China 360°

ประชากรจีนลดลงในรอบ 61 ปี ทำไม? วิกฤตนี้อาจกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ของจีน

18

January

2023

17

January

2023

        จากยุคประชากรล้น สู่ยุคประชากรจีนลด สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยตัวเลขประชากรจีนล่าสุด ณ สิ้นปี 2565 มีจำนวนอยู่ที่ 1,411.75 ล้านคน ลดลงจากปีก่อนราว 850,000 คน 

        นับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 61 ปี และมีการวิเคราะห์ว่าอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

        ครั้งล่าสุดที่ประชากรจีนลดลงอย่างมากคือในช่วงทศวรรษ 1960  ที่จีนเผชิญวิกฤต “อดอยากครั้งใหญ่”

        อัตราการเกิดใหม่ของเด็กในจีนมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ในปี 2565 จีนมีเด็กเกิดใหม่เพียง 9.56 ล้านคน ลดลงจาก 10.62 ล้านคนในปีก่อน และนับเป็นครั้งแรกที่ตัวเลขประชากรเกิดใหม่ของจีนลดต่ำกว่า 10 ล้านคน นับจากปี ค.ศ.1950 หรือในรอบ 70 ปี

        อัตราประชากรเสียชีวิตในปี 2565 อยู่ที่ 10.41 ล้านคนแซงหน้าอัตราการเกิด

        ขณะที่ประชากรเพศชาย มีจำนวนมากกว่าเพศหญิง ( ชาย 722.06 ล้านคน / หญิง 689.69 ล้านคน)          

ทำไมประชากรจีนถึงลดลง?

        สาเหตุที่ประชากรจีนลดลงมาจากหลายๆปัจจัย คนจีนยุคใหม่แต่งงานช้า มีลูกช้า หลายคนไม่ค่อยอยากมีลูกเนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะที่จำนวนผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ลดลง ทำให้เด็กเกิดใหม่ลดลง สวนทางกับคนสูงอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประชากรจีนเติบโตติดลบ

        ปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลง ยังเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายลูกคนเดียวที่จีนเคยใช้มายาวนานตั้งแต่ปี 2522-2558 แม้ปัจจุบันจีนจะอนุญาตให้มีลูกได้ถึง 3 คน รวมถึงอัดฉีดมาตรการจูงใจให้ประชาชนมีลูกมากขึ้น แต่อัตราการเกิดของจีนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง                                  

โครงสร้างประชากรเปลี่ยน ระเบิดเวลาลูกใหญ่ของจีน ?

        ข้อมูลล่าสุด จากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ระบุว่าจีนมีประชากรวัยทำงาน (อายุ 16 - 59 ปี) ราว 875.56 ล้านคน คิดเป็น 62.0% ขณะที่จำนวนประชากรสูงอายุ (ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป)มีมากถึง 209.78 ล้านคน คิดเป็น 14.9% ของประชากรทั้งหมด

        แม้เจ้าหน้าที่ทางการจีนจะระบุว่า การเติบโตติดลบของประชากรจีนไม่ใช่เรื่องน่าวิตก เพราะปัจจุบันจีนยังคงมีจำนวนแรงงานมากเกินความต้องการ แต่การหดตัวของประชากรจีนที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดกันไว้ว่าเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2028 ทำให้มีเสียงเตือนจากผู้เชี่ยวชาญว่าจีนไม่ควรประมาท

        เพราะผลกระทบใดๆ จากปัญหาด้านประชากรของจีน อาจกลายเป็นระเบิดเวลาที่ไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อจีนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบในวงกว้างต่อพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลกที่ต่างต้องพึ่งพาตลาดจีนอีกด้วยความเสี่ยงจากการที่จีนมีประชากรลดลง และกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

       เมื่อคนเกิดใหม่น้อย ความเสี่ยงที่จะตามมาคือปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะเด็กที่จะเติบโตเป็นคนวัยทำงาน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตจะมีลดลง รายได้ภาษีของรัฐบาลในระยะยาวก็จะลดลงไปด้วย ขณะที่สังคมต้องแบกภาระหนักอึ้งในการดูแลประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นผู้สูงอายุจนอาจกลายเป็นวิกฤตเงินบำนาญ

       ประชากรที่น้อยลง ยังหมายถึงจำนวนผู้บริโภคที่น้อยลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีเป้าหมายเป็นเด็กอย่างโรงเรียน และมหาวิทยาลัย ตลาดผู้บริโภคที่หดตัวยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงภาวะการลงทุนกลายเป็นผลกระทบลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจโดยรวม  

จีนกำลังเสียแชมป์ประชากรเยอะที่สุดในโลกให้อินเดีย

        ข้อมูลการหดตัวของประชากรจีนที่เปิดเผยออกมาล่าสุด  ยังเป็นการตอกย้ำการคาดการณ์ของสหประชาชาชาติว่าอินเดียจะแซงหน้าจีน ก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกภายในปีนี้  

        จากการประมาณการตัวเลข ประชากรของอินเดียที่มีมากกว่า 1,400 ล้านคน และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

        รายงานของ Reuters ระบุว่าข้อมูลการค้นหารถเข็นเด็กออนไลน์บนเว็บไซต์ Baidu ของจีนลดลงถึงร้อยละ 17 ในปี 2565 และลดลงร้อยละ 41 ตั้งแต่ปี 2561 ในทางกลับกัน การค้นหาสถานดูแลผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าในช่วงปีที่ผ่านมา

        ขณะที่ Google Trends ของอินเดียแสดงผลการค้นหาขวดนมเด็กเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และการค้นหาเปลเด็กก็เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าในปีที่ผ่านมา

        ด้าน  WorldPopulation Review ได้จัดอันดับ 10 ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกขณะนี้(ข้อมูล วันที่ 17 ม.ค.) พบว่า จีนยังคงเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกโดยมีประชากรทั้งประเทศจำนวน 1,425,833,091 คน ตามมาด้วยอันดับ 2 อินเดีย มีประชากร 1,422,627,451 คน

📌ที่มาข้อมูล :

:: Workpoint Today :: Thai PBS :: ไทยรัฐออนไลน์

:: ผู้จัดการออนไลน์ :: People's Daily :: The Paper

Tags:
No items found.