'วัคซีนโควิด’ ความหวังของชาวโลก
12
January
2022
13
January
2021
ทันทีที่มีข่าวดีเรื่องวัคซีนทยอยมาอย่างต่อเนื่องจาก 3 ผู้พัฒนาวัคซีนอย่าง Pfizer (ไฟเซอร์)ที่จับมือกับ BioNTech (ไบออนเทค) ตามมาด้วย Moderna (โมเดอร์นา) และ AstraZeneca (แอสตราเซเนกา) ซึ่งรายงานผลการทดลองวัคซีนระยะที่ 3 ออกมาในประสิทธิผลสูงกว่า 70-95% ในเดือนพ.ย.2563
จุดประกายให้โลกเริ่มเห็นทางสว่างที่จะหยุดยั้ง COVID-19 โดยวัคซีนที่ผลิตโดยไฟเซอร์ฯ ถือเป็นวัคซีนตัวแรกของโลกที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศรับรองสำหรับกรณีฉุกเฉิน
หลายประเทศเริ่มมีการอนุมัติการใช้ฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในประชาชนตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา อังกฤษเป็นประเทศแรกของโลกที่อนุมัติให้ใช้วัคซีนของไฟเซอร์ฯ โดยคุณยายมาร์กาเร็ต คีแนน วัย 91 ปีเป็นคนแรกของโลกที่ได้รับวัคซีนดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2563
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานข่าวเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2563 ว่า กระบวนการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ที่สุดในโลกได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยประชาชนใน 9 ประเทศทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนต้าน COVID-19 คิดเป็นจำนวนมากกว่า 4.4 ล้านโดส โดยสหรัฐได้ประเดิมฉีดวัคซีนครั้งแรกให้กับบุคลากรทางการแพทย์เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2563 และได้ทำการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนแล้ว 1.94 ล้านโดส
ขณะที่จีนและรัสเซียได้เริ่มฉีดวัคซีนต้าน COVID-19 ให้แก่ประชาชนในเดือนก.ค.-ส.ค. ก่อนที่จะมีการทดสอบในระยะสุดท้าย โดยทั้งสองประเทศมีการฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 1.4 ล้านโดส
ล่าสุด ในวันที่ 31 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทางการจีนยังได้อนุมัติใช้งานวัคซีน COVID-19 ที่พัฒนาโดย Sinopharm (ซิโนฟาร์ม) ให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก พร้อมตั้งเป้าเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ได้ทะลุล้านรายก่อนที่จะถึงเทศกาลตรุษจีน
คนไทยได้วัคซีนล็อตแรก ก.พ.นี้
สำหรับความหวังของคนไทยที่จะได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 คาดว่าล็อตแรกจะมาถึงเร็วสุดได้ในเดือน ก.พ. 2564 หลังจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ม.ค.ได้เห็นชอบเรื่องการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมในกรณีเร่งด่วน โดยได้มีการหารือกับ Sinovac Biotech (ซิโนแวค ไบโอเทค)ประเทศจีน ที่จะจัดหาวัคซีนจำนวน 2 ล้านโดสในเดือน ก.พ.-เม.ย.นี้ วงเงินงบประมาณกว่า 1,228 ล้านบาท แบ่งเป็น
- วัคซีน 2 แสนโดสแรก ในเดือนก.พ. 2564 ซึ่งจะฉีดให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขด่านหน้า และเจ้าหน้าที่ทำงานภาคสนามในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่น จ.สมุทรสาคร จ.ระยอง จ.ชลบุรี รวมถึงในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อนสูง และกลุ่มจำเป็นอื่น ๆ
- วัคซีนล็อตถัดไป 8 แสนโดสในเดือนมี.ค. 2564 ซึ่งจะเป็นการฉีดวัคซีนเข็มที่สองในกลุ่มข้อ (1) จำนวน 2 แสนโดส ส่วนอีก 6 แสนโดส จะฉีดให้แก่กลุ่มจังหวัดที่มีการควบคุมสูงสุด รวมถึงจังหวัดแนวชายแดนภาคตะวันตก ภาคใต้ และบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมีภาวะแทรกซ้อนสูงและกลุ่มจำเป็นอื่น ๆ
- วัคซีนล็อตที่สาม 1 ล้านโดส ในเดือนเม.ย. 2564 โดยจะฉีดวัคซีนเข็มที่สองในกลุ่มตามข้อ (2) จำนวน 6 แสนคน และสำหรับกรณีที่มีการระบาด จำนวน 4 แสนโดส
ทั้งนี้ วัคซีนที่จะได้รับอนุญาตให้เข้ามาใช้กับคนไทย จะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย.ประเทศจีน และเมื่อ อย.ของจีนอนุมัติแล้วจะต้องนำมาให้ทาง อย.ประเทศไทย เป็นผู้อนุมัติด้วย
หลังจากนั้นวัคซีนอีกส่วนหนึ่งจะมาจากล็อตที่ประเทศไทยได้มีการจองซื้อวัคซีน 26 ล้านโดสไปก่อนหน้านี้ จากบริษัท AstraZeneca (แอสตราเซเนกา) ซึ่งคาดว่าจะได้รับวัคซีนประมาณเดือนมิ.ย. 2564 (โดยอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อให้ได้วัคซีนมาก่อนจำนวนหนึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564) โดยล่าสุด ได้มีการอนุมัติเพิ่มเติมในการหาวัคซีนเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส
เมื่อรวมกับวัคซีนจากซิโนแวค 2 ล้านโดส ทำให้ในปี 2564 จะมีวัคซีนทั้งสิ้น 63 ล้านโดส ซึ่งคนไทยจะได้รับ โดยประชาชน 1 คนจะได้รับการฉีดวัคซีน จำนวน 2 โดส
ทั้งนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหา/ซื้อและเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนหลายแห่งเพื่อให้ครอบคลุมประชาชนจำนวน 33 ล้านคน หรือร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ โดยนอกเหนือจากวัคซีนจาก แอสตราเซเนกา และซิโนแวคแล้ว ยังมีการจัดหาวัคซีนจาก COVAX Facility ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขและเจรจาต่อรอง
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข่าวดีวัคซีนที่ถือเป็นความหวังของโลก แต่การจะควบคุมการแพร่ระบาดของโรคก็ยังต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ซึ่งบรรดาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์กันว่า COVID-19 จะยังอยู่กับเราอีกเป็นปีหรือหลายปีกว่าจะยุติการระบาด ดังนั้น แม้จะค้นพบวัคซีนแล้ว แต่การป้องกันตัวเองที่ดีที่สุด คือ การเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก และหมั่นดูแลรักษาความสะอาดเพื่อปลอดภัยจาก COVID-19