Interview

กยท. เร่งเดินหน้า “ระบบตรวจสอบย้อนกลับ” เพิ่มขีดความสามารถส่งออกยางไทย

9

November

2023

26

July

2023

การยางแห่งประเทศไทย ประกาศความพร้อมรับเทรนด์ “สิ่งแวดล้อม-ความยั่งยืน” เดินหน้า “ระบบตรวจสอบย้อนกลับ” เต็มพิกัด เพิ่มขีดความสามารถส่งออกยางไทย

        จากกระแสโลกที่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องการอนุรักษ์ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น สิ่งนี้ได้เข้ามามีบทบาทความสำคัญในการซื้อขายสินค้าต่างๆ รวมถึงกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอียูที่กำหนดกฎระเบียบ EUDR (EU Deforestation-free Regulation) เพื่อควบคุมกลุ่มสินค้า 7 ประเภท ที่มีส่วนในการทำลายป่า หนึ่งในนั้นคือ “ยางพารา” โดยในอนาคต สินค้าที่อนุญาตให้จำหน่ายหรือส่งออกไปตลาดของอียู จะต้องผ่านระบบการตรวจสอบและประเมิน หรือ “ระบบตรวจสอบย้อนกลับ” (Traceability System) ซึ่งเป็นกระบวนการที่สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับไปจนถึงแหล่งกำเนิดสินค้าว่ามาจากพื้นที่ที่มีการทำลายป่าหรือทำให้ป่าเสื่อมโทรมหรือไม่

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

        นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ระบุว่า ในฐานะประเทศผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่อันดับ 1 ของโลก จำเป็นต้องให้ความสำคัญและดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าและส่งออกยางของไทย ดังนั้น การตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดของผลิตภัณฑ์ยางพารา เป็นนโยบายสำคัญที่การยางแห่งประเทศไทยมุ่งเน้นและดำเนินการเตรียมความพร้อมรองรับมาตรการนี้มาระยะหนึ่งแล้ว โดยวันนี้ต้องถือว่า กยท. มีความพร้อมในการจัดการระบบข้อมูลเกษตรกรชาวสวนยาง พื้นที่ปลูก สถาบันเกษตรกรผู้แปรรูปยาง ตลอดจนการจัดการข้อมูลการซื้อขายยางผ่านระบบตลาดกลางยางพาราของ กยท. โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบการจัดการสวนยางอย่างถูกต้องตามหลักสากล ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิต พร้อมลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว

ภาพจาก FB.การยางแห่งประเทศไทย RAOT

        พร้อมย้ำว่า ขณะนี้ยางพาราไทยพร้อมเข้าตลาด EU ตามกฎหมาย EUDR แล้ว เนื่องจาก กยท. ได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางไว้ในระบบมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีเกษตรกรชาวสวนยางขึ้นทะเบียนกับ กยท. กว่า 90% ซึ่งสามารถแสดงประเภทเอกสารทางกฎหมาย ระบุที่ตั้งของสวนยางได้ รองรับการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดของผลผลิตยาง ตั้งแต่กระบวนการปลูก การจัดการสวนยาง และการแปรรูปยางตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทย สามารถส่งไปขายในกลุ่มประเทศดังกล่าวได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

ภาพจาก FB.การยางแห่งประเทศไทย RAOT

        ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา กยท. ได้ดำเนินมาตรการที่สนับสนุน “ระบบตรวจสอบย้อนกลับ” มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งทำให้ทราบข้อมูลพื้นที่ปลูกของเกษตรกรแต่ละราย โดยนำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ ที่สามารถแสดงที่ตั้งของสวนยางมาใช้ ทำให้ทราบว่าพื้นที่ปลูกตั้งอยู่บนที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ในรูปแบบโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์อื่นๆ ที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

        เช่นเดียวกับข้อมูล “ผลิตภัณฑ์แปรรูปยาง” ของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ผ่านมาได้มีการจัดเก็บข้อมูลสมาชิกและข้อมูลการรับซื้อยางของสหกรณ์ ซึ่งบันทึกข้อมูลทั้งปริมาณและคุณภาพของยางพาราที่นำมาขายให้กับสถาบันฯ ตลอดจนข้อมูลการซื้อขายยางพาราผ่านตลาดกลางยางพาราของ กยท. ทั้ง 8 แห่ง

ภาพจาก FB.การยางแห่งประเทศไทย RAOT

        “เชื่อมั่นว่าระบบมาตรฐานจัดการข้อมูลของ กยท. ที่เชื่อมโยงตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง จะสามารถรองรับการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดของผลผลิตยางพาราได้ นำไปสู่การสร้างผลตอบแทนที่จะได้รับมากขึ้น ส่วนของผู้ผลิต ผู้ขาย ถือเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเรื่องของการส่งออกมากขึ้น”

        ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการนี้ เน้นย้ำในเรื่องผลผลิตยาง ที่ต้องมาจากสวนยางบนที่ดินถูกกฎหมาย และไม่รุกเขตป่าสงวน หน้าที่ของ กยท. คือการเดินหน้าสร้างความพร้อมให้กับวงการยางพาราไทยทุกภาคส่วนให้พร้อมรับมาตรการนี้ เพื่อขยายโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเรื่องการส่งออกยางพาราของไทยในตลาดโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จำเป็นต้องการบูรณาการความร่วมมือกับ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนต่างๆ อาทิ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำแผนที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม หรือกรมศุลกากร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เป็นต้น โดยตั้งเป้าสร้างเป็น National Platform ซึ่งถือเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ต้องดำเนินการร่วมกัน  

ภาพจาก FB.การยางแห่งประเทศไทย RAOT

        นายณกรณ์ กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้ายางพารารายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นตลาดส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของไทย ประมาณ 2.7 ล้านตันต่อปี ว่า “มาตรการตรวจสอบย้อนกลับนี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในฐานะที่จีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้ายางพารา เพื่อผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมถึงอียูด้วย เชื่อว่าจากความร่วมมือในการบูรณาการข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างกัน จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมยางพาราทั่วโลกเติบโตสูงขึ้น”

        ล่าสุด การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) บริษัท ซี ซี ไอซี (ประเทศไทย) จำกัด (C.C.I.C) และสมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านเศรษฐกิจและการค้าอาเซียน (SMEs ASEAN) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านธุรกิจยางพาราและไม้ยางพารา พัฒนามาตรฐานการผลิตและการตรวจรับรองผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราไทยให้ได้ตามมาตรฐานสากล เพื่อส่งออกไปยังตลาดจีนและตลาดอื่นๆ ในอาเซียน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานยางพาราไทยในฐานะประเทศผู้ผลิต

        ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ย้ำทิ้งท้ายว่า ด้วยความพร้อมของ กยท. ในการจัดการระบบเพื่อรองรับมาตรการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดผลิตภัณฑ์ยาง จะยิ่งขยายโอกาส และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศไทยในการส่งออกยางพาราสู่ตลาดโลกได้อย่างแน่นอน

Tags:
No items found.