Focus

ส่องทิศทางเศรษฐกิจปี 2566 ผ่านดัชนีความเชื่อมั่น’หอการค้าไทย-จีน’

3

January

2023

8

December

2022

‘หอการค้าไทย-จีน’ เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาส 1 /2566 คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดี ได้แรงหนุนจากท่องเที่ยว มั่นใจจีนจะขยายการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่‘ค่าเงินผันผวน-หนี้ครัวเรือน’ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ท้าทาย

        เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. หอการค้าไทย-จีน นำโดย ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน และ รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันแถลงข่าวผลสำรวจความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน เพื่อคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 ได้สำรวจความคิดเห็นจากผู้ประกอบการตัวจริง ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารระดับสูงที่มีประสบการณ์ทางธุรกิจยาวนานมีความใกล้ชิดกับภาครัฐและภาคเอกชนจีนและชาวจีนโพ้นทะเล จำนวน 200 คน  ระหว่างวันที่ 24 พ.ย. ถึง 1 ธ.ค. 2565  สรุปประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2566

        จากผลสำรวจพบว่าปัจจัยความท้าทายที่ผู้ประกอบการกังวลมากที่สุดต่อเศรฐกิจโลกในปี 2566 คือ ปัญหาของเงินเฟ้อที่ส่งผลต่อตลาดการเงิน เช่น การขึ้นดอกเบี้ย และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาการยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยทั้งสองปัจจัยดังกล่าวมีความสำคัญมากกว่าราคาของพลังงานที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง

ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน

ความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยในปี2566

        จากผลสำรวจพบว่า4 ประเด็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการให้น้ำหนักเท่า ๆ กัน คือ ปัจจัยในประเทศได้แก่ (1) หนี้ครัวเรือน และหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ได้แก่ (2) ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน (3)การส่งออกที่ชะลอตัวเพราะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญยังไม่ฟื้นเต็มที่  และ (4)การรอคอยการกลับมาของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ(โดยรอนักท่องเที่ยวจากจีนเป็นสำคัญ)

การท่องเที่ยว – การลงทุน EV ... ดาวเด่นหนุนเศรษฐกิจไทย  

        ด้านปัจจัยที่จะมีส่วนช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างรวดเร็วในปี 2566  พบว่ามี 2 ปัจจัยหลัก ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคต่างประเทศทั้งสิ้น ได้แก่การกลับมาเยือนไทยอย่างมีนัยสำคัญของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และความสำเร็จที่จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศมาลงทุนโดยตรงใน“อุตสาหกรรมใหม่ๆ” และผู้ตอบการสำรวจยังให้ความสำคัญต่อปัจจัยในประเทศอีก 2 ด้าน ประกอบด้วย ความเชื่อมั่นของประชาชนที่จะเริ่มจับจ่ายใช้สอย และภาครัฐลงทุนเพิ่มในปรับระบบสาธารณูปโภค

        ด้านสัญญานการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากที่คาดว่าปลายปี 2565ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเยือนไทย 10 ล้านคน (แต่ในจำนวนนี้ยังไม่มีชาวจีน)พบว่า ร้อยละ 24.3 และร้อยละ 58.6 ของผู้ตอบการสำรวจ มั่นใจมากที่สุด และมั่นใจมากพอควรตามลำดับ ว่าการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คำถามเชิงนโยบายคือทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังจ่ายสูงมาเที่ยวเมืองไทยให้มากขึ้น

        ด้านการลงทุนจากต่างประเทศนั้น ผู้ตอบเกือบทั้งหมดลงความเห็นว่านักลงทุนจากต่างประเทศจะสนใจอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยมากที่สุด และตามมาอย่างห่าง ๆ ด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เกษตรและอาหาร พลังงานทดแทนและการท่องเที่ยว

        ขณะที่ปัญหาของเงินเฟ้อยังถูกหยิบยกขึ้นมาเพราะเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.2 และ 23.7คาดว่าปัญหาที่เกิดจากเงินเฟ้อจะเริ่มผ่อนคลายลงในไตรมาสที่สอง และสาม ตามลำดับแต่มีร้อยละ 21 คิดว่าน่าจะเริ่มผ่อนคลายได้ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2566 ขณะที่แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าจะยังคงเผชิญกับความผันผวนต่อไปอีก  

คาดเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2566 ฟื้นตัวดีขึ้น

        ด้านการคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ของไทยโดยรวมในไตรมาสแรกของปีหน้า เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน ร้อยละ 55.3 ของนักธุรกิจที่ตอบแบบสำรวจคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ร้อยละ 31.5 จะทรงๆ เพียงร้อยละ 10.5ไตรมาสแรกจะชะลอตัวลงอีก

        ทั้งนี้ ภาคธุรกิจที่ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสหน้า คือธุรกิจการท่องเที่ยว พืชผลการเกษตร ธุรกิจบริการสุขภาพ ธุรกิจออนไลน์และธุรกิจสินค้าเกษตรแปรรูป ส่วนธุรกิจที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือธุรกิจการท่องเที่ยว พืชผลการเกษตร อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างพลังงานและสาธารณูปโภค  

มั่นใจจีนขยายการลงทุนในไทยมากขึ้น

        ด้านการคาดการณ์ไตรมาสแรกของปีหน้าเมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน เมื่อได้สอบถามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศจีน ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ร้อยละ 37.6คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะดีขึ้น ขณะที่ร้อยละ 32.6 คาดว่าจะทรงตัว

        ส่วนการส่งออกของประเทศไทยไปยังประเทศจีนร้อยละ 50.3 ของผู้ให้ข้อมูล คาดว่าไตรมาสแรกของปีหน้าจะดีกว่าช่วงปัจจุบัน ส่วนร้อยละ 33.7 คาดว่าการส่งออกยังคงทรงๆเช่นปัจจุบัน ร้อยละ 44.8 ของผู้ให้ข้อมูล คาดว่าการนำเข้าของไทยจากจีนจะเพิ่มขึ้น และร้อยละ 32.6 คาดว่าจะทรงๆ

        ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 56.9 ของผู้ให้ข้อมูลคาดว่าการลงทุนจากจีนมาไทยจะเพิ่มขึ้น สาเหตุอาจจะเป็นเพราะการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนที่เริ่มมีอย่างต่อเนื่องมายังประเทศสมาชิกอาเซียนเพราะปัญหาความท้าทายจากภูมิรัฐศาสตร์โลกและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และสืบเนื่องจากความสำเร็จของกรอบ RCEP

ไทยพร้อมต้อนรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน

        ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจครั้งนี้พบว่า ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นทั้งตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และยังคงเป็นธุรกิจที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน  อุปสรรคสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คือจำนวนเที่ยวบินที่เดินทางเข้า-ออกประเทศไทย ไม่เพียงพอต่อความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขประเด็นนี้เป็นการเร่งด่วน

        “ปีนี้ ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยมีจำนวนทะลุถึง 10 ล้านคน ซึ่งคาดว่าในปีหน้าจะขยายเพิ่มอีกขึ้นเท่าตัวเป็น 20 ล้านคน อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวจีนยังถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักที่เรารอคอยการกลับมา ล่าสุดจากการที่จีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการซีโร่โควิด ถือเป็นสัญญาณบวกว่าจีนกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดประเทศ หากจีนเปิดประเทศเมื่อไหร่ ผมคิดว่าเทรนด์การท่องเที่ยวจะเปลี่ยน จากอดีตที่เคยมาเป็นกรุ๊ปทัวร์รถบัสจะเปลี่ยนมาเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ กลุ่มครอบครัวและนักเดินทางอิสระที่มีการใช้จ่ายต่อหัวในไทยสูงขึ้น”

        ประธานหอการค้าไทย-จีน ยังตอบคำถามสื่อมวลชนถึงกรณีข่าวการปราบปรามทุนจีนสีเทาในไทย โดยย้ำว่า ปัญหาทุนจีนผิดกฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงคนส่วนน้อยที่เข้ามาทำธุรกิจแบบฉาบฉวย  ไม่ใช่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นนักธุรกิจจีนส่วนใหญ่ ซึ่งเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในไทยอย่างแท้จริง

         “ทุนจีนสีเทาที่กระทำผิดกฎหมายสามารถไปตรวจสอบได้เลยว่า ไม่ใช่กลุ่มที่เข้ามาลงทุนในด้านอุตสาหกรรม แต่เป็นการเข้ามาลงทุนแบบฉาบฉวย ซึ่งส่วนมากมาจากกัมพูชาและประเทศอื่น ไม่ได้มาจากนักธุรกิจที่อยู่ในประเทศจีนโดยตรง”

        ประธานฯ ณรงค์ศักดิ์ กล่าวย้ำว่า ทุกประเทศมีทั้งคนดีและไม่ดี จึงอยากให้มองอย่างแยกแยะ กรณีทุนสีเทาที่ตกเป็นข่าวใหญ่ ยอมรับว่าทำให้รู้สึกมีความกังวล เพราะกระทบต่อภาพลักษณ์โดยรวมของนักธุรกิจจีนในไทย  อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงของจีนในไทย อีกทั้งยังคาดว่าหากจีนเปิดประเทศเมื่อไหร่ จะยิ่งมีนักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นกว่าเดิม  โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ารวมถึงอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และยางพารา

         “หอการค้าไทย-จีนเป็นองค์กรที่ก่อตั้งมากว่า 112 ปีเรามีการตรวจสอบนักธุรกิจที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกและกรรมการอย่างเข้มงวด โดยต้องมีทะเบียนบ้านมีที่พำนักอยู่ในประเทศไทย หรือต้องมีกิจการมีบริษัทในไทยที่มีหลักแหล่ง เข้ามาทำธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  หากพบว่ากรรมการคนใดทำผิดกฎหมายไทย เราพร้อมดำเนินการเด็ดขาดปลดออกทันที ผมเห็นด้วยกับการปราบปรามผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย และเรายินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่”ประธานฯหอการค้าไทย-จีน กล่าวย้ำ

Tags: