Focus

“แผน 5 ปีฉบับที่ 14 จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ”

12

January

2022

22

April

2021

ผศ.ดร.หลี่ เหรินเหลียง ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการพัฒนาสังคม ภาคพิเศษ กรุงเทพฯ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

        ผศ.ดร.หลี่ เหรินเหลียง ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการพัฒนาสังคม ภาคพิเศษ กรุงเทพฯ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า แผน 5 ปีฉบับที่ 14 ( ปี 2021-2025) ของจีนมีความต่อเนื่องจากฉบับที่ 13 โดยมุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพในหลายมิติ  

        ทั้งนี้ ในแผน 5 ปีฉบับนี้ถือเป็นครั้งแรกที่จีนไม่ได้กำหนดเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจเป็นตัวเลขที่ชัดเจนตายตัว มุ่งเน้นที่การเติบโตอย่างมีคุณภาพ มากกว่าตัวเลขการขยายตัวในอัตราสูง แต่ให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม โดยในปี 2021 จีนตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจราว 6% ซึ่งถือเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงสำหรับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

        “ ทิศทางของจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพในหลายมิติ ในแผนฉบับนี้จะเห็นได้ว่าจีนไม่ได้เน้นหนักด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่หันมาทุ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ทั้งด้านการศึกษาและสาธารณสุข ”  

        ในด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในแผน 5 ปีฉบับใหม่ของจีน มี 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ ประกอบด้วย  

  1. เน้นการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ เช่น เครือข่ายการตรวจจับพื้นดินของสภาพแวดล้อมอวกาศ, เครือข่ายสังเกตการณ์ทางวิทยาศาสตร์ก้นทะเล, อุปกรณ์จำลองพื้นดินสภาพแวดล้อมอวกาศ
  2. เน้นการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความล้ำหน้าของโลก เช่น สถานีสังเกตการณ์รังสีคอสมิกระดับความสูง
  3. เน้นการพัฒนาวิทยาศาสตร์เพื่อการใช้ประโยชน์ เช่น แหล่งกำเนิดรังสีซินโครตรอนพลังงานสูง กังหันก๊าซคาร์บอนต่ำประสิทธิภาพสูง ฯลฯ
  4. เน้นการปรับปรุงคุณภาพการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น การวิจัยทางการแพทย์, Biomedicine ข้ามสเกลหลายรูปแบบ, การถ่ายทอดลักษณะทางฟีโนไทป์ของสัตว์แบบจำลอง, วิทยาศาสตร์แผ่นดินไหว ฯลฯ

        “ จากเดิมที่จีนเก่งในด้านการต่อยอดจากหนึ่งไปสิบ แต่ตอนนี้ จีนจะขยับมาอีกขั้นโดยเน้นที่การวิจัยพื้นฐานเพื่อทำให้สามารถเริ่มต้นการพัฒนาจากศูนย์ไปหนึ่ง ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เช่น การผลิตชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์ที่จีนจะหันมามุ่งเน้นมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาคอขวดที่จีนเคยต้องเผชิญจากการพึ่งพาต่างประเทศ” อ.หลี่ กล่าว

        ทั้งนี้ จีนได้เพิ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนามาอยู่ที่ 7% ต่อปีในแผน 5 ปีฉบับที่ 14 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมที่นำมาสู่การจดสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่มีสัดส่วนการจดสิทธิบัตรอยู่ที่ 6.3 รายการ / 1 หมื่นคนในปี 2020 ขยายเพิ่มเป็น  12 รายการ / 1 หมื่นคนในปี 2025 เมื่อสิ้นสุดแผนฯ 14

        “ ในแผนพัฒนาฯฉบับนี้ จีนยังให้ความสำคัญด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีด้านการสื่อสารต่างๆ ทำให้ขนาดของเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และขยายสัดส่วนที่สูงขึ้นในโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีน”

        สำหรับในด้านสังคม แผน 5 ปีฉบับใหม่ของจีนมุ่งเน้นที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน โดยกำหนด อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้สุทธิของประชาชนต้องใกล้เคียงกับอัตราการเพิ่มขึ้นของGDP นอกจากนี้ ยังกำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญคืออัตราการว่างงานที่ต้องลดเหลือน้อยกว่า 5.5% เมื่อถึงปี 2025 

        ขณะที่จำนวนปีการศึกษาที่ได้รับของประชากรวัยแรงงานขยับเพิ่มขึ้นจาก 10.8 ปี ในปี 2020  เป็น 11.3 ปี ในปี 2025 นั่นหมายความว่า ประชาชนจีนจะได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น แม้แต่ในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

        ในมิติการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิต จีนกำหนดเป้าหมายเพิ่มจำนวนแพทย์จาก 2.9 คน/ประชากร 1 พันคน ในปี 2020 เพิ่มเป็น 3.2 คน/ประชากร 1 พันคน ในปี 2025 โดยสัดส่วนของประชาชนที่เข้าถึงประกันสุขภาพและประกันชราภาพปรับเพิ่มขึ้นจาก 91% ในปี 2020 เป็น 95% ในปี 2025 นอกจากนี้ ยังกำหนดอายุคาดหวังเฉลี่ยของประชากรปรับเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี จากเดิม 77.3 ปี ในปี 2020 เพิ่มเป็น 78.3 ปี ในปี 2025  

        ในมิติด้านการพัฒนาสีเขียว จีนมีเป้าหมายที่สำคัญในปี 2025 ได้แก่ กำหนดอัตราลดของการใช้พลังงานต่อหน่วยGDP อยู่ที่ 13.5% ( 5 ปีรวม) ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วย GDP อยู่ที่ 18% ( 5 ปีรวม) และเพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวที่เป็นพื้นที่ป่าไม้เป็น 24.1%

        “ในแผนฉบับนี้ จะเห็นได้ว่าจีนให้ความสำคัญกับพัฒนาอย่างมีคุณภาพในหลายมิติ ทั้งด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ เทคโนโลยี ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การศึกษา คุณภาพชีวิตประชากร ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาวปี 2035 (แผน15 ปี) เพื่อขับเคลื่อนประเทศจีนบรรลุสู่เป้าหมายประเทศสังคมนิยมที่มีทันสมัย มีความแข็งแกร่ง สวยงาม และมีอารยธรรม ในปี 2050”

        ทั้งนี้ ในมุมมองของ อ.หลี่ การเติบโตของจีนถือเป็นโอกาสสำหรับอาเซียนรวมถึงประเทศไทย เมื่อขนาดเศรษฐกิจจีนเติบโต มีความต้องการในการบริโภคมากขึ้น ทำให้เป็นโอกาสสำหรับสินค้าเกษตรของไทยโดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปยังจีน

        นอกจากนี้ เมื่อจีนมีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจทำให้มีแนวโน้มที่จะเห็นการขยายตัวด้านการค้าการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนที่มีความใกล้ชิดกับจีนทั้งด้านภูมิศาสตร์และการสื่อสารสัมพันธ์กันมากกว่าตะวันตก

        การก้าวสู่ผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลกทำให้สินค้าเทคโนโลยีจากจีนมีแนวโน้มที่จะขยายบทบาทมากขึ้นในไทยและอาเซียน ทั้งการขยายตลาดเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น รวมถึงขยายฐานการลงทุนเข้ามาในภูมิภาคนี้ โดยที่จีนเป็นทั้งเจ้าของเงินทุนและเจ้าของเทคโนโลยีของตัวเอง ดังเช่นการขยายการลงทุนของบริษัทรถยนต์จีน เช่น Great Wall Motor และ MG สู่ประเทศไทยที่ปรากฏให้เห็นในช่วงที่ผ่านมา

Tags: