China-ASEAN Panorama

‘เป๋ยโต่ว’ ระบบดาวเทียมนำทางสัญชาติจีน “ก้าวออกไป” ก้องไกลทั่วหล้า

5

April

2022

25

September

2020

ผู้เขียน: สวี่ จวิ้นหาว นิตยสาร CAP        

        ดาวเทียม ‘เป๋ยโต่ว’ จรัสแสงท่ามกลางมวลหมู่ดาวบนท้องฟ้า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินและอวกาศของจีนได้ทุ่มเททุกวิถีทาง ฝ่าฝันอุปสรรค จนในที่สุดสามารถส่งดาวเทียมขึ้นประจำการบนอวกาศได้ครบถ้วนเสร็จสมบูรณ์

        ชื่อของดาวเทียม ‘เป๋ยโต่ว’ (北斗) มีที่มาจากชื่อเรียก ‘กลุ่มดาวคันไถ’ ของจีน การปล่อยดาวเทียมดวงสุดท้ายของระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว BDS-3 ขึ้นสู่วงโคจร ไม่เพียงทำให้จีนกลายเป็นชาติที่ 3 ในโลกที่มีระบบนำทางทั่วโลกเป็นของตัวเอง แต่ยังเปิดมิติทางเลือกใหม่ของบริการระบบนำทางให้กับแก่ผู้ใช้ในประเทศต่างๆทั่วโลก

เดือน มิ.ย.2563 จีนส่งดาวเทียม BDS-3 ดวงสุดท้ายขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ

ระบุพิกัดแม่นยำกว่า ด้วยรัศมีบริการครอบคลุมทั่วโลก

        การเปิดตัวระบบดาวเทียม BDS-3 อย่างเป็นทางการของรัฐบาลจีนเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2563 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญว่าระบบดาวเทียมนำทางที่จีนพัฒนาขึ้นเอง พร้อมผงาดทาบรัศมีระบบนำทาง GPS ของสหรัฐอเมริกา โดยระบบเป๋ยโต่วซึ่งประกอบด้วยดาวเทียมทั้ง 30 ดวง มีจุดเด่นและข้อได้เปรียบที่สร้างความแตกต่างจากระบบ GPS ของสหรัฐ  GLONASS ของรัสเซีย และ Galileo ของสหภาพยุโรป ซึ่งล้วนแต่ใช้ดาวเทียมวงโคจรเดียว ขณะที่เป๋ยโต่วใช้ระบบดาวเทียม 3 วงโคจร แบ่งออกเป็น ดาวเทียมในวงโคจรประจำที่ตามแนวเฉียง  Inclined Geosynchronous Orbit (IGSO)  3 ดวง ดาวเทียมในวงโคจรระดับกลาง Medium Earth Orbit (MEO)  24 ดวง และดาวเทียมในวงโคจรประจำที่ตามระนาบศูนย์สูตร Geostationary Earth Orbit (GEO)  3 ดวง การจัดวางกระจายตำแหน่งเช่นนี้ นอกจากจะทำให้รัศมีการบริการครอบคลุมทั่วโลกแล้ว ยังทำให้สามารถระบุพิกัดตำแหน่งในเขตพื้นที่เอเชียแปซิฟิก และในสภาพแวดล้อมพิเศษ เช่น พื้นที่อับสัญญาณหรือพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึงได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้นด้วย

        นอกเหนือจากความสามารถพื้นฐานอย่างการระบุตำแหน่งและกำหนดเวลาแล้ว เป๋ยโต่วยังมีความสามารถพิเศษที่ระบบดาวเทียมอื่นไม่มี เช่น การส่งข้อความสั้น (Short message), การกำหนดตำแหน่งจุดเดี่ยวความละเอียดสูง (Precise point positioning/PPP) และระบบเสริมการระบุพิกัดด้วยดาวเทียม หรือ Satellite Based Augmentation System (SBAS) ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ หรือในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมพิเศษ เช่น มหาสมุทร ทะเลทราย หุบเขาลึก หรือขั้วโลก

เป๋ยโต่วใช้ระบบดาวเทียมนำทาง 3 วงโคจร (ภาพ:โมเดลจำลองดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว)

        ความสามารถอันเหนือชั้นเหล่านี้ อาจฟังดูเข้าใจยาก ทว่าบทบาทของเป๋ยโต๋วได้แทรกซึมเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของเราไปแล้วเรียบร้อย  บริการที่พบเห็นได้ทั่วไปอย่างระบบแผนที่นำทาง บริการแชร์จักรยาน ระบบค้นหาติดตามพัสดุในประเทศจีน ล้วนแต่ใช้สัญญาณจากระบบดาวเทียมเป๋ยโต่วทั้งสิ้น  นอกจากนี้ เป๋ยโต่วยังถูกนำมาใช้ในหลากหลายภาคอุตสาหกรรม ทั้งในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง คมนาคม การตรวจวัดทางอุทกวิทยา การพยากรณ์อากาศ  การสำรวจและจัดทำแผนที่ การป้องกันไฟป่า การจ่ายพลังงาน การค้นหาและกู้ภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฯลฯ

        จากการขับเคลื่อนที่สำคัญของภาคคมนาคมขนส่งและบริการแชร์จักรยาน ทำให้อุปกรณ์รองรับระบบดาวเทียมเป๋ยโต่วมีการใช้งานอย่างกว้างขวาง จนทำให้ราคาถูกลงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันชิปเป๋ยโต่วที่มีฟังก์ชั่นการกำหนดตำแหน่งแบบพื้นฐานทั่วไป ราคาลดเหลือเพียงแค่ 6 ถึง 10 หยวนเท่านั้น โดยที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าหรือดีกว่าสินค้าประเภทเดียวกันในท้องตลาด ปัจจัยนี้มีส่วนอย่างยิ่งในการยกระดับศักยภาพการแข่งขันในตลาดให้กับเป๋ยโต่ว

นำร่องเจาะตลาดอาเซียนที่แรก

        เป๋ยโต่วพัฒนาโดยจีน อุทิศแด่ทั่วโลก จีนได้ยกระดับพัฒนาเป๋ยโต่วจาก ‘ระบบดาวเทียมนำทางระดับภูมิภาค’ สู่ ‘ระบบดาวเทียมนำทางทั่วโลก’ ควบคู่กับการผลักดันการ ‘ก้าวออกไป’ ของระบบเป๋ยโต่ว   “อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเป๋ยโต่วได้ส่งออกไปแล้วยังกว่า 120 ประเทศและเขตพื้นที่ทั่วโลก โดยมีผู้ใช้งานมากกว่าหลักร้อยล้านคน”  หร่าน เฉิงฉี ผู้อำนวยการสำนักงานกำกับดูแลระบบดาวเทียมนำทางของจีน รองหัวหน้าทีมออกแบบระบบดาวเทียมเป๋ยโต่ว กล่าว

การคมนาคมขนส่งและบริการแชร์จักรยานช่วยให้เกิดการใช้งานเป๋ยโต่วอย่างแพร่หลาย (ที่มาภาพ : The Beijing News)

        อาเซียนเป็นหนึ่งในตัวเลือกอันดับต้นๆของจีนในการส่งออกระบบเป๋ยโต่ว โดยจัดอยู่ในเฟสแรกของโครงการขยายขอบเขตสัญญาณ ด้วยสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ของอาเซียนที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ทางตอนใต้ของจีน ประกอบกับความแม่นยำของระบบเป๋ยโต่วในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะในแถบประเทศอาเซียนที่มีความแม่นยำมากกว่าระบบ GPS รวมถึงความสามารถในการป้องกันสัญญาณรบกวนที่ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น หลายประเทศในอาเซียนจึงสนใจที่จะขยายความร่วมมือด้านระบบเป๋ยโต่วร่วมกับจีน

        หลังจากระบบดาวเทียมเป๋ยโต่ว หมายเลข 2  หรือ ‘BDS-2’ เริ่มให้บริการครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปี 2555 ต่อมาในปี 2556 กระทรวงเกษตรของเมียนมาได้สั่งซื้ออุปกรณ์เป๋ยโต่วความแม่นยำสูง จำนวนกว่า 500 เครื่องจากบริษัทจีน นับเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการนำระบบเป๋ยโต่วความแม่นยำสูงไปใช้ในการรวบรวมข้อมูลสถิติทางการเกษตรและจัดการแปลงที่ดินขนาดใหญ่

“เมื่อเทียบกับแผนที่ในสมัยก่อนที่ใช้การรังวัดด้วยแรงงานคน แผนที่ซึ่งได้มาจากการจำลองด้วยข้อมูลสถิติดาวเทียม มีความเสมือนจริงและคมชัดกว่ามาก  และยังสามารถส่งต่อข้อมูลเข้าสู่ซอฟต์แวร์ได้โดยตรง ทำให้สะดวกสบายอย่างมาก!” เจ้าหน้าที่กรมการจัดการที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและสถิติ กระทรวงเกษตรเมียนมา กล่าวชื่นชมหลังจากได้ลองใช้งานระบบเป๋ยโต่ว

        หลังจากกระทรวงเกษตรของเมียนมาสั่งซื้ออุปกรณ์เป๋ยโต่วไปใช้ หน่วยงานอื่นเช่น กระทรวงคมนาคมก็เริ่มทยอยสั่งซื้อและนำอุปกรณ์ของเป๋ยโต่วไปใช้งานเช่นกัน โดยนำไปใช้ในการสำรวจสภาพเขื่อนและลำน้ำอิรวดี เพื่อใช้ประกอบการกำหนดแผนงานอนุรักษ์ลุ่มน้ำ นอกจากนี้ อุปกรณ์เดินเรือที่ใช้ระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว ยังช่วยอำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานประมงของเมียนมา รวมถึงชาวประมงท้องถิ่น ในการดำเนินงานด้านต่างๆ เช่น การกำกับดูแลตำแหน่งของเรือประมง การจัดการพื้นที่เดินเรือและน่านน้ำที่ห้ามจับปลา และการประกาศภัยพิบัติจากสภาพอากาศ จากประสบการณ์ใช้งานมานานหลายปี ทำให้เป๋ยโต่วได้รับการยอมรับจากผู้ใช้งานชาวเมียนมาเป็นอย่างดี

ระบบเป๋ยโต่วถูกนำมาใช้งานในอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เช่น รถไฟความเร็วสูงอัจฉริยะ

        ภาพของการประยุกต์ใช้เป๋ยโต่วในเมียนมาถือเป็นสัญญาณตอบรับที่ดีของการเข้ามาเจาะตลาดอาเซียนของเป๋ยโต่ว ปัจจุบันมีไม่น้อยกว่า 8 ประเทศในอาเซียนที่ใช้งานระบบเป๋ยโต่ว อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย โดยระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายสาขา ทั้งการสำรวจและจัดทำแผนที่ การก่อสร้างทางวิศวกรรม การตรวจจับสิ่งแวดล้อม การสำรวจวิจัย การสร้างเมืองอัจฉริยะ รวมถึงการช่วยเหลือและป้องกันภัยพิบัติ

        แน่นอนว่า นอกจากอาเซียนแล้ว จีนยังเร่งขยายความร่วมมือด้านระบบดาวเทียมนำทางกับประเทศและเขตพื้นที่ต่างๆ ตามแนว “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ด้วยเช่นกัน  เพื่อร่วมแบ่งปันผลสำเร็จของการพัฒนาเป๋ยโต่วกับนานาประเทศ พร้อมทั้งเร่งผลักดันให้ระบบเป๋ยโต่วกลายเป็นมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับจากแวดวงอุตสาหกรรมทั่วโลก จับมือกับ GPS ของสหรัฐอเมริกา  GLONASS ของรัสเซีย และ Galileo ของสหภาพยุโรป ร่วมมอบคุณภาพการบริการที่ดียิ่งขึ้นแก่ผู้ใช้งานทั่วโลก หลังจากที่ระบบดาวเทียม BDS-3 ติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ ชื่อของ ‘เป๋ยโต่ว’ ได้กลายเป็นชื่อที่ทุกคนรู้จักแพร่หลายมากขึ้น

ก้าวที่ไกลกว่าแค่การส่งออกผลิตภัณฑ์

        ระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานร่วมกันของผู้คนทั่วโลก  การ ‘ก้าวออกไป’ ของเป๋ยโต่ว ไม่ใช่เพียงแค่การส่งออกผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนอะไหล่เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงความร่วมมือแลกเปลี่ยนหลายมิติ ทั้งด้านเทคโนโลยี การบริการ บุคลากร รวมไปถึงด้านอุตสาหกรรม

ในปี 2556 บริษัท Wuhan Optics Valley BeiDou Holding Group Co., Ltd. ได้ก่อสร้างสถานีภาคพื้นดินเป๋ยโต่ว ในจังหวัดชลบุรี ประเทศไทย ซึ่งนับเป็นสถานีนอกประเทศจีนกลุ่มแรก ที่สร้างขึ้นเพื่อเสริมการระบุพิกัดให้มีความแม่นยำมากขึ้น พร้อมทั้งดำเนินการวิจัยพัฒนาและสาธิตการใช้งานเป๋ยโต่วในด้านต่างๆ อาทิ ระบบขนส่งอัจฉริยะ เรือประมง และนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ต่อมาในปี 2558 บริษัทฯ ยังได้ร่วมมือจัดตั้ง ‘เมืองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดาวเทียมเป๋ยโต่ว จีน-อาเซียน’ (China-ASEAN Beidou Science and Technology City) ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นแพลตฟอร์มให้บริการเป๋ยโต่วในอาเซียน แต่ยังเป็นแพลตฟอร์มเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป๋ยโต่วในอาเซียนไปควบคู่กันด้วย ตู้ ลี่ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท Optics Valley BeiDou ในขณะนั้น กล่าวว่า บริษัทฯพร้อมแสวงหาความร่วมมือด้านระบบดาวเทียมเป๋ยโต่วร่วมกับไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการสร้างสถานีภาคพื้นดิน การวิจัยพัฒนาเทคนิคและผลิตภัณฑ์ร่วมกัน รวมไปถึงการร่วมทุนเพื่อการเผยแพร่และนำไปใช้ การฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนบุคลากร ฯลฯ

ระบบเป๋ยโต่วถูกนำมาใช้งานแล้วในหลายประเทศในอาเซียน (ภาพ : การใช้งานอุปกรณ์เป๋ยโต๋วเพื่อสำรวจและจัดทำแผนที่ในประเทศลาว)

        อีกประเด็นหนึ่งที่สนใจคือ ‘กว่างซี’ ในฐานะบานหน้าต่างที่สำคัญของความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน ได้มุ่งมั่นทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (CAEXPO) ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbor: CAIH) และมีส่วนสำคัญในการกระชับความร่วมมือด้านระบบดาวเทียมนำทางระหว่างจีน-อาเซียนเป็นอย่างดีมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยได้อาศัย ‘โครงการสาธิตการประยุกต์ใช้เป๋ยโต่วเชิงบูรณาการของกว่างซี’ เป็นโอกาสในการดำเนินกิจกรรมประชาสัมพันธ์ และฝึกอบรมแลกเปลี่ยนวิทยาการกับประเทศอาเซียน จัดตั้งกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือระบบดาวเทียมนำทางจีน-อาเซียน ผลักดันโครงการความร่วมมือต่างๆ ทั้งการสร้าง ‘นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะดาวเทียมเป๋ยโต่วจีน-อาเซียน’ และ ‘ศูนย์เป๋ยโต่ว / GNSS จีน-อาเซียน (หนานหนิง)’ เพื่อช่วยผลักดันการเข้าสู่อาเซียนของเป๋ยโต่วอย่างเต็มที่

        ปัจจุบัน ระบบ BDS-3 ได้เปิดตัวพร้อมให้บริการทั่วโลกอย่างเป็นทางการแล้ว ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เป๋ยโต่ว ‘ก้าวออกไป’ ได้ไกลยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังคงมีความท้าทายบางอย่างที่อาจทำให้หนทางการ ‘ก้าวออกไป’ ของเป๋ยโต่วในอนาคตไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด ทั้งการแข่งขันจากคู่แข่งรายเดิมในตลาด ความกังวลถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งาน รวมถึงการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ทั่วโลกที่มีความเข้มข้นขึ้น  อย่างไรก็ตาม อุปสรรคเหล่านี้ก็เปรียบเหมือนกับ ‘ยามเมื่อลมพัดกรรโชก จึงประจักษ์ถึงต้นหญ้าที่แข็งแกร่ง”  เชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีแกนหลักขั้นสูงอันทันสมัยที่มีอยู่เดิม ผนวกกับข้อได้เปรียบด้านราคา และการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เป๋ยโต่วจะ ‘ก้าวออกไป’ ด้วยความเชื่อมั่นและมั่นใจยิ่งขึ้นสืบไป

Tags: