Focus

สงครามยังไม่สิ้นสุด ไทยเผชิญ COVID-19 รอบ 2

12

January

2022

13

January

2021

        ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 3 ม.ค.2563 นับเป็นวันที่ไทยเริ่มตั้งปราการด่านแรกดำเนินการคัดกรองผู้ป่วยที่สนามบินสุวรรณภูมิ หลังข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีน  ผลจากมาตรการวันนั้นทำให้ไทยพบผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นนักท่องเที่ยวจีน และเป็นผู้ติดเชื้อนอกจีนรายแรกของโลก เมื่อวันที่ 13 ม.ค.

        สถานการณ์การระบาดในไทยในช่วง 2 เดือนแรกยังสามารถควบคุมได้ดี มีผู้ติดเชื้อแค่ในระดับหลักสิบ ก่อนจะพบจุดเปลี่ยนในวันที่ 15 มี.ค.ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงก้าวกระโดด จากการแพร่ระบาดแหล่งใหญ่ในผับและสนามมวย นำไปสู่การระบาดใหญ่ จนรัฐบาลรวมทั้งทีมแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขต้องออกมารณรงค์ให้คนไทยช่วยกัน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ตามมาด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลตั้งแต่ 26 มี.ค.

        ก่อนที่จะประกาศเคอร์ฟิวและมีการใช้มาตรการล็อคดาวน์อย่างเข้มงวดในเดือนเม.ย. ทั้งการปิดสถานศึกษา ห้ามชุมนุม ห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง ปิดน่านฟ้าห้ามอากาศยานเข้าออกประเทศไทย จนยอดผู้ติดเชื้อลดลงเรื่อยๆ

        กระทั่งวันที่ 13 พ.ค. 2563 นับเป็นครั้งแรกที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยเป็นศูนย์ราย และไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ก่อนที่ภาครัฐจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ภาคธุรกิจกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง ประเทศไทยเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติแบบชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) การระบาดรอบแรกเริ่มควบคุมได้อยู่หมัด โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ดีจนเป็นที่ยอมรับมาจาก 2 ประการที่สำคัญ คือ 1.ความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขไทย ไม่เพียงเฉพาะทีมแพทย์ และพยาบาล แต่ยังรวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ที่ทำหน้าที่เป็นมดงานด่านหน้าในการคัดกรองเฝ้าระวังระดับพื้นที่ และ 2. ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมในการใช้ชีวิตแบบ New Normal ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย ร่วมมือช่วยกันอยู่บ้าน เว้นระยะห่างทางสังคม  

        อย่างไรก็ตาม ชัยชนะในรอบแรกก็ต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่สูงมหาศาล เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ติดลบไปกว่าร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีผู้ได้รับผลกระทบหลายล้านคนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก หลายธุรกิจโดยเฉพาะท่องเที่ยวและโรงแรมต้องปิดกิจการ ผู้คนตกงาน ขาดรายได้ แม้แต่อาชีพที่มั่นคงเงินเดือนสูงอย่างนักบินและแอร์โฮสเตสยังถูกวิกฤต COVID-19 เล่นงานแบบตั้งตัวไม่ติด

        การจับจ่ายและกำลังซื้อลดลง รัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ พร้อมออกมาตรการเยียวยาประชาชนในช่วงวิกฤต COVID-19 ขนานใหญ่ ผ่านมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” ตามมาด้วยมาตรการ “คนละครึ่ง”

        ทว่าความหวังเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องกลับต้องดับวูบลงด้วยบททดสอบใหม่ในช่วงปลายปี เมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร และกลุ่มแรงงานข้ามชาติ การระบาดขยายวงอย่างรวดเร็ว จาก 6 จังหวัด ในช่วงวันที่ 18-20 ธ.ค. 2563 พุ่งเป็น 51 จังหวัดในวันสิ้นปี และเพิ่มเป็น 53 จังหวัดในวันที่ 3 ม.ค. 2564 ซึ่งถือเป็นการครบรอบ 1 ปีของการตั้งแนวรบสู้ศึก COVID-19 ในไทยที่มาพร้อมกับศึกรอบใหม่ที่ใหญ่ขึ้น และยังไม่รู้ว่าสถานการณ์ครั้งนี้จะลุกลามไปขนาดไหนหรือจบลงที่ใด

Tags: