Movement

‘หอการค้าไทย–จีน’ผนึก CCPIT และ CCIC ขยายโอกาสส่งออกแดนมังกร

12

January

2022

1

March

2021

        ‘หอการค้าไทย-จีน’เดินหน้าขยายความร่วมมือหุ้นส่วนยุทธศาสตร์แบบวิน-วิน ประเดิมปีใหม่จีน จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ 2 ฉบับ ร่วมกับสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน (CCPIT) และองค์กรตรวจสอบและรับรองแห่งชาติจีนประจำประเทศไทย (บริษัท ซี.ซี.ไอ.ซี.(ประเทศไทย) จำกัด) เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา

        ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า MOU ฉบับแรก เป็นการลงนามความร่วมมือกับสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน (CCPIT) ซึ่งมี H.E. Gao Yan เป็นประธาน โดย CCPIT ถือเป็นองค์กรการค้าระดับชาติที่มีบทบาทในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนของจีน ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเชื่อมความสัมพันธ์ของภาคเอกชนทั้งระดับประเทศและระดับมณฑลของจีนได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายจะมีกลไกการทำงานและการประชุมหารือระหว่างกัน รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางเศรษฐกิจการค้า กฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการต่างๆ และการแลกเปลี่ยนการเยือนของคณะนักธุรกิจและผู้แทนการค้าระหว่างกัน เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนมูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีนให้สามารถบรรลุเป้าหมาย 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐตามกำหนดที่ตั้งไว้ในปี 2564

        สำหรับ MOU ฉบับที่สอง เป็นการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทย-จีน และบริษัท ซี.ซี.ไอ.ซี.(ประเทศไทย)จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานสาขาขององค์กรตรวจสอบและรับรองแห่งชาติจีน (CCIC) เพื่อการันตีความเชื่อมั่นมาตรฐานสินค้าส่งออกของไทย โดยเฉพาะผักผลไม้ไปยังตลาดจีนให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น

        ทั้งนี้ ที่ผ่านมา จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยติดต่อกันกว่า 8 ปี แม้ในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 ในปี 2563 ซึ่งส่งผลกระทบทั่วโลก แต่ภาวะการค้าระหว่างไทยกับจีนยังมีการขยายตัว โดยมีมูลค่ารวม 79,600 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 18.16% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย โดยการส่งออกสินค้าของไทยไปตลาดจีน มีมูลค่า 29,754 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการขยายตัวตลอดทั้งปีอัตราเฉลี่ย 2%

        ขณะที่การส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งของไทยไปยังประเทศจีนมีมูลค่า 2,908 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 39.43% โดยสินค้าทุเรียนสดเพียงรายการเดียว มีมูลค่าถึง 1,508 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวสูงถึง 77.57% แม้ว่าจะอยู่ในช่วง COVID-19 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการร่วมมือกับบริษัท ซี.ซี.ไอ.ซี.(ประเทศไทย) จำกัด ในการให้บริการการตรวจสอบคุณภาพและตรวจสอบย้อนกลับแก่ผู้ส่งออกทุเรียนไทย

        สำหรับในปีนี้หอการค้าไทย-จีน มีแผนเดินสาย 22 มณฑล เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทางธุรกิจระหว่างนักลงทุนไทยและจีนถึงทิศทางความต้องการของนักธุรกิจจีนที่จะเข้ามาลงทุนในไทย หลังจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายลง เชื่อว่าการค้าและการลงทุนจะขยายตัว โดยไทยจะเป็นประเทศเป้าหมายที่สำคัญในการเป็นฐานการผลิตเชื่อมโยงไปยังประเทศอาเซียน ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเน้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) คาดว่าจะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น อุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เป็นต้น

รู้จัก ‘CCIC’ องค์กรตรวจสอบและรับรองแห่งชาติจีน

        องค์กรตรวจสอบและรับรองแห่งชาติจีน (CCIC) เป็นองค์กรข้ามชาติประเภทบุคคลที่สามที่ดำเนินการ “ตรวจสอบ ประเมิน รับรอง ทดสอบและตรวจสอบย้อนกลับสินค้า” เป็นองค์กรตรวจสอบรับรองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และเป็นองค์กรให้บริการด้านคุณภาพแบบครบวงจรเพียงแห่งเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ใช้คำว่า “แห่งชาติจีน” ในชื่อองค์กร มีเครือข่ายบริการครอบคลุมถึง 34 ประเทศ หน่วยงานสาขามากกว่า 400 แห่งทั่วโลก ห้องปฏิบัติการกว่า 200 แห่ง โดยมีบริษัท ซี.ซี.ไอ.ซี.(ประเทศไทย)จำกัด เป็นหน่วยงานสาขาของ CCIC ที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2530 มุ่งเน้นการให้บริการตรวจสอบคุณภาพและตรวจสอบย้อนกลับแหล่งกำเนิดผลิตภัณฑ์สำหรับสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังจีน

        หลิ่ว หัวลวี่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี.ซี.ไอ.ซี.(ประเทศไทย)จำกัด กล่าวว่า ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ภายใต้สถานการณ์ของการระบาดทั่วโลกของ COVID-19 หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลจีนได้กำหนดให้อาหารหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่นำเข้าที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดจีน ต้องสามารถตรวจสอบแหล่งที่มา และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ที่ผ่านมา จึงมีโรงงานบรรจุภัณฑ์ผลไม้ของไทยหลายแห่งเลือกใช้บริการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งกำเนิดของบริษัท เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลและผู้บริโภคจีน และในอีกด้านหนึ่ง ยังสามารถป้องกันการสวมสิทธิ์หรือการปลอมแปลงของผลไม้จากประเทศอื่นว่าเป็นผลไม้ของไทยและส่งออกไปยังประเทศจีนอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งในปีที่ผ่านมา ได้ให้บริการแก่สินค้าทุเรียน มังคุด และลำไยที่ส่งออกไปยังประเทศจีนกว่า 8,000 ล้านบาท

Tags: