Movement

จีนชื่นชมไทย ใช้นวัตกรรม 'ฝายแกนดินซีเมนต์' ต้านภัยแล้ง

27

June

2023

27

June

2023

“สังศิต” เผยผู้บริหารระดับสูงของจีน สนใจ “ฝายแกนดินซีเมนต์” ยินดีเดินทางมาศึกษาดูงานแก้จนที่ประเทศไทย

       นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เปิดเผยว่า หลังจากตนกล่าวสุนทรพจน์จบ ประธานการจัดงานคือ นายหลิว ฮ่วนซิน ผู้อำนวยการสำนักงานฟื้นฟูชนบทแห่งชาติจีน ได้เข้ามาแสดงความชื่นชมพร้อมกับกล่าวว่าสิ่งที่นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ พูดให้ข้อคิดหลายอย่างที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศจีนที่จะต้องนำไปคิดต่อไป

       “มีผู้บริหารระดับสูงของจีนหลายท่านเข้ามาจับมือกับนายสังศิต แสดงความชื่นชม และกล่าวว่าจีนจะต้องออกไปศึกษาประสบการณ์จากเพื่อนบ้านมากขึ้น และยินดีจะเดินทางมาศึกษาดูงานแก้จนที่ประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องฝายแกนดินซีเมนต์ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศจีนด้วยเช่นเดียวกัน”

       ทั้งนี้ คำกล่าวเปิดงาน 'ฟอรั่มว่าด้วยการพัฒนาสังคมและลดความยากจนจีน-อาเซียน ครั้งที่ 17' (The 17th  ASEAN-China Forum on Social Devolopment and Poverty Reduction) ของนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ (Assoc.Prof.Dr.Sungsidh Piriyarangsan) ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ที่จัดขึ้นที่ เป๋ยไห่ กว่างซี ประเทศจีน เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 มีดังนี้คือ

       มิตรทั้งหลาย ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ก่อนอื่นทั้งหมดผมใคร่ขอขอบคุณรัฐบาลจีนเป็นอย่างสูง และมิตรทุกท่านที่ให้โอกาสแก่ประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมอันทรงคุณค่ายิ่ง เพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงประสบการณ์ตรงและความจริงใหม่ (new truth) ที่ประชาชนในประเทศของท่านร่วมกันสร้างขึ้นมาในระยะใกล้ๆ

      สำหรับประเทศไทยในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ความยากจนยังเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดและยากลำบากที่สุด เช่นเดียวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ระหว่างคนมั่งมีกับคนจนที่ช่องว่างกำลังขยายตัวมากขึ้นจนน่าวิตก

      ผมเห็นว่าไม่มีทฤษฎีและสูตรสำเร็จรูปใดๆ ในการแก้ปัญหาความยากจนสำหรับประเทศไทย เราต้องเริ่มต้นจากความเป็นจริงของสังคมไทยเอง การแก้จนของไทยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของสังคมและวัฒนธรรมไทย เพราะว่าในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางและภาคใต้ล้วนแล้วแต่มีสภาพภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และนิสัยใจคอของคนที่แตกต่างกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดต่างมีมุมมองและให้ความสำคัญเรื่องการแก้จนที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการออกแบบเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนของแต่ละพื้นที่จึงต้องประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของอำนาจ (power) ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามความเป็นจริงด้วย

      120 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานชลประทานของไทยสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำและพื้นที่ชลประทานได้ประมาณร้อยละ 22 ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ พื้นที่ที่เหลืออีกร้อยละ 78 ต้องอาศัยแต่น้ำฝน ภารกิจของเราคือการหาน้ำและการแก้จน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ถูกเรียกว่า “พื้นที่แล้งซ้ำซาก” งานของเราคือการจูงใจให้รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจเอกชนเห็นความสำคัญของการแก้จน ด้วยการสร้าง ฝายแกนดินซิเมนต์ (soil cement dam)

      ฝายชนิดนี้เป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยี (technological innovation) เพราะทำง่าย ไม่ซับซ้อน ฝายทำจากดินในท้องที่นั้นราว 10-30 ส่วน ผสมกับปูน 1 ส่วน ฉะนั้นต้นทุนของฝายแกนดินซิเมนต์จึงมีราคาถูก ราคาของฝายชนิดนี้ไม่แตกต่างจากฝายชนิดอื่น ฝายสร้างเสร็จได้ในเวลาอันสั้นราว 5 -15 วัน มีความทนทาน ใช้งานได้นานนับสิบๆ ปี ในขณะที่ฝายทุกชนิดมีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 1 ปี ฝายแกนดินซีเมนต์มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการกักเก็บน้ำสูงเพราะน้ำไม่สามารถซึมลอดใต้ฝายและที่ปีกทั้งสองด้านด้วย มันจึงเป็นฝายชนิดเดียวที่สามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ได้ตลอดทั้งปี ฝายสามารถออกแบบให้ใช้งานได้สำหรับ 4-5 ครัวเรือน จนกระทั่งถึงใช้ประโยชน์ได้สำหรับประชาชนทั้งอำเภอ

     ฝายชนิดนี้เป็นมิตรกับสภาพนิเวศน์ทางธรรมชาติ เพราะมันสร้างอยู่ใน แม่น้ำ ลำห้วย ลำคลอง ลำธาร และสร้างได้ทั้งบนพื้นที่สูง เช่น ภูเขา และพื้นที่ราบ ความสูงของฝายอยู่ที่ 1.5-2 เมตร  

     ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ภาคประชาสังคม องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และภาคธุรกิจเอกชน ได้ช่วยกันสร้างฝายแกนดินซิเมนต์ขึ้นแล้วกว่า  600 แห่ง ทั่วทุกภาค ฝายแกนดินซีเมนต์ช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่แล้งซ้ำซากสามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี

     ตัวอย่างความสำเร็จขั้นต้นที่เราขอกล่าวอ้างถึงคือ ที่ตำบลทุ่งชมพู อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ทุ่งชมพูเป็นพื้นที่สูง ชาวบ้านถูกบีบบังคับให้อพยพมาจากพื้นที่ราบที่รัฐบาลต้องการสร้างเขื่อนเมื่อปี 2504 ทุ่งชมพูมีเป็นพื้นที่ขนาด 11,000ไร่ มีประชากรประมาณ 1,000 ครัวเรือน กว่า 50 ปีที่เกษตรกรต้องทำนาน้ำฝนปีละหนึ่งครั้ง ทุกครัวเรือนจึงยากจนเหมือนกันหมด ในปี 2558 ทีมงานของเราได้เข้าไปสนับสนุนให้มีการสร้างฝายแกนดินซิเมนต์จำนวนสี่ตัวเพื่อกักเก็บน้ำใต้ดินไว้ให้เกษตรกรจำนวนหนึ่ง พวกเราแนะนำให้เกษตรกรทำบ่อบาดาลน้ำตื้นและใช้โซล่าร์เซลล์ เกษตรกรทำการเกษตรแบบผสมผสาน และใช้ระบบน้ำหยด เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ทุกวัน ในปี 2563 แต่ละครัวเรือนใช้คนทำงานสองคน มีรายได้เฉลี่ย 2,000-3,000 บาทต่อวัน หรือ 400-600 หยวนต่อวัน ในปี 2565 พวกเขามีรายได้ 3,000-5,000 บาทต่อวัน หรือ 600-1,000 หยวนต่อวัน ในปี 2566 พวกเขามีรายได้ 5,000-7,000 บาทต่อวัน หรือ 1,000-1,200 หยวนต่อวัน

     ประสบการณ์การแก้จนของเรามีเพียงน้อยนิด การทำงานของเราเพิ่งเริ่มต้น แต่การได้มาศึกษาดูงานเรื่องการแก้ความยากจนที่จีนเมื่อวันที่ 21-27 พฤษภาคม 2566 ช่วยให้เราเห็นการแก้ปัญหาเรื่องนี้ของจีนในเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

     ผมเห็นว่า การแก้ปัญหาความยากจนของจีนได้สำเร็จไม่เพียงแต่สร้างคุณูปการให้แก่ประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้แก่รัฐบาลและประชาชนทั่วโลกอีกด้วย ผมคิดว่าการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจเอกชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความยากจนและในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมจีนยุคใหม่ ไม่เพียงแต่เป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจสังคมของจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจสังคมรูปแบบใหม่ของโลกแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลกนี้ด้วย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศจีนทำให้ทั้งโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ตามไปด้วย เพราะโลกได้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ขึ้น ที่ไม่ใช่สังคมนิยมแบบเดิมและไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจตลาดเพื่อสังคม (social market economy) แบบยุโรปที่เน้นเรื่องสวัสดิการ แต่จีนกำลังสร้างระบบสังคมเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เน้นสวัสดิการแบบหนึ่งขึ้นมาในโลกเช่นเดียวกัน (social welfare economy) ระบบเศรษฐกิจของจีนเป็น “Market led social welfare economy” ผมขอแสดงความชื่นชมต่อความก้าวหน้าของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประเทศจีน

     สุดท้ายนี้ ผมขอเรียกร้องให้นักวิชาการจีนและนักวิชาการทั่วโลกหันมาศึกษาและทำความเข้าใจระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ของจีน เพื่อสร้างเป็นทฤษฎีเศรษฐกิจใหม่ของโลก

ที่มา FB.สังศิต พิริยะรังสรรค์

Tags:
No items found.