Focus

ส่องทิศทางเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 /2565 ผ่านมุมมอง‘หอการค้าไทย-จีน’

10

October

2022

31

August

2022

        เมื่อวันที่ 31 ส.ค. หอการค้าไทย-จีน นำโดย ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน จัดแถลงข่าวผลสำรวจความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน ไตรมาส 4/2565 โดยร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจความคิดเห็นจากผู้ประกอบการตัวจริง ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารระดับสูงที่มีประสบการณ์ทางธุรกิจยาวนาน มีความใกล้ชิดกับภาครัฐและภาคเอกชนจีนและชาวจีนโพ้นทะเล ระหว่างวันที่ 16 - 18 ส.ค. ที่ผ่านมา เพื่อคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่4 ของปี 2565 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

การคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของไทย

·       ผลจากการสำรวจ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.3% ในปี 2565  ท่ามกลางความกังวลที่จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ การถดถอยของเศรษฐกิจโลก, ภาวะเงินเฟ้อ, เสถียรภาพการเมืองในประเทศ, หนี้ครัวเรือนและวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมถึงความกังวลต่อความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

·       ร้อยละ 40.3 ของนักธุรกิจที่ตอบแบบสำรวจ คาดว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมในไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน จะปรับตัวดีขึ้น อีกร้อยละ 30.8 คาดว่าจะทรง ๆ ขณะที่ร้อยละ 26.2 จะชะลอตัวลงอีก

·       ภาคธุรกิจที่ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสหน้า คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจออนไลน์ ธุรกิจบริการสุขภาพ พืชผลการเกษตร ธุรกิจบริการสุขภาพ ธุรกิจโลจิสติกส์ และสินค้าเกษตรแปรรูป

·       ส่วนธุรกิจที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว พืชผลการเกษตร พลังงานและสาธารณูปโภค อสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการผลิต

ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน

·       ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนมาก มองว่า ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ยังเป็นโอกาสของประเทศไทยที่สำคัญ และจะนำไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ หากได้รับการแก้ไขอุปสรรคอย่างรวดเร็ว และจากการที่ประเทศไทยยกเลิกระบบ Thailand Pass ตั้งแต่วันที่1 ก.ค. เป็นต้นมา ส่งผลจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ราว 33,000 - 49,000 คนต่อวัน  โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ตั้งเป้าหมายดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในปี 2565 ไว้ที่ 10 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ยังยากที่จะคาดหวังนักท่องเที่ยวจากจีน เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศจีนที่ยังคุมเข้มการแพร่ระบาดโควิด-19  

 

มุมมองด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน

·       ผู้ตอบแบบสอบถาม มั่นใจว่าจีนยังเป็นตลาดส่งออกที่ไทยพึ่งพาได้  จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 40.7  คาดว่าเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนโดยรวมของจีนในไตรมาสที่ 4 จะดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ในขณะที่ร้อยละ 25.2 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะทรง ๆ ส่วนร้อยละ 31.5 มีความเห็นว่า เศรษฐกิจจีนน่าจะเติบโตช้าลง

·       ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.2565)  การค้าระหว่างไทยและจีนขยายตัว 7.34 %  แต่การส่งออกไปจีน หดตัวติดลบ 2.62%  โดยเดือนก.ค. หดตัว 20.60% แต่การนำเข้าจากจีนขยายตัว13.17%  ไทยจึงเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้ากับจีน

·       สินค้าส่งออกสำคัญ ๆ ของไทยไปยังจีน  ได้แก่ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, เม็ดพลาสติก, ผลิตภัณฑ์ยาง, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, ยางพารา,ผลไม้สด  แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง เป็นต้น โดยสินค้าสำคัญ ๆ ที่ส่งออกไปจีน ที่หดตัวลง ได้แก่ รถยนต์และอุปกรณ์ (-66.90%), เคมีภัณฑ์(-30.26%), ยางพารา (-7.31%), สินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ (-30.68%)

·       อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า การส่งออกของไทยไปยังจีนยังมีโอกาสอีกมาก โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร (เช่น อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง) ซึ่งยังมีอัตราการขยายตัวที่ 6.53% และ 23.44% ตามลำดับ เนื่องจากค่าระวางเรือมีแนวโน้มลดลง,ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง และมีความต้องการอาหารเพื่อบริโภคในประเทศจีน  ทั้งนี้ต้องมีการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงRCEP และการส่งเสริมการค้าระดับมณฑลของจีน ซึ่งคาดว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

·       ส่วนด้านการลงทุนของจีนในประเทศไทยคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นซึ่งสอดคล้องกับสถิติการยื่นขอ BOI ของนักลงทุนจีนในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ได้รับการอนุมัติรวม 48 โครงการ มีมูลค่าการลงทุน 24,620 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 3 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ  (อันดับ 1 คือ ไต้หวัน, อันดับ 2 คือ ญี่ปุ่น)

·       นอกจากนี้  จากการหารือกับผู้ประกอบการจีนในประเทศไทยส่วนหนึ่งคาดว่าจะมีนักเรียนนักศึกษาจีนเดินทางเข้ามาศึกษาหลักสูตรนานาชาติของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น  ส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภคและที่อยู่อาศัยซึ่งคาดว่ากำลังซื้อของคนจีนเหล่านี้จะช่วยให้ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยฟื้นตัวขึ้นมาได้ระดับหนึ่งโดยเฉพาะคอนโดมิเนียมและวิลล่าเฮ้าส์ที่มีมูลค่าสูง จึงเชื่อว่าหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19  นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนชาวจีน จะหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจะมีผลสำคัญในการฟื้นตัวและการพัฒนาตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยต่อไป

Tags: