Focus

‘Common Prosperity’ นโยบาย‘รุ่งเรืองร่วมกัน’ของจีน โดมิโนสะเทือนเศรษฐกิจไทย

27

January

2022

4

January

2022

ตลอดปีที่ผ่านมา หลายคนคงเห็นข่าวการเดินหน้าจัดระเบียบธุรกิจต่างๆของทางการจีน ไล่ตั้งแต่กลุ่มเทคโนโลยี, ธุรกิจ FinTech, การห้ามทำกำไรในธุรกิจการศึกษา, ออกกฎเหล็กคุมเข้มธุรกิจเกมส์ ไปจนถึงวงการบันเทิง คนดังและแฟนคลับ

มาตรการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย“รุ่งเรืองร่วมกัน” หรือ Common Prosperity เพื่อมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ นำพาประเทศจีนก้าวสู่สังคมที่รุ่งเรืองอย่างทั่วถึง

TAP Magazine ฉบับนี้ชวนมาทำความเข้าใจนโยบาย Common Prosperity วาระแห่งชาติของประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” แบบเจาะลึก ทั้งนัยที่มีต่อทิศทางในอนาคตของเศรษฐกิจจีน และแรงกระเพื่อมที่คาดว่าจะส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทย ผ่านบทวิเคราะห์ของ KKP Research โดยกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร

‘Common Prosperity’ นโยบายของจีนที่ไทยไม่อาจมองข้าม

KKP Research ประเมินว่าการแทรกแซงจากรัฐบาลจีนและการออกมาตรการภายใต้นโยบาย Common Prosperity จะส่งผลกระทบที่ธุรกิจและนักลงทุนไทยไม่อาจมองข้าม เนื่องจาก 1) คนไทยไปลงทุนในจีนจำนวนมาก 2) จีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไทย 3) ไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนสูง 4) ผลกระทบต่อความมั่นคงของเอเชียจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์

มาตรการต่างๆที่ทางการจีนบังคับใช้ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นเพียงมาตรการเพื่อจัดระเบียบอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่เป็นความพยายามของรัฐบาลจีนที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว 5 ประการได้แก่

  1. ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการผูกขาดทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ครอบครองสัดส่วนตลาดสูงและมีการสะสมข้อมูลที่มีความอ่อนไหวสูง
  2. หนี้ที่อยู่ในระดับสูงและความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินและการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ในวงกว้าง จนทำให้ราคาบ้านแพงจนประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้
  3. สังคมสูงวัยที่กำลังจะมาถึงและจำนวนประชากรวัยทำงานมีแนวโน้มลดลง
  4. มลภาวะทางอากาศซึ่งมาจากการเผาถ่านหินเพื่อเป็นแหล่งพลังงาน
  5. อิทธิพลจากค่านิยมตะวันตกที่พยายามเข้ามาในตลาดจีนมากยิ่งขึ้น

นอกจากประเด็นเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยที่สำคัญคือเรื่องอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง ภายใต้แนวคิดของสี จิ้นผิง หากปล่อยให้จีนมีการเปิดเสรีและปล่อยให้ปัญหาเชิงโครงสร้างต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยที่ภาครัฐไม่เข้ามากำกับดูแล จะเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นนายทุนและชนชั้นแรงงานที่จะขยายมากขึ้น

ดังนั้น ภาครัฐภายใต้แนวคิดของสี จิ้นผิง จึงเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลภาคเอกชน ทำให้หลักการพื้นฐานในการลงทุนในจีนแตกต่างจากหลักการลงทุนในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีความเป็นระบบตลาดทุนนิยมแบบเสรีมากกว่า สำหรับนักลงทุนไทย การนำหลักการในการลงทุนแบบประเทศตะวันตกที่เป็นทุนนิยมเสรี มาใช้กับประเทศสังคมนิยมแบบจีน จึงอาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่เกิดจากค่านิยมที่ขัดกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของจีน

ธุรกิจอะไรบ้าง?ที่มีโอกาสโดนคุมเข้ม

เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวในหลากหลายด้าน ทำให้รัฐบาลจีนจะเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจและเพิ่มมาตรการต่อภาคธุรกิจเอกชนที่ขัดต่อเป้าหมายนโยบายของภาครัฐ ธุรกิจหรือกิจกรรมที่มีลักษณะดังต่อไปนี้จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับมาตรการเข้มงวดของรัฐบาลจีน

  1. ธุรกิจที่ผูกขาดและมีการกระจุกตัวอยู่แค่ผู้เล่นน้อยราย
  2. ธุรกิจที่เก็บข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน หรือข้อมูลอื่นๆที่อาจมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ
  3. บั่นทอนผลิตภาพในระยะยาว เช่น การเล่นเกมส์มากเกินไป หรือ กิจกรรมในวงการบันเทิง
  4. เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน เช่น การเก็งกำไรในตลาดการเงิน shadow banking
  5. เพิ่มต้นทุนในการมีบุตร เช่น ค่าเช่าหรือราคาบ้านที่แพงจนเข้าถึงไม่ได้ ค่าเรียนพิเศษที่ราคาสูง
  6. ธุรกิจที่กดค่าแรงไว้ในระดับต่ำ
  7. กิจกรรมที่มีการแสดงออกถึงค่านิยมแบบตะวันตก

จากลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น กลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงจากมาตรการภาครัฐสูง ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่มีการผูกขาดและสะสมข้อมูลที่มีความสำคัญมาก, กลุ่ม Fintech ที่อาจกระทบเสถียรภาพทางการเงิน, กลุ่มการศึกษาและสุขภาพที่อาจถูกควบคุมราคา, กลุ่มเกมส์และงานบันเทิงที่อาจบั่นทอนผลิตภาพของเยาวชนในระยะยาว

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่อาจได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในระยะสั้น ได้แก่ กลุ่มที่ถือว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี เช่น กลุ่มภาคการผลิตเทคโนโลยีที่สำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ กลุ่มเทคโนโลยีพลังงานสะอาด หรือกลุ่มที่เป็นสินค้าบริโภค เนื่องจากเศรษฐกิจจีนจะหันไปโตด้วยภาคการบริโภคภายในประเทศมากยิ่งขึ้น

จีนยอมชะลอในระยะสั้นเพื่อความมั่นคงในระยะยาว

นโยบายภาครัฐที่ต้องการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและเพิ่มผลิตภาพในระยะยาวจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนอย่างไรบ้าง?

  1. เศรษฐกิจระยะสั้นมีแนวโน้มชะลอตัวลง : มาตรการต่าง ๆ เช่น นโยบายควบคุมการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงในปีหน้า เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์มีขนาดใหญ่ถึง 28.7% ของเศรษฐกิจจีน
  2. ผลกระทบต่อการเติบโตระยะยาว : การที่ภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจของภาคธุรกิจเอกชนมากยิ่งขึ้นอาจสร้างความไม่แน่นอนและลดทอนความมั่นใจของธุรกิจเอกชน และอาจส่งผลกระทบต่อจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship spirit) ซึ่งจะเป็นปัจจัยด้านลบต่อโอกาสในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ
  3. จากเติบโตด้วยการลงทุน มาเป็นเติบโตด้วยการบริโภค : ในอดีต การลงทุนและการส่งออกเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน แต่โมเดลการเติบโตที่เน้นการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นต้นเหตุที่ทำให้ปริมาณหนี้ในภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุที่ทำให้รัฐบาลจีนพยายามเปลี่ยนเครื่องยนต์ในการเติบโตไปเป็นภาคการบริโภคมากขึ้นผ่านนโยบาย Dual Circulation ที่จะเน้นเศรษฐกิจภายในประเทศมากยิ่งขึ้น  ดังนั้น หากภาคการบริโภคของจีนไม่สามารถเร่งตัวได้เท่ากับอัตราการชะลอตัวของภาคการลงทุน จึงอาจจะสร้างผลกระทบทางลบมากขึ้นต่ออุตสาหกรรมไทยในระยะยาว

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ด้วยความที่จีนเป็นคู่ค้าขนาดใหญ่ของไทยและเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของโลก ดังนั้น การดำเนินนโยบาย Common Prosperity ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นของจีน จึงส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางดังต่อไปนี้

  1. ด้านการค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะสั้นจะทำให้ความต้องการในการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศลดลง โดยเฉพาะจากประเทศแถบอาเซียน เอเชีย และประเทศที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งนี้ ประเทศที่มีสัดส่วนการส่งออกมูลค่าเพิ่มไปยังภาคการลงทุนหรือภาคการบริโภคของจีนสูงจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนภายในประเทศมากกว่าประเทศที่เน้นการส่งออกมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออกของจีน จากข้อมูล OECD TiVA (Trade in Value-Added) จะพบว่า ไทย มีการส่งออกมูลค่าเพิ่มไปยังภาคการลงทุนหรือภาคการบริโภคในสัดส่วนสูง โดยคิดเป็น 5.6% ของ GDP
  2. ด้านการเงิน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากจีนที่ก่อนหน้านี้ก็เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างการค้าของไทยและจีน ได้แก่ ภาคยางและพลาสติก รถยนต์และชิ้นส่วน การค้าส่งและค้าปลีก รวมไปถึงภาคอสังหาริมทรัพย์
  3. ด้านการท่องเที่ยว ด้วยความที่รัฐบาลจีนต้องการทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศเป็นเครื่องยนต์หลัก แต่ก็ยังกังวลเรื่องการเกิดภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเนื่องจากจะทำให้ระดับของหนี้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้การลดการขาดดุลภาคบริการอาจเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการบรรลุเป้าหมาย หนึ่งในวิธีการที่ภาครัฐอาจใช้ในการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศของจีน คือการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งอาจมีผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนมายังไทยลดลงในระยะยาว และอาจไม่กลับไปยังระดับ 11 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขในช่วงก่อนระบาดโควิด-19 จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ KKP Research วิเคราะห์ว่า ในทศวรรษข้างหน้า เราอาจไม่เห็นเศรษฐกิจจีนกลับไปเติบโตระดับ 13% เหมือนในอดีตอีกแล้ว แต่เชื่อว่าทางการจีนยังคงรับได้ เพราะภารกิจสำคัญของรัฐบาลจีนคือการทำให้เศรษฐกิจจีนมีความมั่นคงและกระจายความมั่งคั่งให้ทั่วถึงทั้งสังคม

นโยบาย Common Prosperity และการเติบโตแบบ Dual Circulation จะเป็นแนวโน้มสำคัญของเศรษฐกิจจีนในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในหลายภาคส่วน

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ KKP Research เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวไม่ใช่สัญญาณบ่งบอกว่าจีนจะกลับไปเป็นประเทศคอมมิวนิสต์สุดโต่งในแบบยุคเหมา เจ๋อตง และจะยังคงความสำคัญของภาคเอกชนต่อเศรษฐกิจอยู่ เนื่องจากมีบทเรียนราคาแพงจากในยุคนั้นมาแล้ว

  อย่างไรก็ตาม ภาครัฐจะมีการเข้ามากำกับดูแลภาคธุรกิจเอกชนและมีบทบาทในการตัดสินใจมากยิ่งขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพในด้านต่างๆ ซึ่งอาจสร้างความไม่แน่นอนของนโยบาย บั่นทอนความมั่นใจของภาคธุรกิจ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวก็เป็นได้

ขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะสั้นและการเปลี่ยนโมเดลในการเติบโตระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทยผ่านทั้งช่องทางการค้าและตลาดการเงิน ดังนั้น ธุรกิจที่มีการค้าขายกับจีนจึงควรจับตามองพัฒนาการของเศรษฐกิจจีนให้ดี เพราะอาจเผชิญได้ทั้งโอกาสหรือความท้าทายในการทำธุรกิจ

Tags: