Focus

ทิศทาง 5 ปีจีน CHINA 14th FIVE YEAR PLAN 2021-2025

12

January

2022

22

April

2021

        การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (National People’s Congress : NPC) หรือ “ฉวนกั๋วเหรินต้า” ชุดที่ 13 ครั้งที่ 4 ของจีนในปีนี้เป็นที่จับตาจากทั่วโลก เนื่องจากเป็นปีแรกที่ประเทศจีนบริหารประเทศภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับใหม่ คือ แผนพัฒนาฯฉบับที่ 14 ระยะ 5 ปี (ปี 2021-2025) และยังเป็นปีครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน

        การเริ่มต้นเดินทางครั้งใหม่ของจีนใน “แผน 5 ปี” ฉบับนี้มีความน่าสนใจอย่างไร? “พญามังกร”จะเติบโตไปในทิศทางใดใน 5 ปีนับจากนี้ ติดตามได้จาก Cover Story ฉบับนี้

สาระสำคัญของแผน 5 ปี ฉบับที่ 14 ของจีน

        โครงร่างของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 และวิสัยทัศน์ปี 2035 เผยแพร่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 มี.ค.2564 แบ่งออกเป็น 19 ส่วน 65 บทย่อย กำหนด 20 ตัวชี้วัดหลักของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมในอีก 5 ปีข้างหน้าของจีน

        ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ ‘ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ’ โครงร่างของแผนพัฒนาฯฉบับใหม่นี้ไม่มีการกำหนดเป้าหมายอัตราการขยายตัว GDP เฉลี่ยระยะ 5 ปีอย่างชัดเจนดังเช่นฉบับก่อนๆ แต่เปลี่ยนมาใช้การปรับเป้าหมายตามความเหมาะสมในแต่ละปีแทน

        นอกจากนี้ ‘3 ใหม่’ จะกลายเป็นหัวใจหลักการพัฒนาของจีน ซึ่งโครงร่างดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของจีนในการเริ่มต้นระยะการพัฒนาใหม่ ปฏิบัติตามแนวคิดการพัฒนาใหม่ สร้างสถานการณ์การพัฒนาใหม่ และผลักดันการพัฒนาคุณภาพสูง

        จุดที่ต่างจากแผนพัฒนาฯฉบับก่อนหน้า คือ แผนพัฒนาฯฉบับนี้จะเน้น ‘การพัฒนาคุณภาพสูง’ ในทุกตัวชี้วัด การพัฒนาคุณภาพสูงจะเป็นหัวข้อหลักของการพัฒนาของจีนทั้งในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 14 และในระยะยาว รวมทั้งเกี่ยวข้องกับภาพรวมของการนำพาประเทศสู่สังคมนิยมทันสมัยของจีน ซึ่งแนวคิดการพัฒนาคุณภาพสูงนี้ได้ถูกสะท้อนให้เห็นผ่านการเชื่อมโยงการพัฒนาคุณภาพสูงเข้าไปใน 20 ตัวชี้วัดของแผนพัฒนาฯฉบับที่ 14

        ‘การขับเคลื่อนนวัตกรรม’ ยังคงเป็นไฮไลท์สำคัญในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 14 โครงร่างฯ ดังกล่าวระบุว่า จีนจะยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนนวัตกรรมซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนความทันสมัย และชูการพึ่งพาตนเองด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาประเทศ พร้อมกับตั้งเป้าหมายด้านนวัตกรรมที่ชัดเจน มุ่งเน้นไปที่การคว้าโอกาสการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต บ่มเพาะอุตสาหกรรมเสาหลักและอุตสาหกรรมล้ำสมัย

        นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า มูลค่าเพิ่มของ ‘อุตสาหกรรมเกิดใหม่’ ต้องมีสัดส่วนมากกว่า 17% ของ GDP ยิ่งไปกว่านั้น ในแผนฉบับนี้ยังได้แยกประเด็น ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ออกมาเป็นบทเฉพาะ พร้อมกับตั้งเป้าว่า ในปี 2025 เศรษฐกิจดิจิทัลจะต้องคิดเป็น 10% ของ GDP จีน

        ‘วงจรคู่’ เป็นอีกคำที่ถูกพูดถึงบ่อยในการประชุมสองสภาครั้งนี้ หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวระหว่างการประชุมสรุปผลงานรัฐบาลว่า “จีนจะมุ่งเน้นตลาดขนาดใหญ่ภายในประเทศ ส่งเสริมการสร้างตลาดและการค้าภายในประเทศที่แข็งแกร่ง พึ่งพาวงจรเศรษฐกิจในประเทศเพื่อพัฒนาจีนสู่ตลาดที่ดึงดูดทรัพยากรจากทั่วทุกมุมโลก และผลักดันให้เกิดการส่งเสริมซึ่งกันและกันของตลาดทั้งในและต่างประเทศ”

        ‘การพัฒนาสีเขียว’ ‘การตั้งเพดานการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุด’ และ‘การตั้งเป้าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์’ ยังเป็นประเด็นที่อาเซียนให้ความสนใจจากการประชุมสองสภาครั้งนี้

        ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 จีนจะมีส่วนร่วมมากขึ้นในการจัดการกับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศ โดยตั้งเป้าว่าในปี 2030 จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 60-65% เมื่อเทียบกับปี 2005 นับเป็นอีกก้าวสำคัญบนเส้นทางการพัฒนาสีเขียวของจีน โดยการพัฒนาสีเขียวจะเป็นกระแสหลักของการพัฒนาในอีก 5 ปีข้างหน้าของจีน

Tags: