Highlight

‘รถไฟจีน-ลาว’ เชื่อมคุนหมิง-เวียงจันทน์ ดีเดย์เปิดให้บริการ 2 ธ.ค.นี้

12

January

2022

25

August

2021

        “สบายดียินดีต้อนรับขึ้นรถไฟ”จ้าว อิ๋งจิ้ง เจ้าหน้าที่การรถไฟสาขาคุนหมิงพูดทักทายเป็นภาษาลาวได้อย่างคล่องแคล่วระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวหลังจากฝึกฝนภาษาลาวมาประมาณ 1 ปีเพื่อเตรียมให้บริการผู้โดยสายรถไฟจีน - ลาว ความยาวกว่า 1,000 กม.วิ่งเชื่อมระหว่างนครคุนหมิงของจีนกับนครหลวงเวียงจันทน์ของลาว

       ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้ารถไฟจีน-ลาวสายนี้จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธ.ค. 2564 ซึ่งตรงกับวันชาติของสปป.ลาวโดยคาดว่าจะใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 10 ชม.จากเมืองคุนหมิงมาถึงปลายทางนครหลวงเวียงจันทน์ซึ่งอยู่ห่างจากจ.หนองคายของไทยเพียงแค่ 24 กม.

        โครงการรถไฟจีน - ลาวถือเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง(Belt and Road Initiative) ของจีนซึ่งเชื่อมต่อกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของลาวที่ต้องการพลิกโฉมจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลสู่ศูนย์กลางการเชื่อมโยงการขนส่งทางบกในภูมิภาค (from land-locked toland-linked) โดยในอนาคตรถไฟจีน-ลาวจากคุนหมิง-เวียงจันทน์สายนี้จะเชื่อมโยงกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กรุงเทพฯ-หนองคาย)และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะก่อให้เกิดการเชื่อมโยงกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียนแบบไร้รอยต่อในอนาคต

· รถไฟระหว่างประเทศสายประวัติศาสตร์

        เส้นทางรถไฟจีน-ลาว ความยาวกว่า 1,000 กม. จากนครคุนหมิง เมืองเอกมณฑลยูนนานถึงนครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว แบ่งออกเป็น 2 ช่วงได้แก่

ช่วงแรก“คุนหมิง-บ่อหาน”ในเขตประเทศจีนระยะทางความยาวกว่า 500 กม. โดยจีนได้วางเครือข่ายรางรถไฟจากเมืองคุนหมิงมายังเมืองเมืองอวี้ซี ผ่านเมืองผูเอ่อร์ เชียงรุ่ง(สิบสองปันนา)ลงมาถึงชายแดนจีน-ลาวที่เมืองบ่อหาน(ตรงข้ามบ่อเต็นของลาว)

ช่วงที่สอง“บ่อเต็น-เวียงจันทน์”ในเขตประเทศลาว ระยะทางความยาวประมาณ 414 กม. เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาวและจีนมูลค่าการลงทุนประมาณ 6,000 – 6,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.98– 2.24 แสนล้านบาท) โดยฝ่ายจีนถือหุ้น 70% และรัฐบาลลาว30% เป็นรถไฟรางเดี่ยวขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ขนาดรางกว้าง 1.435ม. เชื่อมจากชายแดนลาว-จีน บ่อเต็นแขวงหลวงน้ำทา ผ่านหลวงพระบาง วังเวียง มายังนครหลวงเวียงจันทน์ ประกอบด้วย 32สถานี แบ่งเป็นสถานีสำหรับขนส่งสินค้า 22 สถานีและสถานีสำหรับผู้โดยสาร 10 สถานี ได้แก่ นครหลวงเวียงจันทน์โพนโฮง วังเวียง กาสี หลวงพระบาง เมืองงา เมืองไซ นาหม้อ นาเตย และบ่อเต็น

        ฝ่ายจีนถือหุ้น 70% และรัฐบาลลาว 30% เป็นรถไฟรางเดี่ยวขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าขนาดรางกว้าง 1.435 ม. เชื่อมจากชายแดนลาว-จีน บ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ผ่านหลวงพระบาง วังเวียงมายังนครหลวงเวียงจันทน์ ประกอบด้วย 32 สถานีแบ่งเป็นสถานีสำหรับขนส่งสินค้า 22 สถานีและสถานีสำหรับผู้โดยสาร 10 สถานี ได้แก่ นครหลวงเวียงจันทน์โพนโฮง วังเวียง กาสี หลวงพระบาง เมืองงา เมืองไซ นาหม้อ นาเตย และบ่อเต็น

24 ก.ค.64 ทางรถไฟจีน-ลาวเปิดตัวสถานีรถไฟที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แห่งแรกในเมืองโพนโฮงของลาว

        ขบวนรถไฟลาว-จีนไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง แต่เป็นรถไฟความเร็วปานกลางโดยขบวนรถไฟสำหรับผู้โดยสารกำหนดความเร็ว 160 กม./ชม. ส่วนรถไฟขนส่งสินค้ากำหนดความเร็วไว้ที่ 120 กม./ชม. ทั้งนี้ระบบได้ออกแบบเผื่อไว้สำหรับการเดินทางพื้นที่ราบตั้งแต่วังเวียงถึงเวียงจันทน์ให้สามารถวิ่งได้200 กม./ชม.  

       โครงการรถไฟจีน-ลาวเริ่มก่อสร้างในเดือนธ.ค.2559 ใช้ระยะเวลาการก่อสร้าง5 ปี โดยเส้นทางส่วนใหญ่พาดผ่านพื้นที่ทางภาคเหนือของลาวซึ่งเป็นเทือกเขาสูง

        มากกว่า 60%ของเส้นทางรถไฟเป็นอุโมงค์เจาะผ่านภูเขาและสะพานสูง ตรงจุดบรรจบของรางรถไฟจาก2 ประเทศ เป็นอุโมงค์ลอดภูเขายาว 9.68 กม. ปากอุโมงค์อยู่ที่เมืองบ่อหานในฝั่งจีน ลอดทะลุภูเขามาออกยังเมืองบ่อเต็นในฝั่งลาวอุโมงค์แห่งนี้ถูกตั้งชื่อว่า “อุโมงค์มิตรภาพ”

       โครงการรถไฟจีน-ลาวสายนี้ยังนับเป็นโครงการเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศสายแรกที่เชื่อมต่อกับระบบรถไฟในจีนโดยจีนเป็นผู้ลงทุนและก่อสร้างเป็นหลัก รวมทั้งใช้มาตรฐานเทคโนโลยีและอุปกรณ์ของจีนทั้งหมด

บรรยายภาพ : ภาพขบวนรถไฟ CR200J Fuxing ที่จะนำมาใช้วิ่งเส้นทางจีน-ลาว

        สำหรับขบวนรถไฟที่จะนำมาวิ่งบนเส้นทางคุนหมิง-นครหลวงเวียงจันทน์คือ รถไฟ CR200J Fuxing ความเร็ว

        160 กม./ชม. เทคโนโลยีMade in China ซึ่งพัฒนาโดย CRRC Corporation Ltd. ผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่ที่สุดของจีนโดยราคาตั๋วโดยสารยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการศึกษาและกำหนดราคา

โอกาสและความท้าทายที่ไทยต้องเตรียมพร้อม

       อะไร?จะเกิดขึ้นหลังรถไฟจีน-ลาวเปิดให้บริการ และไทยควรเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการมาถึงของรถไฟสายนี้อย่างไร?  

       ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้เผยแพร่บทความ“​รถไฟจีน-ลาวโอกาสและความท้าทายที่ไทยต้องเตรียมพร้อม”โดยสิรีธร จารุธัญลักษณ์ และอภิชญาจึงตระกูล ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ เมื่อเดือนก.ย.2562 โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจระบุว่า รถไฟจีน-ลาวจะช่วยส่งเสริมทางการค้าการท่องเที่ยว และการลงทุน ลดต้นทุนการขนส่งสินค้าทั้งค่าโดยสารและระยะเวลาจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน มาถึงหนองคายใช้เวลาไม่เกิน 15 ชม. เร็วกว่าทางถนนจากนครคุนหมิงถึงเชียงรายที่ใช้เวลาถึง 2 วัน และจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร คำนวณโดย ธปท.พบว่าจะมีต้นทุนถูกกว่าการขนส่งทางถนนถึง 2 เท่า

       ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีนมากขึ้นคนจีนจะเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยและลาวเพิ่มขึ้น รวมทั้งสินค้าจีนจะมาแข่งขันกับสินค้าไทยในตลาดลาวมากขึ้นด้วย

       หากไทยมีการเตรียมพร้อมในการรับมือเราจะเห็นโอกาสสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ (1) การค้า (2) การบริการและการท่องเที่ยว และ (3) การลงทุนในต่างประเทศ

         ด้านการค้า ไทยจะส่งออกสินค้าไปลาวและจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภครวมถึงผลไม้สดและแปรรูป เพราะสินค้าไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูงและจีนมีกำลังซื้อมหาศาล เฉพาะมณฑลยูนนานมีจำนวนประชากรราว 50 ล้านคน เกือบเท่ากับคนไทยทั้งประเทศ หากเรามีการศึกษาตลาด ไลฟ์สไตล์และความนิยมให้ดี ก็จะทำให้ส่งออกได้มากขึ้น เนื่องจากทั้งคนจีนและคนลาวมีพฤติกรรมที่นิยมสินค้าไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

      ขณะเดียวกันสินค้าจากจีนที่จะเข้ามาปริมาณมากขึ้นจะเป็นโอกาสให้ไทยสามารถใช้สินค้าจากจีนที่มีต้นทุนต่ำมาผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้อีกโดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญจากมณฑลยูนนาน ได้แก่ ผัก ผลไม้ ผ้าผืน เคมีภัณฑ์รวมถึงสินค้าไอทีต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมบางประเภท

        ด้านการบริการและการท่องเที่ยว หากเส้นทางรถไฟเปิดให้บริการคาดว่านักท่องเที่ยวจีนและลาวจะมาเที่ยวไทยได้สะดวกขึ้นซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจบริการ 3 กลุ่มใหญ่ของไทยได้แก่

     (1) กลุ่มบริการสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล นวดแผนไทยหรือสถานเสริมความงาม เพราะความเชื่อมั่นในคุณภาพ และมาตรฐานสาธารณสุขของไทยรวมทั้งการเดินทางและการผ่านแดนที่สะดวก

     (2) กลุ่มห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และโรงแรมเนื่องจากราคาสินค้าและบริการถูกอีกทั้งอาหารและเครื่องดื่มของไทยยังเป็นที่นิยมของทั้งชาวจีนและลาว

     (3) กลุ่มสถานศึกษาและโรงเรียนสอนภาษาทั้งภาคกลางและภาคอีสานซึ่งมีศักยภาพรองรับนักศึกษาจีนได้มากขึ้นและยังมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่มาจากมณฑลยูนนานและกว่างซีซึ่งอยู่ไม่ไกลจากแนวรถไฟเนื่องจากสถานศึกษาในจีนมีไม่เพียงพอและค่าเรียนในไทยไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

     ขณะเดียวกันคาดว่านักท่องเที่ยวไทยจะไปเที่ยวลาวและจีนได้สะดวกมากขึ้นเพราะเดินทางด้วยรถไฟจะเร็วกว่าการนั่งรถโดยสาร และราคาถูกกว่าขึ้นเครื่องบินเส้นทางที่รถไฟสายนี้ผ่านก็เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของลาวทั้งวังเวียงและหลวงพระบางจุดหมายปลายทางยังเป็นจุดเชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยวไปยังเมืองอื่น ๆในจีนได้อีกด้วย

         ด้านการลงทุนในต่างประเทศ คาดว่าธุรกิจไทยจะสามารถออกไปลงทุนและขยายธุรกิจผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงในลาวเพื่อขยายฐานการค้าในลาวและส่งออกไปยังจีนตอนใต้ เช่น สินค้าสุขภาพสินค้าออร์แกนิก สินค้าเกษตรแปรรูป รวมไปถึงภาคบริการที่ไทยมีความชำนาญอยู่แล้วเช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการบริหารจัดการโรงแรม เนื่องจากพื้นที่แขวงทางตอนเหนือของลาวที่ติดจีนมีศักยภาพทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และมีเขตเศรษฐกิจพิเศษของลาวตั้งอยู่ปัจจุบันจึงมีทั้งทุนจีนและทุนไทยขนาดใหญ่เข้าไปลงทุนบ้างแล้ว

      ดังนั้นเพื่อสร้างโอกาสและรับมือกับความท้าทายจากโครงการรถไฟจีน-ลาว ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ที่ต้องทำธุรกิจแข่งกับจีนจำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธ์เน้นจุดขายที่การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการรวมถึงการพัฒนาบุคลากรของตนทั้งในด้านทักษะและการสื่อสาร

        ขณะที่ภาครัฐควรช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและคนท้องถิ่นได้รับโอกาสจากโครงการนี้โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคเทคโนโลยีสื่อสารที่ล้ำหน้า ระบบการชำระเงิน กฎระเบียบที่เอื้อต่อการค้าและการเสริมสร้างทักษะให้กับคนในพื้นที่ อาทิส่งเสริมระบบการชำระเงินแบบไร้เงินสดในภูมิภาคให้มากขึ้นเพราะคนจีนค้าขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักส่งเสริมให้บุคลากรมีความรู้ด้านภาษาจีน ดูแลสถานที่ท่องเที่ยว สถานบริการต่าง ๆให้มีมาตรฐานพร้อมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงลดขั้นตอนกระบวนการทางศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจและขนส่งสินค้าเพื่อให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันพร้อมรับกับโอกาสที่เข้ามาอย่างรวดเร็วนี้

มุมมองจากผู้ประกอบการภาคเอกชน

        ด้าน ดร. จตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย- ลาว และประธานกรรมการที่ปรึกษาสมาคมนักธุรกิจไทยใน สปป.ลาวกล่าวถึงความคืบหน้าและมุมมอง“logistics เส้นทางรถไฟ ลาว - จีนกับโอกาสของไทย”ผ่าน Podcast สถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์(IBERD) ว่า“จากข้อมูลของกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาวเส้นทางรถไฟจีน - ลาว เชื่อมคุนหมิง-เวียงจันทน์ จะมีการเดินรถวันละ 18 ขบวน โดย 14 ขบวนเป็นการขนส่งสินค้า และ 4 ขบวนเป็นการขนส่งผู้โดยสาร ขบวนละ 600 คน เท่ากับว่าในแต่ละวันจะมีผู้โดยสารเดินทางสัญจรถึงกันได้2,400 คนต่อวัน

ดร. จตุรงค์บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย - ลาว และประธานกรรมการที่ปรึกษาสมาคมนักธุรกิจไทยใน สปป.ลาว

       “ต่อไปเราจะสามารถนั่งรถไฟจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปถึงชายแดนลาวที่บ่อเต็นโดยใช้เวลา 3 ชม. ต่อจากนั้นใช้เวลาอีก 6 ชม.ก็จะสามารถเดินทางต่อไปถึงคุนหมิงรวมแล้วเท่ากับใช้เวลาประมาณ 9 ชม.ในการเดินทางจากเวียงจันทน์ไปถึงคุนหมิง” ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว ฉายภาพให้เห็นถึงประสบการณ์การเดินทางใหม่ที่จะเกิดขึ้นแน่นอนว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังการเปิดเส้นทางขนส่งสายใหม่ คือทัพสินค้าจีนที่จะหลั่งไหลเข้ามาสู่ภูมิภาคนี้มากขึ้นแต่ในทางกลับกัน หากมองเป็นโอกาสเส้นทางรถไฟจีน-ลาวสายนี้ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้สินค้าไทยส่งไปขายในตลาดจีนได้ด้วยเช่นกัน

      “การเปิดใช้เส้นทางรถไฟจีน- ลาวที่จะมีการขนส่งผู้โดยสาร 2,400 คนต่อวัน ถือเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวและบริการรวมถึงธุรกิจด้านสุขภาพและการแพทย์ ที่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับชาวจีนที่จะเดินทางเข้ามามากขึ้นนอกจากนี้ ยังถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจเรียลเอสเตท เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับนักธุรกิจจีนที่จะหลั่งไหลเข้ามาทำธุรกิจมากขึ้นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของลาวและเดินทางกลับมาพักอาศัยในไทยที่หนองคาย และอุดรธานี”

        อย่างไรก็ตามในขณะที่เส้นทางรถไฟจากคุนหมิงถึงเวียงจันทน์กำลังจะเปิดใช้บริการในเดือนธ.ค.ปีนี้แต่โครงการรถไฟความเร็วสูงของไทยเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย)ของไทยเพิ่งจะอยู่ในช่วงเริ่มต้นโดยคาดว่าต้องใช้เวลาอีก 8 ปีจึงแล้วแล้วเสร็จพร้อมเชื่อมต่อกับรถไฟจีน-ลาว ในปี 2572

       การจะทำให้เส้นทางรถไฟจีน-ลาวสายนี้เป็นโอกาสของไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเร่งแก้ไขอุปสรรคที่สำคัญนั่นคือ ปัญหา Missing Link ที่ยังขาดจุดเชื่อมต่อกันระหว่างไทยกับรถไฟจีน-ลาว ซึ่งรัฐบาลไทยและลาวต้องเร่งเจรจาร่วมกันเพื่อแก้ปัญหานี้เพื่อให้เกิดความชัดเจน

        “สิ่งสำคัญที่ผมคิดว่าต้องเร่งผลักดันก่อนในตอนนี้ คือ การก่อสร้างสะพานรถไฟที่เป็นสะพานคู่ขนานกับสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถบริหารจุดกระจายสินค้าที่หนองคายได้ทันทีดีกว่าจะรอจนกว่ารถไฟความเร็วสูงของไทยแล้วเสร็จในอีก8 ปีข้างหน้า โดยขณะนี้ภาคเอกชนได้ร่วมกันเร่งผลักดันการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับทำเป็นศูนย์กระจายสินค้าและศูนย์โลจิสติกส์ที่หนองคายซึ่งได้มีการพูดคุยกันในระดับแผนของจังหวัดเรียบร้อยแล้ว”  ประธานสภาธุรกิจไทย – ลาว กล่าว พร้อมทั้งฝากทิ้งท้ายว่า การแผ่ขยายอิทธิพลด้านการค้าการลงทุนของจีนเป็นสิ่งที่ไทยยากจะหลีกเลี่ยงทางเลือกที่ดีที่สุดจึงต้องมองว่าเราจะอยู่ร่วมกับกระแสทุนจีนที่จะหลั่งไหลเข้ามาได้อย่างไรโดยประสานผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทย ลาวและจีน ให้เติบโตไปด้วยกันแบบวิน-วินกับการมาถึงของทางรถไฟระหว่างประเทศสายประวัติศาสตร์เส้นนี้

Tags: