Movement

รฟท.รับมอบรถจักรดีเซลไฟฟ้าฝีมือจีน เสริมศักยภาพการขนส่ง-ท่องเที่ยวทางราง

27

April

2022

9

February

2022

        เดินทางมาถึงไทยแล้วสำหรับ “หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า” รุ่นล่าสุด (CDA5B1) หรือที่ใครๆ ต่างพากันเรียกว่า “อุลตร้าแมน” ด้วยลักษณะหัวรถจักรที่มีสีแดง-เทา คล้ายกับชุดของอุลตร้าแมน หัวรถจักรรุ่นนี้ผลิตโดย บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ซิชูเยียน (CRRC Qishuyan) ประเทศจีน โดยหัวรถจักรดังกล่าว การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตั้งเป้าจะนำมาเป็นกำลังสำคัญเพื่อเสริมทัพศักยภาพรถไฟไทย ให้แข็งแกร่งทั้งในด้านการขนส่งและสนับสนุนการท่องเที่ยวทางรางให้คึกคักมากยิ่งขึ้น

        การส่งมอบหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าล็อตแรก 20 คันที่ผลิตจากจีนซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจัดซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่ จำนวน 50 คัน วงเงิน 6,525 ล้านบาท ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เซ็นสัญญาสั่งซื้อ ไปเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2563 กับกิจการร่วมค้าเอสเอฟอาร์ ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล โดยมีกำหนดระยะเวลาการส่งมอบรถจักรล็อตที่ 2 อีก 30 คัน ถึงประเทศไทยประมาณช่วงปลายปี 2565

รุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย

        นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า การรับมอบรถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electric Locomotive) ระยะที่ 1 จำนวน 20 คันในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในแผนการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ การให้บริการและสร้างรายได้ของรฟท. โดยถือเป็นรถจักรดีเซลไฟฟ้ารุ่นใหม่ คุณภาพสูง ที่ผลิตโดยบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ซิชูเยียน (CRRC Qishuyan) ผู้ผลิตรถจักรดีเซลชั้นนำของประเทศจีน และมีเครื่องยนต์ที่ผลิตจากประเทศเยอรมนี ซึ่งจะนำมาใช้ทดแทนรถจักรเดิมที่มีอายุการใช้งานมายาวนาน และบางคันมีการใช้งานมากกว่า 50 ปี จึงถือเป็นการพลิกโฉมการให้บริการครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง

        การได้มาซึ่งหัวรถจักรในครั้งนี้ จะช่วยให้ รฟท. มีรถจักรเพียงพอต่อการให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าได้มากขึ้น เพื่อรองรับโครงการรถไฟทางคู่ที่ทยอยเปิดใช้งานในอนาคต

        สำหรับจุดเด่นของรถจักรดีเซลไฟฟ้าดังกล่าว ได้ถูกออกแบบและผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของรถไฟ โดยมีกำลังของเครื่องยนต์สูงสุดที่ 3,263 แรงม้า (2,400 kW) ทำให้สามารถลากจูงขบวนรถโดยสารน้ำหนัก 550 ตัน ได้ความเร็วสูงสุดที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และหากต้องลากจูงขบวนรถโดยสารน้ำหนัก 1,000 ตัน สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่หากมีการบรรทุกสินค้าที่น้ำหนักถึง 2,100 ตัน จะทำความเร็วสูงสุดได้ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

        นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งระบบห้ามล้ออัตโนมัติ (Automatic Train Protection - ATP) รองรับกับมาตรฐาน ETCS level 1: (European Train Control System: ETCS) รวมถึง มีเครื่องยนต์รถจักรผลิตจากประเทศเยอรมนี ซึ่งมีค่ามาตรฐานในการปล่อยควันไอเสียต่ำตามมาตรฐานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนได้ติดตั้งระบบกล้อง CCTV เพื่อบันทึกเหตุการณ์ด้านหน้ารถจักรและเครื่องพ่วง เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการเดินรถอีกด้วย

        “รฟท. มั่นใจว่าโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าดังกล่าว จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่พี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยคาดว่าจะนำไปวิ่งให้บริการในเส้นทางรถไฟทางไกล เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าทั่วประเทศ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และเสริมศักยภาพในการหารายได้ของการรถไฟฯ ตลอดจนสเปคหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าดังกล่าวยังรองรับการขยายโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางรางอื่นๆ โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ที่จะทยอยเปิดให้บริการประชาชนในอนาคต” ผู้ว่ารฟท.กล่าว

Tags: