Highlight

จีนเดินหน้าส่งเสริม Cross-Border E-Commerce

29

April

2022

20

March

2022

        ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน หรือ Cross-Border E-Commerce (CBEC) ของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว กลายเป็นจุดโดดเด่นใหม่ในการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งของการเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

        จากสถิติของกรมศุลกากรจีน ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนขยายตัว 10 เท่าในช่วง 5 ปี  และในปี 2021 เพียงปีเดียว การนำเข้าและส่งออกอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนเพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่าแตะ 1.98 ล้านล้านหยวน

        ขณะที่ผลสำรวจของบริษัท Media Research บริษัทที่ปรึกษาการตลาดชื่อดังของจีน ระบุว่า ในปี 2021 ผู้บริโภคจีนร้อยละ 65.3 ใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนซื้อสินค้าบ่อยขึ้น โดยมีแพลตฟอร์ม Tmall Global และแพลตฟอร์ม Kaola.com ที่ครองส่วนแบ่งตลาดอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนมากที่สุดร้อยละ 26.7 และร้อยละ 22.4 ตามลำดับ ขณะที่แพลตฟอร์ม JD Worldwide และแพลตฟอร์ม Suning International ครองส่วนแบ่งตลาดอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนประมาณร้อยละ 10

        นับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ทางการจีนได้จัดตั้งพื้นที่ทดลองการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจำนวน 105 แห่งทั่วประเทศ พร้อมทั้งเดินหน้านโยบายสนับสนุนการพัฒนา Cross-Border E-Commerce อย่างต่อเนื่อง

        ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา สภารัฐกิจของจีนได้ออกประกาศอนุมัติการจัดตั้ง "เขตนำร่องอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน" เพิ่มเติมใน 27 เมืองและเขตพื้นที่ อาทิ เมืองเอ้อเอ่อร์ตัวซือ มองโกเลียใน, เมืองหยางโจว เมืองเจิ้นเจียง มณฑลเจียงซู, เมืองจินหัว มณฑลเจ้อเจียง, เมืองหม่าอันซาน มณฑลอันฮุย, เมืองจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี, เมืองรื่อจ้าว มณฑลซานตง, เมืองเซียงหยาง มณฑลหูเป่ย, เมืองเฉาโจว(แต้จิ๋ว) มณฑลกวางตุ้ง, เมืองเป่าจี มณฑลส่านซี, เมืองคัชการ์ ซินเจียงอุยกูร์ ฯลฯ  ส่งผลให้เขตนำร่องอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน ขยายจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 132 แห่ง ครอบคลุม 30 มณฑล/เมือง/เขตพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงทั้งทางบกทางทะเเลและทั้งภายในและภายนอก เกิดเป็นรูปแบบการพัฒนาที่พื้นที่ฝั่งตะวันตกและตะวันออกช่วยเสริมซึ่งกันและกัน

        "อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน เป็นรูปแบบใหม่ของการค้าระหว่างประเทศที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีศักยภาพและมีแรงขับเคลื่อนที่แข็งแกร่งที่สุด และยังอยู่ในช่วงขาขึ้นที่เติบโตอย่างรวดเร็ว" หัวหน้ากรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จีน กล่าว

        การจัดตั้งเขตนำร่องฯ ล็อตใหม่นี้ จะช่วยขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศ ยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านการค้าต่างประเทศ เสริมความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุตสาหกรรมการค้าต่างประเทศและห่วงโซ่อุปทาน และเสริมการบูรณาการของอุตสาหกรรมดิจิทัลและการค้าดิจิทัล

        ปัจจุบัน ขนาดของตลาด E-Commerce จีนใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ปี 2021- 2025) ของจีน ได้กำหนดทิศทางการพัฒนา E-Commerce ที่สำคัญ ดังนี้

  1. การสนับสนุนการพัฒนา Cross-Border E-Commerce ในระดับสูง เพื่อส่งเสริมให้แพลตฟอร์ม E-Commerce มีการบริหารจัดการเป็นสากล ปรับปรุงคลังสินค้า โลจิสติกส์ ข้อมูลและการชำระเงินให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ตลอดจนมีการวางโครงสร้างพื้นฐาน E-Commerce ทั่วโลก รวมทั้งสามารถใช้สกุลเงินหยวนในการชำระได้
  2. ผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศเชิงลึกในด้านการค้าดิจิทัล สร้างความร่วมมือทางการค้าด้าน Cross-Border E-Commerce กับกลุ่มประเทศหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยพัฒนา E-Commerce ในเส้นทางสายไหมอย่างจริงจัง ผลักดันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศต่างๆ ให้มีส่วนร่วมในการค้า E-Commerce ทั่วโลก สนับสนุนห่วงโซ่การผลิตดิจิทัล และส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน E-Commerce ทั่วโลกให้เป็นระบบเดียวกัน
  3. กำหนดระเบียบด้านการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศและการตลาดแบบดิจิทัลโดยมุ่งเน้นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การรับประกันความปลอดภัย รวมทั้งยกระดับให้กฎระเบียบมีความเชื่อมโยงกับสากล

        ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนา E-Commerce จีน ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ปี 2021- 2025) ได้มีเป้าหมายในอนาคตว่า ในปี 2025 มูลค่าการค้า E-Commerce ของจีนจะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 46 ล้านล้านหยวน และมียอดค้าปลีกออนไลน์รวมทั้งสิ้น 17 ล้านล้านหยวน และคาดการณ์ว่าธุรกิจ Cross-Border E-Commerce ของจีน จะมีมูลค่า 2.5 ล้านล้านหยวน

Tags: