Highlight

จีนกับการแก้ปัญหาวิกฤตพลังงาน ผ่านมุมมองผู้เชี่ยวชาญชาวไทย

12

January

2022

20

November

2021

        วิกฤตพลังงานในจีนจะคลี่คลายอย่างไร? และมีประเด็นใดบ้างที่น่าสนใจติดตามจากการเข้ามาจัดการปัญหาของรัฐบาลจีน ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้เข้ามาบริหารจัดการหลายส่วนทำให้ระดับความรุนแรงของปัญหาเริ่มคลี่คลาย ทั้งการเพิ่มสต๊อกถ่านหินในประเทศ โดยสั่งการให้ 3 มณฑลหลัก ได้แก่ ซานซี ส่านซี และมองโกเลียใน เพิ่มกำลังการผลิตถ่านหินจนถึงสิ้นสุดฤดูหนาวเดือนมี.ค.2565 เพื่อให้มั่นใจแน่นอนได้ว่าประชาชนจะมีกระแสไฟฟ้าใช้เพียงพอ ควบคู่กับการเร่งจัดหาถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน ได้ต่อสายตรงกับนายกรัฐมนตรีของมองโกเลีย เพื่อนำเข้าถ่านหินเพิ่มขึ้น

สินค้าที่จีนมีการจำกัดการผลิต ได้แก่ กลุ่มสินค้าที่ใช้พลังงานสูง ก่อให้เกิดมลพิษมาก หรือไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มที่เหมาะสม อาทิ เหล็ก อะลูมิเนียม ปูนซีเมนต์ สารเคมี ฟอกย้อม
ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

        ล่าสุด รัฐบาลจีนยังได้ไฟเขียวให้มีการปรับราคาค่าไฟเพิ่มขึ้นในส่วนภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้สะท้อนกลไกตลาดมากขึ้น โดยกำหนดเพดานไว้ที่ไม่เกิน 20% แต่ยังคงตรึงราคาค่าไฟในภาคครัวเรือนไว้ที่ระดับเดิม

        ไม่เพียงแต่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในระยะสั้น แต่รัฐบาลจีนยังอาศัยจังหวะโอกาสในการปรับโครงสร้างพลังงานควบคู่กันไปด้วย เพื่อสอดรับแผนระยะยาวที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานฟอสซิลและปลดปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์สูงสุดในปี 2030 และบรรลุความเป็นกลางด้านคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2060 ในส่วนนี้ จีนมีการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่เป็นพลังสะอาดมาเพิ่มขึ้น โดยเจรจาเดินท่อก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีกสายหนึ่งจากรัสเซีย นอกจากนี้ ยังเดินหน้าทุ่มวิจัยพัฒนา และลงทุนในพลังงานสีเขียวต่างๆมากขึ้น

        ดร.ไพจิตร วิเคราะห์ว่า วิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นครั้งนี้ นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่เราเห็นรัฐบาลจีนยอม “กลืนเลือด” ไม่ผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตแรง แต่เลือกที่จะ “ผ่อนคันเร่ง” และหันมาให้ความสำคัญกับการลดการใช้ถ่านหิน ซึ่งยังอยู่ในระดับที่สูงถึง 60% ของการใช้พลังงานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของจีน เพราะหากไม่เริ่มคุมเข้มการใช้พลังงานฟอสซิลแต่เนิ่นๆ จีนก็อาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายแรกในปี 2030 ได้

        “ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ธุรกิจในจีนที่ไม่ได้รับการจัดสรรการใช้พลังงานในช่วงหลัง ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มน้อย ที่ผ่านมาจากราคาพลังงานและค่าระวางเรือที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้จีนต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น เราจะเห็นจีนเริ่มจำกัดการผลิตสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ โดยมุ่งเน้นผลิตเพื่อป้อนภายในประเทศเป็นหลัก เพราะต้องการเห็นฐานการผลิตในประเทศสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในระดับที่เหมาะสม

        สินค้าที่จีนมีการจำกัดการผลิต ได้แก่ กลุ่มสินค้าที่ใช้พลังงานสูง ก่อให้เกิดมลพิษมาก หรือไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มที่เหมาะสม อาทิ เหล็ก อะลูมิเนียม ปูนซีเมนต์ สารเคมี ฟอกย้อม ถ้าผลิตแล้วส่งออกไม่ได้ราคา จีนไม่ผลิต เมื่อซัพพลายสินค้าลดลง แต่ความต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ในที่สุดราคาสินค้าจะปรับราคาสูงขึ้น นั่นหมายความว่า จีนในฐานะผู้ผลิตก็จะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น และมีอำนาจต่อรองที่มากขึ้น  ตรงนี้เป็นแง่มุมเชิงเศรษฐกิจที่น่าสนใจมาก “ดร.ไพจิตร วิเคราะห์ พร้อมทั้งประเมินว่า แม้วิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นครั้งนี้จะกระทบเศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่ลดลง แต่จากผลงานเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้จีน “ลอยตัว” ในด้านผลกระทบเศรษฐกิจ หากเศษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังของปีขยายตัว 4-5% เราก็น่าจะเห็นเศรษฐกิจจีนในปีนี้เติบโตในอัตรา 8% สูงกว่าอัตราเติบโตที่จีนคาดหวังไว้ที่ 6%

Tags: