China-ASEAN Panorama

หลัง COVID-19 มิตรภาพจีน-ไทยยังคงกระชับแน่น

7

April

2022

24

July

2020

ผู้เขียน: ถาน เหล่ย นิตยสาร CAP

        หลายประเทศในอาเซียนค่อยๆประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ตามแนวโน้มสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ลดลง เมื่อเร็วๆนี้ ไทยติดอันดับ 2 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชียด้านการฟื้นตัวจาก COVID-19 จากการจัดอันดับดัชนี Global COVID-19 Index (GCI) โดย PEMANDU Associates ของมาเลเซีย ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาดทั่วโลก ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่เป็นผลงานความสำเร็จที่ยอดเยี่ยมของไทย

        ในฐานะประเทศคู่ค้าที่สำคัญในอาเซียนของจีน ผลงานการรับมือ COVID-19 ของไทยเป็นเช่นไร? จีนไทยช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างไรบ้าง? ปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-ไทย? เมื่อเร็วๆนี้ หยาง เป่าอวิ๋น รองผู้อำนวยการสถาบัน China Society for Southeast Asian Studies (CSSAS), อาจารย์ผู้สอนระดับปริญญาเอก ศาสตราจารย์ประจำคณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มาร่วมแบ่งปันความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าว ผ่านกิจกรรม "ASEAN Join & Share Salon" ที่จัดขึ้น ณ วิทยาลัยอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี

ความสำเร็จของไทยในการต่อสูู้กับ COVID-19

        ปัจจุบันสถานการณ์ COVID-19 ในไทยมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี อุตสาหกรรมและภาคธุรกิจค่อยๆทยอยกลับมาเปิดดำเนินกิจการตามปกติ

หยาง เป่าอวิ๋น แบ่งมาตรการป้องกันและควบคุมโรค COVID-19 ของไทยออกเป็น 4 ระยะดังนี้

  • ระยะแรก ตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.ถึงตรุษจีน ช่วงนี้ในไทยยังคงมีนักท่องเที่ยวจีนอยู่เป็นจำนวนมาก และยังไม่ได้บังคับใช้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคในที่สาธารณะ แต่หลังจากตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรก ผู้คนก็เริ่มพากันหันมาสวมหน้ากากอนามัย
  • ระยะสอง ช่วงต้นเดือนมี.ค. ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น พื้นที่สาธารณะหลายแห่งงดใช้อุปกรณ์ร่วมกัน นักเรียนจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยเมื่อไปโรงเรียน
  • ระยะสาม วันที่ 26 มี.ค. กระทรวงสาธารณสุขไทยรายงานพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อสะสมทะลุหลัก 1,000 เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นได้มีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และบังคับใช้มาตรการควบคุมการเดินทางและป้องกันการแพร่ระบาด
  • ระยะสี่ ช่วงกลางเดือน พ.ค. ถึงกลางเดือน มิ.ย. จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มลดลง รัฐบาลไทยทยอยคลายล็อกดาวน์ 8 กิจการและสถานที่ที่เปิดให้บริการได้ และเมื่อไม่นานนี้ ไทยได้เตรียมแผนเปิดระเบียงท่องเที่ยว หรือ “Travel Bubble” เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รับนักท่องเที่ยว ‘จีน-เกาหลี-ญี่ปุ่น’ ไม่ต้องกักตัว 14 วัน

        หยาง เป่าอวิ๋น มองว่า สาเหตุที่ไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากไทยเป็นประเทศกลุ่มแรกๆที่มีการแพร่ระบาด และสามารถออกมาตรการรับมือได้อย่างทันท่วงที แม้ว่าสถานการณ์ฉุกเฉินจะกินเวลายาวนานต่อเนื่อง หรืออากาศจะร้อนมากเพียงใด แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงให้ความร่วมมือดีในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย เห็นได้ชัดว่า ความสำเร็จในการต่อสู้กับ COVID-19 ของไทย มีความเกี่ยวข้องเป็นอย่างมากกับจิตสำนึกของประชาชนในประเทศ

จีน-ไทย มิตรแท้ยามยาก จับมือกันก้าวข้ามอุปสรรค

        ท่ามกลางวิกฤต COVID-19  จีนและไทยได้ร่วมกันเอาชนะความยากลำบาก ดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาดในจีนเมื่อเดือน ม.ค. หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทยต่างร่วมส่งกำลังใจให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์จีนที่กรำศึกหนักอยู่แถวหน้า พร้อมทั้งแสดงความเต็มใจให้การสนับสนุนจีนอย่างเต็มที่ในการต่อสู้กับ COVID-19  นอกจากนี้ ไทยยังกล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องห้ามคนจีนเข้าไทย ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวจีนที่ติดค้างอยู่ โดยยกเว้นค่าปรับให้กับชาวจีนที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ เนื่องจากเที่ยวบินถูกระงับชั่วคราว

        เมื่อจีนเริ่มควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศได้ สถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยกลับค่อยๆรุนแรงขึ้น หลังเดือน มี.ค. สถานการณ์ COVID-19 ในไทยเริ่มน่าหวั่นวิตก จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จีนจึงเร่งส่งความช่วยเหลือด้านเวชภัณฑ์มายังไทย บริจาคยาต้านไวรัสที่จำเป็นให้ไทยอย่างเร่งด่วน ให้การสนับสนุนไทยในการต่อสู้กับ COVID-19 ซึ่งมีส่วนช่วยลดแรงกดดันต่อเศรษฐกิจและสาธารณสุขไทยได้ในระดับหนึ่ง

        หยาง เป่าอวิ๋น มองว่า การร่วมแรงร่วมใจต่อสู้กับ COVID-19 ของจีนและไทย จะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ จากผลสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำขึ้นโดยสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ชี้ให้เห็นว่า ในยามที่ไทยเผชิญหน้ากับโรคระบาดรุนแรง จีนคือประเทศมหาพันธมิตรที่คนไทยเลือกมากที่สุด 73.3% จากการจัดอันดับประเทศที่เป็นมหามิตรกับไทย ซึ่งทิ้งห่างกับประเทศอื่นค่อนข้างมาก

หลัง COVID-19  มิตรภาพจีน-ไทยแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

        ไทยเป็นดินแดนที่มีนัยสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์โลก และเป็นสนามแข่งขันของประเทศมหาอำนาจมาตั้งแต่สมัยอดีตกาล ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ระหว่างประเทศของไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การที่ไทยมีจีนเป็นประเทศพันธมิตร ยิ่งทำให้ทั่วโลกจับตามองทิศทางความสัมพันธ์จีน-ไทยเป็นพิเศษ

        ปี 2563 เป็นวาระครบรอบ 45 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย ตลอด 45 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์จีน-ไทยได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วเกือบครึ่งศตวรรษ และยิ่งพัฒนาแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงของการรับมือกับ COVID-19 ที่หน่วยงานภาครัฐเอกชน ตลอดจนประชาชนทั้งสองประเทศ ต่างช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน ร่วมผลักดันความสัมพันธ์จีน-ไทยไปสู่มิติใหม่

        เมื่อพูดถึงปัจจัยที่จะกระทบต่อทิศทางความสัมพันธ์จีน-ไทยหลัง COVID-19  หยาง เป่าอวิ๋น มองว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา มหาอำนาจบางประเทศได้เฝ้าจับตาอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นับวันยิ่งขยายวงกว้างมากขึ้น จึงได้พยายามผูกสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย หรือพยายามทำให้จีนกับไทยแตกคอกัน ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นต้องพึงระวังการยุยงปลุกปั่นจากประเทศอื่น ที่มุ่งจะทำให้ความสัมพันธ์จีน-ไทยเกิดการแตกหัก นอกจากนี้ปัญญาชนและนักวิชาการชั้นนําของไทยหลายคนมีภูมิหลังการศึกษาจากยุโรปและอเมริกา มุมมองที่พวกเขามีต่อจีนจึงเป็นแบบตะวันตก แต่โดยภาพรวมแล้ว นักวิชาการจีน-ไทยส่วนใหญ่ยังคงเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า หลัง COVID-19 สิ้นสุดลง ความสัมพันธ์จีน-ไทยจะยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดี เนื่องจากในช่วงของการแพร่ระบาด สังคมไทยมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี ผู้ประกอบการหลายรายได้ออกมาให้การช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งในนั้นมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้ประกอบการจีน

        COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อความคืบหน้าโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ระหว่างสองประเทศ บางโครงการต้องหยุดชะงักลงอย่างไม่มีกำหนด บางธุรกิจถึงขั้นประสบปัญหาด้านเงินทุน หยาง เป่าอวิ๋น แนะนำว่าในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ จีน-ไทยจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ระหว่างกัน พยายามทำให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็ต้องคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆที่เกิดขึ้นจากโรคระบาด เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และเร่งเดินหน้าหาความร่วมมือมิติใหม่ๆ เพิ่มเติม

Tags: