China-ASEAN Panorama

ร่วมผลักดันท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ สู่ Gateway Port ระหว่างประเทศ ขานรับยุทธศาสตร์เส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่

4

April

2022

15

October

2020

ผู้เขียน: เฉินลี่ปิง นิตยสาร CAP

        การประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 11 และการประชุมสุดยอดความร่วมมือท่าเรือสากลอ่าวเป่ยปู้ 2020 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 ณ นครหนานหนิง กว่างซี ประเทศจีน

        เทพรักษ์ เหลืองสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ และได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นเรื่องการเพิ่มความร่วมมือด้านท่าเรือระหว่างไทย-จีน

เทพรักษ์ เหลืองสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน)

        “ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้จะถูกสร้างให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ (Gateway Port) ภายใต้ยุทธศาสตร์เส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดการรวมตัวกันของอุตสาหกรรมและการปรับปรุงพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน ภายใต้สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน ประเทศจีนได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้าระหว่างประเทศ และขยายการค้ากับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จากปรากฏการณ์ย้ายฐานการผลิตที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้าหมวกและกระเป๋า ทยอยย้ายเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นการนำศักยภาพอย่างมากมาให้ประเทศจีนและประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เทพรักษ์ กล่าว

        ในฐานะที่เป็นประเทศชายฝั่งทะเล ประเทศไทยได้ใช้ช่องทางทางบกและทางทะเลในการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ ‘ไทยแลนด์ 4.0’ และนโยบายการพัฒนา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทยที่ทำให้ไทยมีส่วนร่วมมากขึ้นในการสร้างเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่และ Gateway Port ระหว่างประเทศ

        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นามยง เทอร์มินัล กล่าวว่า “ด้านทำเลที่ตั้ง ท่าเรือแหลมฉบังซึ่งเป็นที่ตั้งของ บริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ใกล้กับชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นท่าเรือน้ำลึกที่มีข้อได้เปรียบที่สำคัญในการให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างประเทศ ในปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังคือศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ท่าเรือนามยง (ท่าเทียบเรือ A5) อาศัยโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์และบุคลากรด้านเทคนิคที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมการขนส่งของห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ และกลายเป็นหนึ่งในท่าเรือที่บริการท่าเทียบเรือเพื่อการนำเข้าและส่งออกรถยนต์อันดับต้นๆของเอเชีย โดยให้บริการขนส่งรถยนต์แบรนด์ของญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆที่ผลิตในประเทศไทย”

ท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย

        ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไทยและจีนมีการร่วมมือด้านโลจิสติกส์ท่าเรือที่แน่นแฟ้นมากขึ้น ท่าเรือหลายแห่งในประเทศไทยได้เปิดเส้นทางเดินเรือมุ่งตรงสู่ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ในกว่างซี ซึ่งเป็นช่องทางที่สะดวกมากขึ้นสำหรับสินค้าไทยในการเจาะตลาดจีน ทั้งยังพิสูจน์ให้เห็นว่าการสร้างเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกและทางทะเลสายใหม่เป็นสิ่งที่ผู้คนต้องการ และการสร้างท่าเรือสากลในอ่าวเป่ยปู้ก็มีแนวโน้มที่ดี

        “ปัจจุบัน ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่เชื่อว่าจากรากฐานความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่ลึกซึ้งระหว่างอาเซียนและจีน ภาคอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานระหว่างสองประเทศจะฟื้นตัวได้ในเร็ววัน  ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลไทย บริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) พร้อมที่จะขานรับยุทธศาสตร์เส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่อย่างเต็มที่ ร่วมเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับการค้าไทย-จีน และร่วมแบ่งปันโอกาสทางธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่สำคัญสำหรับทั้งบริษัทและประเทศไทย”

        “ผมเชื่อว่ามิตรภาพระหว่างจีนและอาเซียนจะลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น  และเชื่อว่าเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ที่นับวันจะยิ่งมีความสมบูรณ์มากขึ้นเรื่อยๆนี้ จะส่งเสริมการขยายตัว เพิ่มความมั่นคงและเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทาน และอุตสาหกรรมระหว่างประเทศและในระดับภูมิภาค พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ให้ดียิ่งขึ้น” เทพรักษ์ กล่าวทิ้งท้าย

Tags: