Highlight

บทเรียนความสำเร็จของจีนที่น่าเรียนรู้สำหรับไทย

12

January

2022

1

July

2021

        ถอดบทเรียนจีน “แก้จน-พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19” ความสำเร็จจากจีนที่ไทยเรียนรู้ได้ แม้ไทยและจีนจะมีความแตกต่างกันในด้านระบบการเมืองการปกครอง แต่เป้าหมายของการพัฒนาประเทศที่เหมือนกันคือ การทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้พิสูจน์ให้โลกประจักษ์ถึงความสำเร็จในการนำพาประเทศจีนให้สามารถพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และนี่คือ 3 ประสบการณ์ความสำเร็จของจีนที่มีค่าต่อการเรียนรู้เพื่อแสวงหาโอกาสสู่การพัฒนาร่วมกัน

1. จีนกับความสำเร็จแก้ปัญหาความยากจน

        จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก สามารถบรรเทาความยากจนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี พ.ศ.2573 ของสหประชาชาติ ได้เร็วกว่ากำหนดถึง 10 ปี

        หัวใจหลักของความสำเร็จมาจากการที่จีนใช้ “ยุทธศาสตร์แก้จนแบบตรงจุด” ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ในสมัยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง โดยมีการส่งเจ้าหน้าที่นับล้านคนเจาะเข้าไปถึงระดับบุคคลและครัวเรือนเข้าไปตรวจสอบและพูดคุยตัวต่อตัวกับคนยากจน ทำให้สามารถช่วยเหลือเพื่อลดความยากจนได้อย่างตรงจุด ควบคู่กับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ การเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ทุรกันดาร  

        ที่สำคัญคือมีการวางระบบขับเคลื่อนงานตั้งแต่รัฐบาลส่วนกลาง ลงมาถึงระดับเมืองและมณฑล มีคณะทำงานประจำหมู่บ้าน ตลอดจนมีระบบการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ลดความยากจนที่มีประสิทธิภาพ มีการประเมินผลงานและสร้างแรงจูงใจ

        ความเอาจริงเอาจังของผู้นำและการให้ความสำคัญของรัฐบาล นับเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งทำให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งระบบจนบรรลุไปสู่เป้าหมาย มีการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ยังได้แรงสนับสนุนจากภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความยากจน ก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและเกษตรยุคใหม่ การท่องเที่ยว เชื่อมโยงตลาดกับธุรกิจ E-Commerce และผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น Alibaba เป็นต้น

        ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า จีนได้ชัยชนะในการต่อสู้ความยากจน มีประชากรในชนบทจำนวน 98.99 ล้านคนซึ่งอยู่ภายใต้เส้นความยากจนในปัจจุบันได้หลุดพ้นจากความยากจนแล้วทั้งหมด รวมถึงอำเภอยากจน 832 แห่ง และหมู่บ้านยากจน 12,800 แห่งก็ได้หลุดพ้นจากความยากจนแล้ว

        นับตั้งแต่จีนเริ่มการปฏิรูปและการเปิดประเทศในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ผู้อยู่อาศัยในชนบทที่ยากไร้ 770 ล้านคนได้หลุดพ้นจากความยากจน นอกจากนี้ จีนยังมีส่วนในการช่วยลดจำนวนคนยากจนทั่วโลกมากมากกว่า 70% สหประชาชาติได้ยกย่องให้จีนประสบความสำเร็จในการลดความยากจน และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในการแก้ปัญหาความยากจน

2. จีนกับความสำเร็จในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

        โครงสร้างพื้นฐานมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอย่างรวดเร็วของประเทศจีน นับแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา จีนเป็นประเทศที่ทุ่มเทกำลังให้กับงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุดในภาคพื้นเอเชีย โดยในช่วง 3 ทศวรรษแรกนับจากปี ค.ศ.1978 เงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมีรวมกว่า 30 ล้านล้านหยวน หรือมีสัดส่วน 40% ของเงินลงทุนทั้งประเทศ

        เมื่อจีนมีระบบขนส่งพื้นฐานที่ก้าวหน้าและรวดเร็ว การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตามไปด้วย โดยเฉพาะการพัฒนารถไฟความเร็วสูงซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวแปรความสำเร็จที่สำคัญ

        รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบรางและรถไฟความเร็วสูง ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองและการพัฒนาประเทศ เพื่อมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ นำพาความเจริญและเศรษฐกิจกระจายไปสู่พื้นที่ห่างไกล เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า ขจัดความยากจน

        ภายในชั่วเวลา 1 ทศวรรษ จีนก้าวกระโดดจากประเทศที่ไม่มีรถไฟความเร็วสูง กลายมาเป็นผู้นำโลกในเรื่องระบบขนส่งรถไฟความเร็วสูงที่มีโครงข่ายใหญ่ที่สุดในโลก และยังสามารถส่งออกเทคโนโลยีด้านนี้ไปต่างประเทศ นอกจากนี้จีนยังได้ใช้อุตสาหกรรมรถไฟความเร็วสูงมาเป็นตัวจุดประกายการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรมไฮเทคในช่วงเวลาอันสั้น  

        ณ สิ้นปี ค.ศ. 2020 จีนมีเครือข่ายทางรถไฟความเร็วสูง รวมระยะทาง 37,900 กิโลเมตร ยาวที่สุดในโลก โดยมีเป้าหมายขยายระยะทางใช้งานเป็น 50,000 กิโลเมตร ภายในปี ค.ศ. 2025 ขณะที่ ณ สิ้นปี ค.ศ. 2020 จีนมีเส้นทางรถไฟในประเทศยาว 146,000 กิโลเมตร และครอบคลุมเมืองที่มีประชากรกว่า 2 แสนคน ถึง 99%

       ความสำเร็จของจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง มาจากการสนับสนุนอย่างจริงจังของรัฐบาลกลาง ทำให้เป็นหลักประกันต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรถไฟได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันการเงินของรัฐ ส่วนรัฐบาลท้องถิ่นสนับสนุนอำนวยความสะดวกในการก่อสร้าง ทำให้โครงการดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

       นอกจากนี้ ผลจากการที่จีนได้วางรากฐานการวิจัยและพัฒนาการขนส่งระบบรางมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 ทำให้จีนสามารถดูดซับเทคโนโลยีจากต่างชาติได้อย่างรวดเร็ว หลังจากที่จีนได้เริ่มขับเคลื่อนโครงการรถไฟความเร็วสูง ด้วยยุทธศาสตร์ ‘นำเข้าองค์ความรู้จากต่างชาติ’ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003  

        จีนได้ดำเนินนโยบาย “ใช้ตลาดแลกเทคโนโลยี” เปิดให้ต่างชาติที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีความเร็วสูงเข้ามาประมูลโครงการ โดยมี ‘เงื่อนไข’ สำคัญคือจะต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับจีน ในที่สุดจึงนำไปสู่การผสมผสานรับเอาข้อดีของเทคโนโลยีจาก 4 ชาติ ได้แก่  Alstom ฝรั่งเศส, Siemens เยอรมนี, Bombardier แคนาดา และ Kawasaki ญี่ปุ่น มารวมไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ “China Railway High-speed: CRH” หรือ “Hexie Hao”

        ปัจจุบัน นอกจากประเทศจีนมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทั้งถนน รถไฟ สนามบิน ฯลฯ ที่ครอบคลุมและก้าวล้ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลกแล้ว จีนยังได้เดินหน้าพัฒนาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่มุ่งสร้างการเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ ผ่านข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์ด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจีน ที่ประกาศโดย ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อปี ค.ศ. 2013 โดยจีนเป็นผู้ลงทุนหลักพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อ 3 ทวีปกว่า 60 ประเทศ ทั้งทางบกและทางน้ำ และสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษตลอดเส้นทางสายไหมยุคใหม่ ซึ่งถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการค้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศจีน รวมถึงประเทศอื่นๆ

        ล่าสุด จีนได้เดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยทุ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ (New Infrastructure) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมเทคโนโลยี 7 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ เครือข่ายโทรคมนาคม 5G, ระบบสายส่งไฟฟ้า Ultra-High Voltage, ระบบรถไฟความเร็วสูง, สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า, ศูนย์ข้อมูล Big Data, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอินเทอร์เน็ตอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจในยุคต่อไป โดยเน้นการพึ่งพาเทคโนโลยีของตนเอง โดยจีนได้ทุ่มเม็ดเงินลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่คิดเป็นมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นระยะเวลา 6 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563-2568

3. จีนกับความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19  

        เปิดศักราชใหม่ปี พ.ศ.2563 จีนเป็นประเทศแรกที่ประสบวิกฤตโควิด-19 มียอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่เพียงอีกไม่กี่เดือนต่อมา สถานการณ์ของจีนดีขึ้นตามลำดับ สามารถควบคุมการระบาดได้ตั้งแต่ก่อนการผลิตวัคซีนโควิด-19 สำเร็จ จนกลายเป็นโมเดลความสำเร็จที่น่าสนใจศึกษา

        นโยบายมาตรการต่างๆ ของจีนในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว การที่รัฐบาลจีนตัดสินใจอย่างเด็ดขาดในการออกมาตรการป้องกันและควบคุมโรคตามหลักวิทยาศาสตร์อย่างทันเวลาและมีประสิทธิภาพ กล้าใช้ยาแรงตัดสินใจประกาศล็อคดาวน์ทันที ทำทุกวิถีทางเพื่อคุมการแพร่ระบาด จนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในระยะเวลาอันสั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญในการเอาชนะวิกฤต สะท้อนให้เห็นถึงความเด็ดขาดและการแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุดของรัฐบาลจีนโดยประเทศจีนและผู้นำจีนให้ความสำคัญสูงสุดกับชีวิตและสุขภาพของประชาชน โดยตั้งผลประโยชน์ของประชาชนไว้เหนือสิ่งอื่นใด

         จีนยังได้ขับเคลื่อนคนทั้งชาติในการร่วมรบใน “สงครามของประชาชน” กับโรคระบาดครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทั่วประเทศมากกว่า 42,000 คน ถูกส่งมายังมณฑลหูเป่ย แรงงานทั่วประเทศเร่งเดินทางมายังอู่ฮั่นเพื่อสร้างโรงพยาบาลโดยเริ่มต้นจากศูนย์ อีกทั้งทรัพยากรและสิ่งของที่จำเป็นต่างหลั่งไหลมาจากทุกทิศทาง ภายใต้การรวมศูนย์บัญชาการรัฐบาลและท้องถิ่นทำงานบูรณาการในทิศทางเดียวกัน พร้อมทั้งสร้างความน่าเชื่อถือศรัทธาในผู้นำ และกลไกรัฐที่ไม่สร้างความสับสนให้กับประชาชน

        นอกจากการป้องกันและการรักษาแล้ว จีนยังให้ความสำคัญกับการตรวจเชิงรุกเป็นอย่างมาก รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการและจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน เพื่อจัดแบ่งความเสี่ยงของประชาชนแต่ละคน แยกตามสุขภาพและประวัติการเดินทาง

        ต่อมาภายหลังเมื่อสามารถผลิตวัคซีนได้สำเร็จ จีนก็ได้มีการปูพรมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน จีนยังมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนแก่ประเทศกำลังพัฒนากว่า 80 ประเทศที่มีความต้องการเร่งด่วน และได้ส่งออกวัคซีนไปยังกว่า 50 ประเทศอีกด้วย

        ทั้ง 3 บทเรียนดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประสบการณ์ความสำเร็จที่สะท้อนถึงการหล่อหลอมความแข็งแกร่งของจีน ซึ่งวันนี้ได้ก้าวสู่ความเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก นับเป็นบทเรียนที่ควรค่าต่อการศึกษา และมีคุณูปการที่หลายประเทศทั่วโลกสามารถเรียนรู้และนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีขึ้น

Tags: