Culture

ถานเซียงกวง “ยอดสตรีนักทอผ้า” กับครึ่งทศวรรษแห่งความผูกพัน ผ้าไหมทอดิ้นชาวจ้วง

11

October

2022

20

September

2022

ผู้เขียน: หลิน หาน นิตยสาร China-ASEAN Panorama

ช่างภาพ: หวง เซียว

        ถานเซียงกวง วัย 67 ปี ปรมาจารย์ศิลปหัตถกรรมผ้าไหมทอดิ้นชาวจ้วงหนึ่งเดียวในจีนในขณะนี้ เธอได้เริ่มเส้นทางนี้ในวัย 16 ปี ได้ร่ำเรียนกับ เหลียงซูอิง ปรมาจารย์ด้านศิลปหัตถกรรมจีน เรียนรู้ ฝึกฝนจนได้รับการยกย่องในนามปรมาจารย์ศิลปหัตถกรรมในปี 2550 ปัจจุบันเธอยังคงมุ่งมั่นสืบทอด พัฒนาหัตถกรรมผ้าไหมทอดิ้นชาวจ้วง  

เส้นทางความเพียรพยายามหลายสิบปีสู่ปรมาจารย์

        ในเดือนกรกฎาคม 2513 ถานเซียงกวง วัย 16 ปีได้เริ่มต้นเส้นทางผ้าไหมทอดิ้น ฝากฝังตนเป็นลูกศิษย์เหลียงซูอิง ร่ำเรียนวิชาจนกลายเป็นศิษย์เอก หนึ่งในความภาคภูมิใจของเหลียงซูอิง

        เหลียงซูอิงถ่ายทอดในทุกสิ่งที่เธอได้เรียนรู้มาตลอดชีวิต คอยสอนตัวต่อตัวเสมือนเธอเป็นลูกสาวจริงๆ

        ตลอดเวลาในเส้นทางนี้ ถานเซียงกวงฝ่าฟันอุปสรรคมานับไม่ถ้วน ทุกกรรมวิธีตั้งแต่เส้นด้ายจนผลิตสำเร็จเป็นผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การออกแบบวาดลวดลาย ถักทอด้ายยืนด้ายพุ่งอย่างไรให้ออกมาตามรูปแบบที่กำหนดไว้ ต้องฝึกฝนทุกขั้นตอนซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ด้วยพรสวรรค์และความเฉลียวฉลาด ผลักดันให้เธอโดดเด่นในวงการทอผ้าชาวจ้วงในเวลาไม่นาน ในบรรดาลูกศิษย์ทั้งหมดของเหลียงซูอิงนั้น กลับมีเพียงถานเซียงกวงผู้เดียวที่ยังคงตั้งมั่นเรียนรู้กับเธอมากว่า 13 ปี และนำทักษะที่เยี่ยมยอดของเธอถ่ายทอดงานหัตถกรรมผ้าไหมทอดิ้นจ้วงให้แก่คนรุ่นต่อไป

        หลังจากที่เหลียงซูอิงได้รับการยกย่องเป็นปรมาจารย์สาขาศิลปหัตถกรรมจีนในช่วงทศวรรษ 1980 ต่อมาถานเซียงกวงก็ได้รับยกย่องเป็นปรมาจารย์สาขาศิลปหัตถกรรมจีนเช่นกันในปี 2550 ซึ่งถือเป็นเพียงแค่สองบุคคลที่เป็นที่ยอมรับในด้านหัตถกรรมผ้าทอดิ้นชาวจ้วง

        “ในวงการงานหัตถกรรมนี้มันช่างเดียวดาย ต้องอาศัยทั้งความอดทน ความพากเพียร” ถานเซียงกวงกล่าว อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงความสำเร็จที่ดูน่าอิจฉาในตอนนี้ที่ได้รับ เธอกลับพูดตอบกลับเบา ๆ ว่า “เธอเป็นเพียงแค่ช่างฝีมือผู้หนึ่งที่หลงใหลการทอผ้ามานับสิบ ๆ ปี ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผ้าทอดิ้นไหมชาวจ้วงมาทั้งชีวิตก็เท่านั้น”

รังสรรค์ให้ทันสมัย ก่อนที่จะสูญหายไปตามกาลเวลา

        หลังจากถานเซียงกวงเกษียณในปี 2545 ก็ได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเวิร์คช็อปผ้าไหมทอดิ้นประจำสถาบันวิจัยศิลปหัตถกรรมกว่างซี เพื่อมาช่วยฟื้นฟูผ้าไหมทอดิ้นชาวจ้วงที่ใกล้จะถูกลืมเลือน และสนับสนุนช่างฝีมือผู้มากฝีมือให้อยู่คู่วงการนี้ต่อไป  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถานเซียงกวงพัฒนาวงการผ้าไหมทอดิ้นชาวจ้วงในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการรังสรรค์วาดลวดลาย ทำการตลาดจนประสบความสำเร็จ โดยรวมถือว่าเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก

        “ในอดีตผ้าไหมทอดิ้นชาวจ้วงมักนำไปใช้เป็นปลอกผ้านวมและเป้อุ้มเด็ก แต่ปัจจุบันถูกนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น มีตั้งแต่สินค้าราคาไม่กี่หยวนไปจนถึงงานศิลปะมูลค่าสูงหลายหมื่นหยวน” ถานเซียงกวงบอกเล่ามุมมองที่ไม่เหมือนใครของเธอในการเปลี่ยนให้ผ้าไหมทอดิ้นชาวจ้วงแบบโบราณมาสู่การใช้งานในชีวิตประจำวัน

        ภายในเวิร์คช็อปนี้มีการจัดจำหน่ายกลุ่มสินค้าภายใต้แบรนด์ถานเซียงกวงและสินค้าดั้งเดิมแบรนด์อื่น ๆ หลากหลายประเภท เช่น ผ้าแขวนผนัง กระเป๋าชาติพันธุ์ทำมือ กระเป๋าผ้าทำมือ ผ้าทอตกแต่ง ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าคาดเตียง ที่ใส่จดหมาย เบาะรองนั่ง หมอนทำมือ ที่ใส่นามบัตร ที่หนีบเนคไท ฯลฯ โดยสินค้าส่วนใหญ่จะยึดสไตล์ดั้งเดิมเป็นหลักแล้วผสมผสานแฟชั่นสมัยใหม่เข้าไป เพื่อบุกเบิกเส้นทางผ้าไหมทอดิ้นชาวจ้วงให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่

พร้อมปั้นผู้สืบทอดรุ่นใหม่ “ใครสนใจเรียนก็ยินดีสอน”

        ในปี 2545 ถานเซียงกวงกลับบ้านเกิดเปิดรับลูกศิษย์ จัดคอร์สสอนและก่อตั้งเวิร์คช็อปครอบครัวภายใต้แบรนด์เซียงกวง เธอได้ถ่ายทอดวิชาถักทอผ้าไหมดิ้นชาวจ้วงให้แก่กลุ่มสตรีที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังในชนบท  ส่งมอบเครื่องทอผ้าให้แต่ละครัวเรือน ค่อย ๆ ขยับขยายเป็นอุตสาหกรรมทอผ้าระดับท้องถิ่น “เราจ่ายค่าจ้างเป็นรายชิ้น จึงทำให้ทุกคนสามารถทำงานที่บ้านได้ มีเวลาดูแลบ้าน ครอบครัว พร้อมกับทำงานหัตถกรรมเป็นรายได้เสริมจุนเจือครอบครัว”

        อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเป็นยุคที่วัฒนธรรมมาไวไปไว ประวัติศาสตร์หลายพันปีของผ้าไหมทอดิ้นชาวจ้วงกำลังค่อย ๆ ถูกลืมเลือน ถานเซียงกวงครุ่นคิดมาตลอดว่าจะทำอย่างไรให้งานหัตถกรรมนี้คงอยู่สืบไป ในปี 2558 เธอจึงได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาและเทคนิคหนานหนิง จัดตั้ง “สตูดิโอปรมาจารย์ถานเซียงกวง” เพื่อส่งเสริมการสืบทอดและการพัฒนาทักษะฝีมือผ้าไหมทอดิ้นชาวจ้วง

        ด้วยปณิธาน “ใครสนใจเรียนก็ยินดีสอน” ถานเซียงกวงถ่ายทอด ฝึกฝนลูกศิษย์มากกว่า 30 ชีวิต จนกลายเป็นศิลปินทอผ้ามากฝีมือ ร่วมเดินทางกับเธอไปแสดงทักษะในที่ต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง มาเลเซีย อีกทั้งผลิตภัณฑ์ทั้งหลายก็กลายเป็นสินค้าขายดีทั้งในจีนและต่างประเทศ

        “ผ้าไหมทอดิ้นนี้สะท้อนถึงวัฒนธรรมหลายพันปีของชาวจ้วง ต้องอาศัยพลังความร่วมมือในการสืบทอด ส่งเสริม เผยแพร่ รวมถึงผู้ที่พร้อมอุทิศตัวเพื่อต่อสู้ สานต่อจิตวิญญานนี้มิให้เสื่อมคลาย นี่ไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์” ถานเซียงกวง กล่าว

Tags: