Culture

ทุนทางวัฒนธรรม พลัง Soft Power เชื่อมไทยสู่โลก : สัมภาษณ์พิเศษ ชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม

26

April

2022

26

April

2022

        ประเทศไทยมีศักยภาพความพร้อมด้านทุนวัฒนธรรมมากมาย ทั้งอาหารไทย นวดไทย มวยไทย นาฏศิลป์ไทย รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก พื้นฐานเหล่านี้สามารถเป็นต้นทุนการสร้าง Soft Power นำความเป็นไทยสู่โลก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

        TAP Magazine ฉบับนี้ ได้รับเกียรติสัมภาษณ์พิเศษ ชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการพัฒนาต่อยอดและเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมไทย ถึงแนวทางในการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อน Soft Power เชื่อมไทยสู่โลก รวมถึงการสานความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีน โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

ชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม

        ชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริม พัฒนาต่อยอด และเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไทยสู่ระดับนานาชาติ เพื่อผลักดัน “Soft Power”ความเป็นไทย เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ สร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ โดยมีกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงาน คือ การสร้างเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสถาบันการศึกษา ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคีทุกภาคส่วน พร้อมกันนี้ สวธ.ยังมีนโยบายผลักดันและส่งเสริมงานวัฒนธรรมผ่านเครือข่ายวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ ด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นต้นทุนสำคัญคือ งานมรดกภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage : ICH) มาประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมในท้องถิ่นให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงวัฒนธรรมในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) ผลักดันอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5 ด้าน หรือ 5F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) และเทศกาล ประเพณี (Festival) สู่ระดับโลก

ชูอาหารไทยเป็น “ยาที่อร่อยที่สุดในโลก”

        สำหรับปี 2565 สวธ. จะมุ่งเน้นส่งเสริมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5 F ใน 2 ประเด็นหลัก คือ อาหาร (Food) และผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) ซึ่งเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่ไทยมีความโดดเด่น สามารถนำมาต่อยอดสร้างสรรค์สินค้าและบริการ (Creative Culture) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

        หนึ่งในโครงการขับเคลื่อนสำคัญที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ การส่งออกวัฒนธรรมอาหารไทยมิติใหม่ ผ่านการเปิดตัว “โครงการไทยเทสเทอราปี (Thai Taste Therapy)” ชูอาหารไทยเป็นยาที่อร่อยที่สุดในโลก

        อธิบดี สวธ. กล่าวถึงแนวคิดที่มาของโครงการฯว่า อาหารไทยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เป็นตัวแทนของความเป็นไทยที่สะท้อนถึงความประณีตของศาสตร์และศิลป์แห่งอาหารที่สั่งสมสืบทอดภูมิปัญญามาอย่างยาวนาน นอกจากจะมีความอร่อยติดอันดับโลกแล้ว เมนูอาหารไทยจำนวนมากยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นจุดเด่นที่สามารถนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหาร การส่งออกวัตถุดิบอาหารและสมุนไพรไทย รวมไปถึงขยายผลสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศและชุมชนท้องถิ่น

        “อาหารไทย เป็นหนึ่งใน Soft Power ที่มีศักยภาพในการเข้าถึงนานาประเทศ ที่ผ่านมา เราได้ขึ้นทะเบียนอาหารไทย 20 รายการเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม อาทิ ต้มยำกุ้ง แกงเผ็ด แกงพุงปลา แกงเขียวหวาน ส้มตำ ฯลฯ และในอนาคตยังมีแผนที่จะขึ้นทะเบียนอาหารไทยอีกหลายรายการ ล่าสุด เราได้เปิดตัวโครงการ Thai Taste Therapy เพื่อยกระดับวัฒนธรรมอาหารไทยสู่นานาชาติ สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับอาหารไทยที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ และสรรพคุณทางยา โดยทำงานเชิงบูรณาการร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ การผนึกกำลังร่วมกับ 50 เชฟชื่อดังระดับเวิลด์คลาส มาร่วมสร้างสรรค์ 50 เมนูอาหารไทยที่มีคุณประโยชน์ทางยาและส่งเสริมสุขภาพ

        นอกจากนี้ ยังได้จับมือกับร้านอาหารไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ เปิดขายเมนูอาหารไทยเทสเทอราปี 3 เมนู ได้แก่ เมนูเสริมภูมิคุ้มกันต้านโควิด เมนูอาหารจากกัญชา&กระท่อม และเมนูสมุนไพรพื้นถิ่นของไทย โดยสามารถเยี่ยมชม สั่งอาหาร และสินค้าสุขภาพจากสมุนไพรไทยที่เข้าร่วมโครงการผ่านทางไลน์ @thaitastetherapy รวมถึงการเปิดคอร์สสอนทำอาหารไทยเป็นยาผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ThaiTasteTherapy.com เพื่อส่งต่อสูตรอาหารไทยเทสเทอราปี พร้อมส่งออกวัตถุดิบเครื่องปรุงสมุนไพรไทยต่าง ๆ ให้ทั่วโลกสั่งซื้อได้ทางออนไลน์เพื่อไปลองทำกินเองที่บ้านได้อย่างสะดวก” อธิบดี สวธ. กล่าว

        นอกเหนือจากอาหารไทย อีกหนึ่งมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สวธ. มุ่งผลักดันสู่ระดับนานาชาติ คือ ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น ผ่านการจัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล โดยเปิดตัว THAI TEXTILES TREND BOOK เทรนด์บุ๊คแฟชั่นเล่มแรกของไทยที่เป็นเสมือนเข็มทิศแห่งวงการแฟชั่น นำเสนอแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับดีไซน์เนอร์ไทย ผู้ประกอบการ OTOP ชุมชนท้องถิ่น เพื่อผลักดันผ้าไทยให้เป็นสินค้าเศรษฐกิจชิ้นสำคัญของตลาดโลก ทั้งในแง่ของอาภรณ์ (Fashion) และวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture) ที่เข้าถึงได้ง่าย ใช้ได้จริง รวมถึงใช้ผ้าไทยในชีวิตประจำวันให้สนุกมากขึ้น

เที่ยววัฒนธรรมไทยวิถีใหม่..ด้วยแอปฯ Treasure Trip

        นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งผลงานชิ้นสำคัญของสวธ. ซึ่งถือเป็นการเปิดมิติใหม่ให้กับงานส่งเสริมวัฒนธรรม นั่นคือการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้ในการโปรโมทการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยการเปิดตัวแอปพลิเคชัน ‘Treasure Trip’ ในโครงการ“วิถีไทยในยุคดิจิทัล”

        อธิบดี สวธ. เล่าว่า  Treasure Trip เป็นแอปพลิเคชันที่รวบรวมข้อมูลการท่องเที่ยวในวิถีวัฒนธรรมไทยในเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม ปัจจุบันพร้อมให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ สงขลา ภูเก็ต และหัวหิน และในอนาคตจะขยายเป็น Treasure Trip Thailand ซึ่งมีฐานข้อมูลครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ด้วยตนเองได้ง่าย ๆ  ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเที่ยวเชิงวัฒนธรรม วัด พิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน ที่พักและร้านอาหารยอดนิยมต่าง ๆ เพียงแค่ปลายนิ้วกดเลือกสถานที่ต่าง ๆ ที่ต้องการบนแอปฯ ก็จะช่วยนำทางพาไปถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการ

        นอกจากนี้ ยังสามารถแสดงข้อมูลรายละเอียดของสถานที่นั้นๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถวางแผนและตัดสินใจก่อนการเดินทาง และยังมีแผนการเดินทางแนะนำให้นักท่องเที่ยวได้เลือกเดินทางได้ง่าย ๆ ตามเส้นทางที่ออกแบบไว้เป็นอย่างดี  โดยสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ครบครันทั้งฟีเจอร์และฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆที่ตอบโจทย์ทุกเรื่องวัฒนธรรมภายในแอปพลิเคชันเดียว ทั้งการค้นหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว, คู่มือการขนส่งสาธารณะ, ค้นพบกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจโดยสามารถจองบัตรและสำรองที่นั่งล่วงหน้าผ่านทางแอปฯ, ชอปปิงผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมขึ้นชื่อจากภูมิภาคต่างๆของไทยที่รวบรวมมาไว้ใน Treasure Mall และสามารถกดสั่งซื้อได้ทันทีผ่านแอปฯ

        นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์ 3D&VR ให้นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจในรูปแบบทัวร์เสมือนจริง ซึ่งถือเป็นการนำนวัตกรรรมดิจิทัลมาใช้ในการสืบสานวิถีมรดกทางวัฒนธรรมผ่านการท่องเที่ยว สอดรับกับวิถีชีวิตในยุค New Normal โดยข้อมูลกิจกรรมต่างๆในแอปฯ Treasure Trip จะมีการอัพเดทตลอดเวลา

สืบสาน รักษา ต่อยอด ขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมยุคใหม่

        อธิบดี สวธ. กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มีหน้าที่สืบสานรักษาและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมให้ยั่งยืน การจะสืบสานวัฒนธรรมให้ยั่งยืนนั้นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายโดยการมีส่วนร่วมและบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน ไม่ใช่ทำคนเดียว หรือต่างคนต่างทำ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมมีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

        “ วิสัยทัศน์ในปี 2565 ของสวธ. คือ “เป็นองค์กรหลักในการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรม สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน” เรามีหน้าที่สืบสาน รักษาและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม สร้างรากฐานของสินค้าด้านวัฒนธรรม เพื่อให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนรับไม้ต่อนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

        การขับเคลื่อนงานส่งเสริมวัฒนธรรมยุคใหม่ เราต้องมองว่าทำอย่างไรให้วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ต่อยอดได้ เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ ทำอย่างไรที่จะให้เด็กยุคใหม่ Gen Z เข้าถึงวัฒนธรรมไทย เพราะหากไม่มีการสืบทอดและนำมาใช้ ในที่สุดมรดกวัฒนธรรมหลาย ๆ อย่างก็จะสูญหายไปกับกาลเวลา เราจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการทำงานเพื่อทำให้วัฒนธรรมสามารถอยู่ร่วมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นเพื่อตอบสนองคนรุ่นใหม่ และสร้างให้เกิดเครือข่ายเป็นพลังในการขับเคลื่อน ซึ่งเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน เพื่อสืบสาน รักษาและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม สู่การสร้างคุณค่าและมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ” อธิบดี สวธ.กล่าว

‘กรมส่งเสริมวัฒนธรรม’ กับการสานความร่วมมือวัฒนธรรมไทย-จีน

        ไทยและจีนเป็นมิตรประเทศที่มีความผูกพันและมีความใกล้ชิดทางวัฒนธรรม ทำให้ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เป็นไปอย่างดี ที่ผ่านมา รัฐบาลทั้งสองประเทศให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างและต่อยอดความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างกันอย่างไม่หยุดนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นนาฏศิลป์ ภาพยนตร์ จิตรกรรม ประติมากรรม และมรดกภูมิปัญญา

        ในช่วงที่ผ่านมา กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ส่งเสริมการดำเนินงานของเครือข่ายทางวัฒนธรรมทั้งในและต่างประเทศ สำหรับประเทศจีน ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ผลักดันการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-จีน โดยการนำมรดกภูมิปัญญาของไทยไปเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก เช่น นวดไทย เป็นต้น

        นอกจากนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมยังได้มีการหารือร่วมกับฝ่ายจีนเพื่อจับมือร่วมกันในการยื่นขึ้นทะเบียน “ประเพณีสงกรานต์” เป็นมรกดทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติกับทาง UNESCO รวมทั้งที่ผ่านมายังได้มีการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมไทยในสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และเผยแพร่วัฒนธรรมไทย - จีน ด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดสร้างสรรค์สินค้าและบริการ (Creative Culture) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง    

        ด้านการส่งเสริมประชาสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมไทยเพื่อให้เข้าถึงชาวจีน สวธ.ได้ส่งเสริมการนำทุนทางวัฒนธรรมมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างคุณค่าทางสังคม และการแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมไทย - จีน ผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ และการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในพื้นที่ที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์วัฒนธรรมจีนในประเทศไทย เช่น ชุมชนชากแง้ว จังหวัดชลบุรี (วัฒนธรรมไทย - จีน), การจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ชุมชนโบราณในกรุงรัตนโกสินทร์ ชุมชนตลาดน้อย ชุมชนย่านการค้าโบราณ เยาวราช เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการอนุเคราะห์สถานที่จัดงานมหกรรมต่างๆ เช่น การจัดงานเชื่อมความสัมพันธ์วัฒนธรรมไทย - จีน ผ่านแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมต่างๆ

Tags: