Focus

ไทยระวังเสียแชมป์ การส่งออกทุเรียนไปจีน

27

September

2022

23

September

2022

        เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมาได้มีพิธีเปิดมหกรรมแสดงสินค้า ‘จีน-อาเซียน’ (China-ASEAN Expo) ครั้งที่ 19 ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการนานาชาติหนานหนิงนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงของจีน ซึ่งหนึ่งในสินค้าที่เป็นพระเอกในงานก็คือทุเรียนทั้งแบบทุเรียนสด และทุเรียนแปรรูปจากประเทศไทย งานนี้จัดขึ้นเพื่อแสดงสินค้าของประเทศอาเซียนและประเทศสมาชิกความตกลงการเป็นหุ้นส่วนระดับภูมิภาค (RCEP)โดยตั้งแต่มีการก่อตั้งเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน ทั้งประเทศจีนและไทย ก็ได้เกิดการแลกเปลี่ยนด้านการค้ากันมากขึ้น ทำให้ความต้องการทุเรียนของชาวจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุเรียนสดและผลิตภัณฑ์ทุเรียนของไทยถูกขนส่งผ่านช่องทางต่างๆสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วจีน และเป็นที่นิยมในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนไม่แพ้กัน

       ก่อนหน้านี้ ทุเรียนไทยกว่าจะขนส่งเข้าถึงมณฑลเสฉวนรวมถึงมหานครฉงชิ่ง และเมืองอื่นๆ ในภาคตะวันตกของจีน ส่วนการส่งทางทะเลจะมีการส่งไปยังเมืองท่าเรือในภาคตะวันออกก่อนแล้วจึงส่งต่อผ่านเส้นทางอื่นภายในประเทศจีนอีก หลังจากการเปิดเส้นทางขนส่งแบบผสมผสานทางรางและทางทะเลในจีนตะวันตกสายใหม่ ทางรถไฟจีน-เวียดนาม และรถไฟจีน-ลาว ทุกวันนี้ทุเรียนไทยเดินทางตรงถึงเสฉวนและฉงชิ่ง หรือกระทั่งภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนได้เร็วขึ้น

        หลังจากการบังคับใช้ความตกลงRCEPเมื่อ 1 ม.ค. ปีนี้รถไฟบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่อัดแน่นด้วยทุเรียนไทย 17 ตู้ก็วิ่งผ่านเวียดนามมาถึงด่านผิงเสียงในกว่างซีด่านนำเข้าผลไม้ทางรถไฟแห่งแรกของจีน โดยจีนนำเข้าทุเรียนจากอาเซียนผ่านเส้นทางรถไฟจีน-เวียดนามแล้วกว่า 14,000 ตันนับถึงวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา

        นอกจากทางรถไฟแล้วในด้านการขนส่งทางอากาศเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ทุเรียนไทยล็อตหนึ่งบินลัดฟ้ามาถึงสนามบินหนานหนิงหลังทำการบินเพียง 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นความสำเร็จด้านการบริหารจัดการของสนามบินฯและทำให้ทุเรียนจากสวนในไทยสามารถมาโผล่ที่ตลาดจีนได้ใน 24ชั่วโมง

        ดร.ภูมิพัฒณ์ พงศ์พฤฒิกุล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และ ดร.สุเทพ นิ่มสาย วิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนึ่งในกลุ่มนักวิจัยที่มีผลงานด้านการค้าไทย-จีน กล่าวไว้ในบทความ “การส่งออกทุเรียนไทยไปยังประเทศจีน” ว่า ทุเรียนเป็นกลุ่มผลไม้ที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และในกลุ่มสินค้าหลักของไทยที่ส่งออกไปยังประเทศจีน ไม่พูดถึงทุเรียนคงจะไม่ได้ เนื่องจากทุเรียนอยู่ในกระแสข่าวทั้งทางด้านราคา รสชาติและในด้านการแข่งขันกับประเทศต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ทุเรียนจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าประเภทผลไม้สด แช่แข็ง แช่เย็น และอบแห้ง ซึ่งถือเป็นสินค้าที่ติดอยู่ใน 15 อันดับที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศจีนมากที่สุด

        แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่สามารถปลูกทุเรียนได้ คู่แข่งสำคัญของไทยคือ ประเทศมาเลเซีย เพราะประเทศมาเลเซียมีจุดเด่นที่สายพันธุ์ทุเรียน ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับ Premium Grade นั่นคือ พันธุ์มูซานคิง เป็นพันธุ์พื้นเมืองของมาเลเชียและได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งทุเรียน”เพราะมีรสชาติดี เนื้อเนียนสีแหลืองเข้ม รสชาติหวานมัน มีกลิ่นเฉพาะตัวและเป็นที่นิยมของชาวจีน มูซานคิงมีราคาสูงกว่าหมอนทองมาก นอกจากประเทศมาเลเซียแล้ว ก็ยังมีประเทศเวียดนามอีกประเทศที่กำลังขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย

       นักวิจัยด้านการค้าไทย-จีน ยังแนะนำอีกว่า การส่งออกทุเรียนเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อทำข้อตกลงและบริหารจัดการ ควบคุมคุณภาพไม่ให้มีทุเรียนอ่อน และทำหน้าที่รวมสินค้ารวมถึงคำนวณเรื่องระยะเวลาการจัดส่งไม่ให้ทุเรียนไปถึงแล้วสุกเกินไป เพราะถึงแม้ตอนนี้จีนจะอนุญาตให้ไทยส่งออกทุเรียนสดไปขายได้เพียงประเทศเดียว จากการได้รับอนุญาตสำนักควบคุมคุณภาพ และตรวจสอบกักกันโรคแห่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน (GeneralAdministration of Quality Supervision Inspection and Quarantine of PeopleRepublic of China – AQSIQ) โดยนับว่าเป็นสินค้าชั้นสูง แต่ทุเรียนจากเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซียและเวียดนามที่กำลังมาแรงในขณะนี้ ก็นับว่าเป็นคู่ปรับรายใหญ่บนสังเวียนการค้าที่ไทยไม่ควรมองข้าม

---------------------------------

ภาพประกอบจากซินหัว

Tags: