Focus

ทิศทางจีน ‘สมัยที่ 3 ของสี จิ้นผิง’ โอกาสและผลกระทบต่อไทย

25

November

2022

1

November

2022

        แม้ว่าการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 จะปิดฉากลงแล้ว แต่การเดินทัพใหม่ของคณะผู้นำจีนชุดใหม่เพิ่งเริ่มต้น ทิศทางจีนในสมัยที่ 3 ของ‘สี จิ้นผิง’จะเป็นอย่างไร? และนโยบายด้านไหนบ้างที่จะส่งแรงกระเพื่อมมาถึงไทย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธาน และเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน วิเคราะห์ว่าจากนี้ไปทิศทางของจีน น่าจะเป็นการสร้างความต่อเนื่องของนโยบายที่สำคัญๆ ซึ่งหลายเรื่องจะปรากฏชัดเจนขึ้นในวาระที่ 3 ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธาน และเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

        “เรื่องแรกคือการกำหนดนโยบายที่ใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะไปเชื่อมโยงกับนโยบายความมั่งคั่งร่วมกัน (Common Prosperity) และยังเชื่อมต่อไปยังมิติด้านอื่น ๆ เช่นการกระจายการเติบโตจากในเมืองไปสู่พื้นที่ชนบทในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น

        นอกจากนี้ ยังเชื่อมต่อไปยังมิติความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอาหาร ซึ่งจีนอาจจะมองว่า นี่คือหนึ่งในความท้าทายที่รออยู่ในอนาคต ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร และส่งกระทบไปถึงมาตรฐานการครองชีพ การกินดีอยู่ดีของผู้คน ดังนั้น จึงคาดว่าทิศทางในเทอมที่3 ของท่านสี จิ้นผิง จะมีการผลักดันนโยบายความมั่นคงด้านอาหารให้เกิดรูปธรรมมากขึ้น ผ่านการสร้างความกระชุ่มกระชวยให้กับพื้นที่ชนบท ควบคู่ไปกับการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ”

           “ทิศทางที่เราจะได้เห็นคือ พื้นที่ชนบทของจีนจะเติบโตเร็วขึ้น ผู้คนในชนบทจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมีรายได้เฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้น”
"7 อรหันต์" หรือคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมืองชุดใหม่ของจีน

           ดร.ไพจิตรวิเคราะห์ว่า หากถอดรหัส "7 อรหันต์" หรือคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมืองชุดใหม่ จะพบว่ามี 3 ท่านด้วยกัน ได้แก่ ท่านหลี่เฉียง ท่านไช่ฉี ท่านหลี่ซี ที่มาจากหัวเมืองหลักของการพัฒนากลุ่มเมืองหลักของจีน ซึ่งผมคิดว่าทั้ง3 ท่านนี้ จะมีบทบาทในการช่วยกำกับชี้แนะการพัฒนาของกลุ่มเมืองอื่น ๆ หรือ CityCluster ให้ขยายเติบโตมากขึ้น กลายเป็นระเบียงเศรษฐกิจขนาดใหญ่ภายในประเทศ ที่ก่อให้เกิดการบูรณาการเศรษฐกิจระหว่างเมืองต่างๆ ภายในกลุ่มเมือง ซึ่งจะไปเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์  Dual Circulation หรือเศรษฐกิจวงจรคู่ที่จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น

           “อีกหนึ่งนโยบายที่จีนจะให้ความสำคัญคือ การพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีผมคิดว่าเราอาจจะได้เห็นนโยบายใหม่ที่ต่อยอดจากนโยบายเดิมอย่าง “Made in China 2025” ที่ใกล้จะสิ้นสุดลง จีนจะไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแค่การผลิตแล้ว แต่จะยกระดับเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เป็นมิติการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในเชิงคุณภาพที่จะเพิ่มสูงขึ้น”

· จีนที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และมั่นคงมากขึ้น

        ดร.ไพจิตร ยังวิเคราะห์ด้วยว่า “สัญญาณหนึ่งที่สะท้อนผ่านคำกล่าวของท่านสี จิ้นผิง ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ผมคิดว่าท่านพูดถึงคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเสถียรภาพและความมั่นคงเพิ่มมากขึ้น สะท้อนว่าจีนอาจจะมีความระวัดระวัง หรือเตรียมวางแผนอะไรหลายอย่าง เพื่อที่จะเตรียมรับมือกับสถานการณ์โลกในอนาคต ขณะที่การปราบปรามคอรัปชั่นจะเป็นอีกหนึ่งในนโยบายหลัก ๆ ที่จะคงดำเนินต่อไป และอาจจะเข้มขึ้นในวาระที่ 3 ของของท่านสี จิ้นผิง”

        ในมุมมองของดร.ไพจิตรภาพที่เราจะได้เห็นในทิศทางต่อไปของจีน คือ “จีนที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและมั่นคงมากขึ้น”

        “ผมคิดว่าจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งในอนาคตภายใต้การนำของท่านสีจิ้นผิง จะวางท่าทีต่าง ๆ ในเวทีโลกได้อย่างสุขุมนุ่มนวล ตัวอย่างเช่น การวางจุดยืนตอกย้ำสถานะของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข พัฒนาไปบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว ซึ่งผมคิดว่าเป็นท่าทีที่หลายประเทศและประชาชนของหลาย ๆ ประเทศในโลกมองหาและมุ่งหวังอยู่

        ขณะที่การก้าวขึ้นมาของ 7 อรหันต์พรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดใหม่ ได้สะท้อนถึงการกระชับอำนาจของท่านสีจิ้น ผิง ในระดับที่สูงขึ้น ดังนั้น มิติในด้านความมั่นคงก็จะเพิ่มสูงขึ้น”

 

·  จีนต้องพึ่งโลก และโลกต้องพึ่งพาจีน

        อีกหนึ่งไฮไลท์คำกล่าวของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง หลังได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่ออีกสมัย นั่นคือ “จีนไม่สามารถพัฒนาโดยแยกตัวจากโลกได้และโลกก็ต้องพึ่งพาจีนเพื่อการพัฒนาเช่นกัน”

        ดร.ไพจิตรมองว่า คำกล่าวนี้นับเป็นการตอกย้ำบทบาทความสำคัญของจีนที่มีต่อเศรษฐกิจโลก และสะท้อนถึงการพึ่งพาระหว่างกันและกันของจีนกับเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญเพิ่มขึ้นในอนาคต

        “วันนี้จีนมีความสำคัญทั้งในมิติด้านการผลิต ด้านอุปทานของโลก ขณะเดียวกัน ในด้านอุปสงค์ จีนก็เป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่สุดของโลก ขนาดเศรษฐกิจของจีนเติบใหญ่ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ดังนั้น อิทธิพลของจีนที่มีต่อเศรษฐกิจโลกย่อมเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่จีนเองก็เติบโตบนพื้นฐานของการพึ่งพากับเศรษฐกิจโลกในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

       ผมเชื่อว่า จีนจะได้รับประโยชน์จากการเปิดกว้างบนพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจโลกที่เปิดเสรีได้เพิ่มมากขึ้น และจีนจะมีความสำคัญเพิ่มสูงขึ้นในการเป็นศูนย์กลางต่าง ๆ บนเวทีโลกในอนาคต ยิ่งในเทอมที่ 3 ของการดำรงตำแหน่งของท่านสี จิ้นผิง ผมคิดว่าเราจะได้เห็นการผลิดอกออกใบของยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Beltand Road Initiative หรือ BRI) ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งเศรษฐกิจจีน และต่อเศรษฐกิจและสังคมโลกอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

        ทิศทางจากนี้ไปสิ่งที่เราจะเห็น คือ จีนจะเชื่อมกับโลก และยังคงบทบาทในการสร้างประโยชน์ในมิติของความมั่งคั่งความผาสุกกับประเทศอื่น ๆ โดยแบ่งปันแนวทางการพัฒนาของจีนให้ประเทศอื่น ๆได้ศึกษาเรียนรู้ เช่น การแก้ปัญหาความยากจน หรือแม้แต่แนวคิดความมั่งคั่งร่วมกัน หรือ Common Prosperity” ดร.ไพจิตรกล่าว

·  โอกาสและผลกระทบต่อไทย

        สำหรับประเด็นคำถามว่าจีนในสมัยที่ 3 ภายใต้การนำของสี จิ้นผิง จะมีนโยบายที่สร้างแรงกระเพื่อมส่งมาถึงไทยในด้านใดบ้าง? ดร.ไพจิตร วิเคราะห์ว่า ในมิติเชิงบวกนโยบายในการพัฒนาของจีน จะทำให้เกิดการเติบโตของตลาดกลุ่มคนชั้นกลางมากขึ้น ซึ่งจะสร้างโอกาสอีกมากให้กับสินค้าและบริการของไทย อย่างเช่นเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าหากจีนกลับมาเปิดประเทศในอนาคต ตลาดท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนที่จะมาเมืองไทยจะเป็นตลาดในมิติเชิงคุณภาพ สิ่งสำคัญคือการที่ไทยต้องปรับตัว และคว้าโอกาสให้เท่าทัน

        “มองในเชิงบวกคือโอกาสที่เราจะเติบโตไปกับจีนจากกำลังซื้อของชาวจีนที่มากขึ้น และการขยายการลงทุน ซึ่งต่อไปจีนจะกลายเป็นนักลงทุนหลักของโลกที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งไทยถือเป็นหมุดหมายสำคัญในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งไทยเองต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับโอกาสที่จะเข้ามา เช่น การบรรจุภาษาจีนในหลักสูตรการเรียนการสอนขั้นพื้นฐาน การเพิ่มทักษะภาษาจีนให้กับแรงงานและบุคลากรของไทย การเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ เช่น บริการด้านสุขภาพเพื่อรองรับชาวจีนที่จะเข้ามาลงทุนและทำธุรกิจในไทย

        ขณะที่มุมมองภาคเอกชนไทย จากการพูดคุยและสำรวจความคิดสมาชิกของหอการค้าไทยในจีน ต่างมีมุมมองในเชิงบวกและมีความมั่นใจต่อเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาลจีน ซึ่งจะส่งผลให้นโยบายต่าง ๆ มีความต่อเนื่อง

        สมาชิกของเราที่อยู่ในจีนทั้งหมด ต่างยืนยันว่าจะยังคงลงทุนต่อที่เมืองจีน และจะเพิ่มการลงทุนอีกในอนาคต เพราะเชื่อมั่นในรัฐบาลจีนภายใต้การนำของท่านสี จิ้นผิงในวาระที่ 3 ” ดร.ไพจิตร รองประธาน และเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าว

        ด้านบทวิเคราะห์ศูนย์วิจัยธุรกิจธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ โดย ดร. ธนพล ศรีธัญพงศ์ ซึ่งได้สรุปนโยบายสำคัญจากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่20 และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย มองว่า ผลของนโยบายเศรษฐกิจจีนสามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่

        1)  ด้านการค้า ภาคการส่งออก การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะสั้นในช่วงปี 2565 ถึงอย่างน้อยกลางปี 2566 จะทำให้ความต้องการในการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศของจีนลดลงโดยเฉพาะจากประเทศแถบอาเซียน รวมถึงประเทศที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบสูงจากความสัมพันธ์ของห่วงโซ่อุปทานไทย-จีนที่ใกล้ชิด

         ในอีกด้าน ภาคการนำเข้าสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนมาก เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาจยังคงมีแนวโน้มชะลอลง และอาจยังประสบปัญหาหากเกิดการล็อกดาวน์ในจีนอีก และอาจจะทำให้หลายธุรกิจประสบปัญหาความขาดแคลนวัตถุดิบ ตลอดจนส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตสินค้าที่อาจนำไปสู่การขาดแคลนสินค้าและทำให้ราคาสินค้าต่าง ๆ แพงขึ้นชั่วคราวได้เช่นกัน

        2) ด้านการเงินและการลงทุน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะทำให้การลงทุนโดยตรง(FDI) จากจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงได้ต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างการค้าของไทยและจีน เช่น อุตสาหกรรมยางและพลาสติกรถยนต์และชิ้นส่วน การค้าส่งและค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์

     3) ด้านการท่องเที่ยว ในช่วงก่อนการระบาดนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด แต่เนื่องจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลจีนจากถ้อยแถลงและสรุปการประชุม ทำให้ยังไม่มีวี่แววชัดเจนว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนจะกลับมาเมื่อใด แต่คาดว่าน่าจะเริ่มเห็นโอกาสการทยอยกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนได้ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี2566 เป็นต้นไป หากจีนเริ่มทยอยผ่อนคลายนโยบาย

Tags: