China 360°

2021 ปีแห่งเทคโนโลยีอวกาศของจีน

27

January

2022

23

December

2021

        ปีนี้ถือเป็นปีที่จีนโชว์ฟอร์มความสำเร็จในห้วงอวกาศสู่สายตาชาวโลกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การสร้างประวัติศาสตร์เป็นชาติที่สองของโลกที่ส่งยานลงจอดดาวอังคารได้สำเร็จ ไปจนถึงส่งนักบินอวกาศออกไปปฏิบัติการก่อสร้าง“สถานีอวกาศเทียนกง”นอกโลก

        ก่อนหน้านั้นเมื่อปีที่แล้ว “ยานฉางเอ๋อ-5”ของจีนยังเพิ่งคว้าชัยในการนำตัวอย่างหินและดินจากดวงจันทร์กลับสู่โลกได้สำเร็จ ขณะที่ตลอดทั้งปีมานี้ จีนได้ทำการปล่อยยานอวกาศและส่งดาวเทียมออกไปนอกโลกทุกเดือนรวมแล้วกว่า 47 ครั้ง อาทิ ดาวเทียมซีเหอ (Xihe) ดาวเทียมสำรวจดวงอาทิตย์ดวงแรก, ดาวเทียมจงซิง-9 บี (Zhongxing-9B) ดาวเทียมส่งสัญญาณโทรทัศน์โดยตรงดวงใหม่, ดาวเทียมกว่างมู่ หรือ SDGSAT-1 ‘ดาวเทียมวิทยาศาสตร์’ดวงแรกของโลก ตอกย้ำความเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศรายใหม่ของโลก

ฝันไกลสู่ห้วงอวกาศของจีน

        จุดเริ่มต้นความฝันที่จะมุ่งสู่อวกาศของจีนเริ่มขึ้นในยุคประธานเหมา เจ๋อตง หลังจากที่สหภาพโซเวียตสามารถส่งดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่วงโคจรของโลกในปี ค.ศ. 1957 โดยครั้งนั้นประธานเหมาได้ประกาศว่า “เราจะสร้างดาวเทียมด้วยเช่นกัน”

        13 ปีให้หลัง จีนส่งดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จในปีค.ศ.1970 แต่กว่าที่จีนจะส่งนักบินอวกาศไปนอกโลกได้สำเร็จก็ต้องใช้เวลาหลังจากนั้นถึง 3 ทศวรรษ โดยนักบินอวกาศคนแรกของจีนคือ “หยาง ลี่เหว่ย” ที่ขึ้นสู่ห้วงอวกาศสำเร็จพร้อมกับยานเสินโจว-5 ในปี ค.ศ.2003 นับจากนั้นภารกิจอวกาศของจีนก็รุดหน้ามาอย่างต่อเนื่อง  

        ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้ทุ่มเททั้งความมุ่งมั่นและงบประมาณมหาศาลในการดำเนินโครงการด้านอวกาศ จนสามารถก้าวทันประเทศมหาอำนาจอื่นได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายขึ้นเป็นผู้นำในด้านอวกาศของโลกภายในปี ค.ศ. 2049

        ความสำเร็จของจีนในด้านอวกาศที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา เช่น ภารกิจเดินทางไปทั้งดวงจันทร์และดวงอังคาร โครงการการบินอวกาศพร้อมมนุษย์ โครงการดาวเทียมนำร่องเป๋ยโต่ว การปล่อยจรวดที่มีแรงยกตัวสูง และวิศวกรรมระบบการบินอวกาศของจีน ฯลฯ

        นับตั้งแต่การประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ครั้งที่ 18 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ร่วมด้วยเลขาธิการใหญ่แห่งคณะกรรมการกลาง CPC ได้มีคำสั่งให้เริ่มดำเนินโครงการหลัก ๆ ในด้านการบินอวกาศ และสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อให้จีนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านการบินอวกาศ

        "การสำรวจอวกาศอันกว้างใหญ่ไพศาล การพัฒนาโครงการด้านอวกาศ และการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศ เป็นความฝันที่เราไล่ตามมาตลอด" ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกล่าวในวันอวกาศแห่งชาติจีนซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 เม.ย.2559

“เทียนกง” สถานีอวกาศจีนแห่งใหม่

        ไม่เพียงสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคาร แต่จีนยังมุ่งมั่นที่จะสร้างสถานีอวกาศเป็นของตนเองในชื่อ “สถานีอวกาศเทียนกง” ที่แปลว่า “พระราชวังบนสรวงสวรรค์” เพื่อหยัดยืนด้วยขาตัวเองอย่างมั่นคง ส่วนหนึ่งยังมาจากแรงผลักดันจากการถูกสหรัฐฯบอยคอต ไม่ให้จีนเข้าร่วมในโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ(ISS) สถานีอวกาศหนึ่งเดียวที่โคจรอยู่ในอวกาศ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ, รัสเซีย, แคนาดา, ยุโรป และญี่ปุ่น

        29 เม.ย.2564 จีนประสบความสำเร็จในการปล่อยจรวด Long March-5B Y2 ซึ่งบรรทุกชิ้นส่วนของสถานีอวกาศที่เป็นโมดูลหลักชื่อว่า“เทียนเหอ”ขึ้นสู่วงโคจร นับเป็นการเปิดฉากภารกิจแรกจากทั้งหมด 11 ภารกิจที่จีนวางแผนไว้ในการก่อสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่ ซึ่งประกอบด้วยการขนส่งโมดูลชิ้นส่วนต่างๆ สัมภาระสิ่งของจำเป็น และการส่งยานเสินโจวพร้อมนักบินอวกาศเข้าไปประจำการ เพื่อก่อสร้างสถานีอวกาศให้แล้วเสร็จและเปิดใช้ภายในปี 2565

“ การก่อสร้างสถานีอาวกาศและห้องปฏิบัติการอวกาศแห่งชาติถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญในการบรรลุยุทธศาสตร์ “3 ก้าว”ของภารกิจการบินอวกาศโดยใช้มนุษย์ควบคุม”

        17 มิ.ย.2564 จีนประสบความสำเร็จในการส่งยานเสินโจว-12 พร้อมทีมนักบินอวกาศชุดแรก 3 คน เนี่ยไห่เซิ่ง, หลิวโป๋หมิง และ ทังหงโป ขึ้นสู่วงโคจร เพื่อปฏิบัติภารกิจยาวนาน 3 เดือน บนโมดูลหลัก “เทียนเหอ”ของสถานีอวกาศเทียนกงซึ่งอยู่ระหว่างการสร้าง นับเป็นการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่วงโคจรครั้งแรกในรอบ 5 ปีของจีน และยังถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่เคยมีชาวจีนขึ้นไปปฏิบัติงานในสถานีอวกาศมาก่อน

        ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า การก่อสร้างสถานีอาวกาศและห้องปฏิบัติการอวกาศแห่งชาติถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญในการบรรลุยุทธศาสตร์ “3 ก้าว”ของภารกิจการบินอวกาศโดยใช้มนุษย์ควบคุม รวมถึงโครงการสำคัญที่มีเป้าหมายยกระดับความแข็งแกร่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนรวมถึงด้านอวกาศ

        ทั้งนี้ โครงการการบินอวกาศพร้อมมนุษย์ของจีนเริ่มต้นขึ้นในทศวรรษ 1990 ตามยุทธศาสตร์ “3 ก้าว” ปัจจุบันได้เข้าสู่ก้าวที่ 3 กล่าวคือ “การสร้างสถานีอวกาศ โดยจะตอบโจทย์การประยุกต์ใช้ทางอวกาศ โดยมีคนดูแลสถานีอวกาศในระยะยาว”

        หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ สถานีอวกาศเทียนกงที่โคจรอยู่ใกล้โลกจะกลายเป็นฐานที่มั่นและสถานที่อยู่อาศัยของนักบินอวกาศในระยะยาว และเป็นสถานที่ปฏิบัติภารกิจของนักบินอวกาศผู้ดูแลรักษาอุปกรณ์ ซ่อมบำรุง และยืดอายุการใช้งานสถานีอวกาศ

        17 ก.ย.2564 ทีมนักบินอวกาศชุดแรกในภารกิจเสินโจว-12 กลับถึงโลกปลอดภัยหลังบรรลุภารกิจยาวนาน 3 เดือน ซึ่งมีทั้งการปฏิบัติภารกิจนอกยานอวกาศ 2 ครั้ง และทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอวกาศมากมาย รวมถึงการทดสอบเทคโนโลยีหลักสำหรับการก่อสร้างและการดำเนินงานของสถานีอวกาศ การอาศัยอยู่ในอากาศเป็นเวลานานของนักบินอวกาศ ระบบรีไซเคิลและระบบช่วยชีวิตให้สามารถอยู่รอดในอวกาศ

        ขณะที่อุปกรณ์ทั้งหมด เช่น ชุดอวกาศนอกยานและแขนกลรุ่นใหม่ที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการสนับสนุนอื่นๆ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การเข้าเทียบท่าอัตโนมัติที่รวดเร็ว นับเป็นการวางรากฐานที่สำคัญสำหรับภารกิจอวกาศในอนาคต

เสินโจว-13 กับภารกิจนักบินอวกาศที่ยาวนานที่สุดของจีน

        15 ต.ค.2564 จีนประสบความสำเร็จในการส่งทีมนักบินอวกาศชุดที่ 2 พร้อมด้วยยานเสินโจว-13 ขึ้นสู่วงโคจร เพื่อสานต่อภารกิจก่อสร้างสถานีอวกาศเทียนกง โดยทีมนักบินอวกาศ 3 คน ประกอบด้วย ไจ๋ จื้อกัง, เย่ กวงฟู่ และหวัง ย่าผิง ซึ่งถือเป็นผู้หญิงคนแรกของจีนที่ได้เดินทางไปยังสถานีอวกาศ โดยนักบินทั้ง 3 คน จะใช้เวลาอยู่นอกโลกเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งนับว่าเป็นภารกิจในอวกาศที่นานที่สุดของประเทศจีน

        ในระหว่างการใช้ชีวิต 6 เดือนในห้วงอวกาศ นักบินอวกาศทั้งสามในภารกิจเสินโจว-13 จะทดสอบและตรวจสอบเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการประกอบสถานีอวกาศแห่งใหม่ รวมทั้งทดลองทางวิทยาศาสตร์อีกหลายอย่าง เช่น การทดลองด้านการแพทย์ในอวกาศ และการศึกษาทางฟิสิกส์ในสภาวะความโน้มถ่วงต่ำ

        หลังจากการกลับสู่โลกของนักบินอวกาศในภารกิจเสินโจว-13 ในเดือนเม.ย.ปีหน้า จีนวางแผนจะเดินหน้าอีก 6 ภารกิจถัดไป ประกอบด้วย ภารกิจส่งนักบินอวกาศขึ้นมาอีก 2 ครั้ง (เสินโจว-14 และเสินโจว-15) ภารกิจส่งยานเทียนโจวพร้อมสัมภาระอีก 2 ครั้ง และการส่งส่งโมดูลห้องปฏิบัติการเวิ่นเทียน (Wentian) และเมิ่งเทียน (Mengtian) มาเชื่อมต่อกับโมดูลเทียนเหอ เพื่อประกอบสถานีอวกาศเทียนกงให้เสร็จสมบูรณ์ในปีหน้า  โดยสถานีอวกาศแห่งนี้จะมีรูปร่างเหมือนตัว T คล้ายกับคำว่า “干” ในตัวอักษรจีน” มีน้ำหนักประมาณ 70 ตัน มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบากว่าสถานีอวกาศ ISS หลายเท่า สามารถรองรับมนุษย์อวกาศได้ 3 คนสำหรับอาศัยในระยะยาว และ 6 คนสำหรับอาศัยในระยะสั้น โดยคาดว่าสถานีอวกาศแห่งใหม่จะมีอายุการใช้งานอย่างต่ำไม่น้อยกว่า 10 ปี และเนื่องจากสถานีอวกาศนานาชาติ ISS กำลังจะปลดระวางในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทำให้สถานีอวกาศเทียนกงของจีนจะกลายเป็นสถานีเดียวในวงโคจรของโลกในอนาคตอันใกล้

        สำหรับวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่ครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การก่อสร้างและการควบคุมเครื่องมือขนาดใหญ่ต่าง ๆ ในอวกาศ รวมถึงทดลองและพัฒนาความรู้ใหม่ๆบนอวกาศได้อย่างเต็มที่ เช่น การปลูกพืชบนอวกาศ การปรับตัวและใช้ชีวิตประจำวันในอวกาศเป็นเวลานาน ตลอดจนเพิ่มพูนเทคโนโลยีและประสบการณ์ให้กับการสำรวจห้วงอวกาศลึก (Deep Space) ของจีนในอนาคต

        นอกจากนี้ จีนยังคาดการณ์ว่าสถานีอวกาศแห่งนี้จะสร้างประโยชน์แก่การพัฒนาและการใช้ทรัพยากรอวกาศอย่างสันติผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยโครงการสถานีอวกาศใหม่แห่งนี้ จีนระบุว่าพร้อมเปิดรับความร่วมมือจากต่างชาติ ซึ่งหมายถึงการรับหน้าที่เป็นเจ้าบ้านทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ และในระยะยาวอาจมีการเปิดให้นักบินอวกาศชาติอื่นเดินทางเยือนสถานีอวกาศของจีนด้วย

ก้าวแรกบนดาวอังคาร สู่ก้าวต่อไปที่ยิ่งใหญ่ในอวกาศของจีน  

        นอกจากภารกิจก่อสร้างสถานีอวกาศเทียนกง อีกหนึ่งหลักชัยในโครงการอวกาศที่สำคัญของจีนในปีนี้ คือ การส่งยานอวกาศร่อนลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จเป็นชาติที่ 2 ของโลก

        องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ตั้งชื่อภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งแรกของจีนว่า “เทียนเวิ่น-1” (Tianwen-1) มีความหมายว่า “คำถามต่อสรวงสวรรค์” ซึ่งบ่งบอกเป็นนัยได้ถึงความมุ่งมั่นของจีนในการพยายามหาคำตอบของคำถามเกี่ยวกับดาวอังคาร ที่มีหลักฐานยืนยันว่าเคยมีน้ำ นำไปสู่การสันนิษฐานของเหล่านักวิทยาศาสตร์ถึงความเป็นไปได้ว่าอาจเคยมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวเคราะห์ดวงนี้

        ภารกิจส่งยานสำรวจดาวอังคารเทียนเวิ่น-1 สู่อวกาศเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 โดยยานดังกล่าวประกอบด้วยยานโคจร ยานลงจอด และยานสำรวจพื้นผิว“จู้หรง”ซึ่งตั้งชื่อตามเทพแห่งไฟ อันสื่อถึงการจุดไฟแห่งการสำรวจดาวเคราะห์ของจีน และยังพ้องกับคำว่า ‘หั่วซิง’ (Huoxing) ชื่อดาวอังคารในภาษาจีนที่แปลว่า “ดาวแห่งไฟ”

        หลังออกเดินทางจากโลกมานานกว่า 9 เดือน ในที่สุด “จู้หรง”ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของจีนก็สามารถสร้างประวัติศาสตร์ลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จบนพื้นที่ ‘ยูโทเปีย แพลนนิเทีย (Utopia Planitia)’ ทางซีกเหนือของดาวอังคาร เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2564

        ภารกิจของยาน “จู้หรง” คือ การสำรวจสภาพแวดล้อมบนดาวอังคารโดยใช้กล้องนำทางบันทึกภาพทางภูมิศาสตร์ และทำหน้าที่เก็บข้อมูลภูมิประเทศตลอดเส้นทางเพื่อเลือกเป้าหมายในการตรวจสอบขณะเรดาร์ตรวจใต้พื้นผิวสำรวจรวบรวมข้อมูลโครงสร้างชั้นใต้พื้นผิวดาวอังคาร และวิเคราะห์โครงสร้างพื้นผิวระดับตื้น รวมถึงสำรวจความเป็นไปได้ที่จะพบน้ำใต้ดินและน้ำแข็ง

        ภารกิจการสำรวจดาวอังคารครั้งนี้ ไม่เพียงมุ่งตรวจสอบว่า มีหรือเคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนดาวอังคารหรือไม่ แต่ยังเปิดเผยประวัติศาสตร์วิวัฒนาการและกระแสการพัฒนาของโลกในอนาคต ตลอดจนตรวจสอบความเป็นไปได้ในการสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยสำหรับมนุษย์ด้วย นอกจากนี้ยังนับเป็นภารกิจแรกของโลกที่มีการโคจร ลงจอด และสำรวจพื้นผิวดาวอังคารสำเร็จในภารกิจเดียว โดยเมื่อนับถึงวันที่ 30 ส.ค.ยานจู้หรงซึ่งเป็นยาน 6 ล้อ ใช้พลังงานโซลาร์ ได้เดินทางสำรวจบนพื้นผิวดาวอังคารเป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตรแล้ว

        ทั้งนี้ จีนตั้งเป้าหมายจะส่งยานอวกาศพร้อมมนุษย์ไปยังดาวอังคารเป็นครั้งแรกในปีค.ศ. 2033 และจะมีเที่ยวบินไปยังดาวอังคารอย่างสม่ำเสมอต่อไปอย่างน้อยอีก 2 ครั้งจนถึงปี ค.ศ. 2037 ภายใต้แผนระยะยาวในการสร้างฐานที่สามารถอยู่อาศัยบนดาวอังคารได้เป็นการถาวร

จีนจับมือรัสเซียเดินหน้าสำรวจดวงจันทร์

        ในปีนี้ทั่วโลกยังจับตาความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในการจับมือร่วมกันระหว่างจีนกับรัสเซีย ซึ่งได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการร่วมสร้าง “สถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ” (International Lunar Research Station : ILRS) เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2564 โดยจะเปิดกว้างให้ประเทศที่สนใจสามารถเข้าถึงได้  

        นอกจากนี้ หากโครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์ดำเนินไปอย่างสำเร็จ จะส่งผลให้จีนขยับเข้าใกล้ความสำเร็จอีกขั้นในการนำยานอวกาศที่มนุษย์ควบคุมลงจอดบนดวงจันทร์

        “จีนกับรัสเซียจะใช้ประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์อวกาศที่สั่งสมมา การวิจัยและการพัฒนา รวมถึงอุปกรณ์และเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อร่วมกันวางโรดแมปสำหรับสร้างสถานีวิทยาทางวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศบนดวงจันทร์ (ILRS)” องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA)ระบุ

        ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 การประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ชุดที่ 13 ครั้งที่ 4 ได้มีการลงมติเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี (2564-2568) ฉบับที่ 14 และเป้าหมายระยะยาวปี ค.ศ.2035 ตามโครงร่าง โดยประเทศจีนจะดำเนินงานโครงการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ระดับประเทศจำนวนมาก เช่น โครงการสำรวจดวงจันทร์ระยะที่4 ที่จะมุ่งการสำรวจบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ผ่านภารกิจของยานสำรวจฉางเอ๋อ-6, ฉางเอ๋อ-7 และฉางเอ๋อ-8

        นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ยังได้ประกาศว่า ภายในปี ค.ศ.2030 จีนตั้งเป้าจะดำเนินภารกิจในโครงการสำรวจดาวเคราะห์ซึ่งประกอบด้วย 1. ภารกิจเก็บตัวอย่างวัตถุจากดาวอังคารกลับมายังโลก 2. ภารกิจสำรวจระบบดาวพฤหัสบดี และ 3. ภารกิจสำรวจดาวเคราะห์น้อย

        ไม่เพียงเท่านั้น คณะนักวิทยาศาสตร์จีนยังกำลังประเมินความเป็นไปได้ของโครงการส่งยานอวกาศไปยัง “สุดขอบระบบสุริยะ” ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 1.5 หมื่นล้านกิโลเมตร ภายในปี ค.ศ.2049 ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน  

        ทั้งหมดนี้นับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญของวงการอวกาศจีนในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งคงต้องรอติดตามกันต่อไปว่า ความฝันในการสำรวจอวกาศอันกว้างใหญ่ไพศาลจีนจะพัฒนาต่อไปได้ไกลถึงแค่ไหนในฐานะมหาอำนาจด้านอวกาศรายใหม่ที่ทั่วโลกให้การจับตา

Tags: