งคั่งสูง (Massaffluent and above)จะเพิ่มจำนวนขึ้น จนกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศคิดเป็นสัดส่วนกว่า 58.5%

           คนจีนรวยขึ้นและในลักษณะกระจายตัวมากขึ้นความมั่งคั่งของคนจีนไม่ได้กระจุกตัวเฉพาะเขตเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง หรือเซี่ยงไฮ้เท่านั้น แต่เริ่มเห็นการเติบโตของรายได้ต่อหัวในมณฑลอื่นๆมากขึ้น

นักท่องเที่ยวจีนหน้าใหม่: กำลังซื้อแห่งอนาคต

           คนจีนที่เที่ยวต่างประเทศส่วนใหญ่กว่า 80%เป็นกลุ่มชาว Millennials หรือ Gen Y ที่เกิดปี 2523 - 2543 หรือปัจจุบัน อายุ 20-39ปี  ซึ่งอยู่ในวัยเริ่มทำงานชื่นชอบการเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลในโลกออนไลน์และเดินทางท่องเที่ยวได้ด้วยตนเอง

           ขณะที่หากมองไปในอนาคตอีก 10ปีข้างหน้า กลุ่ม Gen Z และเด็กรุ่นใหม่ที่มีอายุ10-19 ปี ในปัจจุบันซึ่งมีจำนวนราว 167 ล้านคน จะกลายเป็นโครงสร้างประชากรกลุ่มสำคัญที่จะมาเติมจำนวนนักท่องเที่ยวจีนหน้าใหม่ให้เพิ่มขึ้นราว33 ล้านคน

จีนมีแผนเพิ่มสนามบินอย่างต่อเนื่อง

            อีกหนึ่งปัจจัยหนุนที่สำคัญคือด้านโครงสร้างพื้นฐานของจีน ภายในปี 2568 จีนมีแผนเพิ่มสนามบินใหม่อีก217 แห่ง ส่งผลให้ทั่วทั้งประเทศจะมีสนามบินถึง 450 แห่ง จาก 233 แห่งในปี 2561 นอกจากนี้ยังมีการขยายเพิ่มเที่ยวบินและเส้นทางการบินระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ15-16%

            ขณะที่จำนวนชาวจีนที่ถือพาสปอร์ตยังมีจำนวนเพียง181 ล้านคน หรือคิดเป็น 13% ของประชากรทั้งหมดในปี 2561จึงมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมากโดยรัฐบาลจีนได้มีการปรับลดค่าธรรมเนียมในการทำพาสปอร์ตลง 25% รวมถึงขยายช่องทางการยื่นพาสปอร์ตออนไลน์ทำให้คาดว่าจำนวนผู้ถือพาสปอร์ตจีนจะสูงถึง 240 ล้านคนในปี 2563นอกจากนี้ มาตรการผ่อนคลายด้านวีซ่าของประเทศต่างๆ ยังหนุนให้ชาวจีนเที่ยวเมืองนอกได้ง่ายขึ้น

ไทยต้องปรับตัวอย่างไร? ถ้าไม่อยากเสียแชมป์

           ณัฐพร อีกหนึ่งผู้ร่วมทำวิจัยกล่าวว่า ปัจจุบันไทยยังเป็นปลายทางแหล่งท่องเที่ยวอันดับ 1ของนักท่องเที่ยวจีน คิดเป็นสัดส่วน 15%ของการเดินทางออกนอกประเทศในปี 2561 รองลงมาคือญี่ปุ่น สัดส่วน 12% และเวียดนาม7% (ไม่นับรวมฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน)  

           อย่างไรก็ตาม พบว่า ญี่ปุ่นและเวียดนามเติบโตแรงกว่าไทยในช่วง5 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 37% และ 26% ตามลำดับ เทียบกับไทยซึ่งเติบโตอยู่ที่23%  

           ขณะที่ผลสำรวจนักท่องเที่ยวชาวจีนของบริษัทวิจัยด้านการตลาดNielsen และ Hotels.com พบว่า 2 ปัจจัยที่คนจีนให้น้ำหนักมากที่สุดคือ ด้านความสวยงาม อัตลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว และด้านความปลอดภัย ซึ่งจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันการท่องเที่ยวของไทยในปี 2562 โดย World Economic Forumพบว่าในด้านความโดดเด่นของทรัพยากรธรรมชาติของไทย ติดอยู่ในอันดับ 10 ของโลก และยังคงเป็นแม่เหล็กสำคัญที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน

           แต่ประเด็นที่ต้องระวังคือด้านความปลอดภัยซึ่งไทยอยู่ในอันดับที่ 111 จากทั้งหมด 140 ประเทศ จึงอาจเป็นปัจจัยที่บั่นทอนการเติบโตในอนาคต เนื่องจากเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาที่ชาวจีนอ่อนไหวสูงนอกจากนี้ ไทยยังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเวียดนามจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง

           ในอนาคตหากไทยจะยืนหนึ่งรักษาตำแหน่งแชมป์ จึงต้องมีจุดขายใหม่ๆเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ด้วยการ“ชูเมืองรอง ครองใจนักท่องเที่ยวจีน”ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นกระแสการเติบโตของการท่องเที่ยวเมืองรองที่มาแรงมากขึ้นโดยเฉพาะจังหวัดตราด ตรัง แม่ฮ่องสอน  เชียงราย และสุโขทัยเนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนต้องการแสวงหาประสบการณ์แปลกใหม่ แหล่งท่องเที่ยว Unseen

           ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกรุงไทย คาดว่า ในปี 2563 นักท่องเที่ยวจีนมาไทยจะเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ5.5 – 7% โดย ประเมินแนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนออกเป็น 2 กรณี

           กรณีแรก คือ หากไทยสามารถครองสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนที่ประมาณ7% ของชาวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมด เช่นเดียวกับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาเยือนไทยมีโอกาสแตะ 23ล้านคน ในปี 2573 จากขณะนี้ที่มีจำนวน 11.1 ล้านคน

           กรณีที่สอง คือ หากการแข่งขันรุนแรงโดยเฉพาะประเทศเวียดนาม อาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเติบโตเพียง 5.5%หรืออยู่ที่ 20 ล้านคนใน 10 ปีข้างหน้า    

           ดังนั้น ไทยจึงต้องแข่งขันด้วยการรักษาจุดแข็งของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ให้สามารถครองใจชาวจีนได้ต่อเนื่องรวมถึงเพิ่มความหลากหลายและความพร้อมของแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย และการขยายศักยภาพสนามบินที่สามารถดำเนินการได้ตามแผน

           ที่สำคัญผู้ประกอบการไทยควรเพิ่มโอกาสในการทำการตลาดบนโซเชียลมีเดียจีนมากขึ้นเพราะนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาต่างประเทศได้เปลี่ยนจากรูปแบบกรุ๊ปทัวร์มาเป็นการเดินทางด้วยตัวเองช่องทางโซเชียลมีเดียจึงมีความสำคัญมาก  โดยจากข้อมูลสำรวจของCompass Edge พบว่าว่าชาวจีนรุ่นใหม่หาข้อมูลและตัดสินใจเลือกสถานที่สำหรับเที่ยวต่างประเทศจากโซเชียลมีเดียกว่า40% มากกว่าการหาข้อมูลจากคนใกล้ตัว

Tags: