China-ASEAN Panorama

‘วัคซีนจีน’ มีดีอะไร? ทำไมชาติอาเซียนถึงพากันแห่ซื้อ?

30

March

2022

9

February

2021

ผู้เขียน: หลี หมิ่น นิตยสาร CAP

        ผลงานต่อต้านโรคระบาดของจีนในปีที่ผ่านมาปิดฉากในวันส่งท้ายปีเก่า 2563 ด้วยการแถลงข่าวการอนุมัติให้วางจำหน่ายวัคซีน COVID-19 ที่พัฒนาขึ้นเองตัวแรกในตลาดแบบมีเงื่อนไขต่อทั่วโลก พร้อมกับให้คำมั่นสัญญาว่าจะฉีดวัคซีนฟรีให้กับประชาชนชาวจีนทั่วประเทศ แน่นอนว่าข่าวการวางจำหน่ายวัคซีนตัวแรกของจีนนี้ได้จุดประกายความหวังให้กับหลายประเทศที่ยังคงเผชิญกับศึกหนักจากโควิด

        เมื่อข่าวแพร่สะพัดออกมา ยอดสั่งซื้อก็ตามมาถล่มทลาย ซึ่งในบรรดากลุ่ม‘ผู้ซื้อ’เหล่านี้ก็มีกลุ่มประเทศอาเซียนรวมอยู่ด้วย โดยขณะนี้มีประเทศอาเซียนเกินกว่าครึ่งที่ได้สั่งซื้อวัคซีนจากจีน เหตุใดวัคซีนของจีนจึงได้รับความนิยมจากประเทศอาเซียน เบื้องหลังวัคซีนเหล่านี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างไร

จีนฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชนไปแล้วกว่า 15 ล้านโดส

‘จีน’ ผู้นำการวิจัยพัฒนาวัคซีน

        “วัคซีนต้านโควิดชนิดเชื้อตาย ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันผลิตภัณฑ์ทางชีววิทยาปักกิ่ง (Beijing Institute of Biological Products) สังกัดกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติจีน (CNBG) ในเครือซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ได้รับการอนุมัติจากสำนักบริหารเวชภัณฑ์แห่งชาติจีน (NMPA) ให้วางจำหน่ายในตลาดแบบมีเงื่อนไขได้ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ที่ผ่านมา” ข่าวดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านการแถลงของ เฉิน สือเฟย รองผู้อำนวยการสำนักบริหารเวชภัณฑ์แห่งชาติจีน เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 นับเป็นเวลาหนึ่งปีกว่าแล้วตั้งแต่จีนพบผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ยืนยันรายแรก

        ทันทีหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพื่อเพิ่มอัตราความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีน ทางการจีนได้กำหนดแนวทางด้านเทคโนโลยี 5 ประการในการพัฒนาวัคซีน ประกอบด้วย วัคซีนชนิดเชื้อตาย วัคซีนแบบโปรตีนลูกผสม วัคซีนที่ใช้อะดิโนไวรัสเป็นตัวนำพา วัคซีนที่ใช้เชื้อไข้หวัดใหญ่ซึ่งมีฤทธิ์อ่อนแอเป็นตัวนำพา และวัคซีนชนิดกรดนิวคลีอิก โดยตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2563 วัคซีนชนิดเชื้อตายตัวแรกของโลกได้เข้าสู่การทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 และ 2 และตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา วัคซีนหลายตัวก็ได้เข้าสู่กระบวนการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ในต่างประเทศ ก่อนที่วัคซีนตัวแรกจะได้รับการอนุมัติให้วางจำหน่ายในตลาดแบบมีเงื่อนไขเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 กล่าวได้ว่าการวิจัยพัฒนาวัคซีนของจีนอยู่ในแนวหน้าของโลกมาโดยตลอด

วัคซีนของบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค (บันทึกภาพเมื่อวันที่6 ก.ย. 2563)

        ขณะนี้จีนมีวัคซีนที่อยู่ในระหว่างการทดลองทางคลินิก 14 ตัว  ในจำนวนนั้นที่เข้าสู่การทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 แล้ว มี 5 ตัว แบ่งออกเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย 3 ตัว วัคซีนที่ใช้อะดิโนไวรัสเป็นตัวนำพา 1 ตัว และวัคซีนแบบโปรตีนลูกผสม 1 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มกราคม 2564)

        ความปลอดภัยของวัคซีนจากจีนได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกและประเทศที่เกี่ยวข้อง ประชาคมโลกต่างยกย่องการมีส่วนร่วมด้านความร่วมมือด้านวัคซีนระหว่างประเทศอย่างแข็งขันของจีน เมื่อวัคซีนกำลังเป็นที่ต้องการ จะทำอย่างไรให้เกิดการกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียมยุติธรรม นับเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ องค์การอนามัยโลกจึงได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการเข้าถึงเครื่องมือในการต่อสู้กับโรคโควิด (Access to Covid-19 Tools Accelerator - ACT) และ โครงการ COVAX ขึ้น

        ไม่เพียงแต่จีนจะยินดีร่วมมือและสนับสนุนข้อริเริ่มนี้ขององค์การอนามัยโลก ในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ครั้งที่ 73 สี จิ้นผิงยังได้ให้คำมั่นต่อทั่วโลกด้วยว่า “เมื่อจีนสำเร็จในการวิจัยพัฒนาวัคซีน COVID-19 และประยุกต์ใช้ในจีนแล้ว วัคซีนดังกล่าวจะเป็นสินค้าสาธารณะทั่วโลก (International Public Product) จีนจะเข้ามามีบทบาทในการรับรองว่าวัคซีนจะเข้าถึงประชาชนและสามารถจับจ่ายซื้อหาได้ในประเทศกำลังพัฒนา”

วัคซีนแดนมังกรล่องสู่ทะเลใต้

        ช่วงเช้าของวันที่ 13 มกราคม 2564 โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดเป็นคนแรกของประเทศที่ทำเนียบประธานาธิบดี ท่ามกลางการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ ตามคำที่เขาเคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะเข้ารับการฉีดเป็นคนแรก เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยของวัคซีนตัวนี้

‘ฟาร์มาเนียกา’ บริษัทเภสัชภัณฑ์สัญชาติมาเลเซียลงนามความร่วมมือด้านวัคซีนกับบริษัท ‘ซิโนแวค ไบโอเทค’ จากจีน

        วัคซีนที่โจโกได้รับคือ วัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) ของบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์รายใหญ่ของจีน สำนักงานอาหารและยาอินโดนีเซีย (BPOM) แถลงเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ว่า วัคซีนตัวนี้สิ้นสุดการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ที่เมืองบันดุงแล้ว ประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 50% และได้อนุมัติการใช้งานในกรณีฉุกเฉินของวัคซีนตัวนี้แล้วในอินโดนีเซีย ทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศแรกนอกเหนือจากจีนที่อนุมัติการใช้วัคซีนโคโรนาแวคในกรณีฉุกเฉิน

        เมื่อวัคซีนของจีนออกสู่ตลาด นานาประเทศต่างต่อคิวรอซื้อวัคซีนจากจีน ในจำนวนนั้นมีประเทศอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์รวมอยู่ด้วย

        นอกเหนือจากการสั่งซื้อโดยตรงจากผู้ผลิต ในประเทศมาเลเซีย บริษัทจีนและมาเลเซียยังได้มีความร่วมมือด้านการผลิตวัคซีนร่วมกัน เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 ฟาร์มาเนียกา (Pharmaniaga) บริษัทเภสัชภัณฑ์สัญชาติมาเลเซียได้ลงนามความร่วมมือด้านวัคซีนกับบริษัทซิโนแวค ไบโอเทคของจีน โดยในสัญญาระบุว่าซิโนแวคจะทยอยส่งมอบผลิตภัณฑ์วัคซีนกึ่งสำเร็จ (semi-finished products) จำนวน 14 ล้านโดสให้กับทางมาเลเซีย แล้วมอบหมายให้ฟาร์มาเนียกาดำเนินการผลิตวัคซีนขั้นสุดท้ายในมาเลเซีย

‘วัคซีนจีน’ แสงแห่งความหวัง?

        การประเมินคุณภาพวัคซีนจำเป็นต้องคำนึงถึงทั้งความปลอดภัย ประสิทธิผล การเข้าถึง และความสามารถในการจับจ่ายซื้อหา หากเปรียบเทียบวัคซีนโดยขาดปัจจัยด้านใดด้านหนึ่งไปย่อมไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง วัคซีนของจีนมีผลการประเมินโดยรวมทั้ง 4 ด้านค่อนข้างดี จึงได้รับความสนใจจากประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศในอาเซียน

โจโก วิโดโด ปธน.อินโดนีเซีย เข้ารับการฉีดวัคซีนจากจีนคนแรกของประเทศ

        ด้านความปลอดภัย วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่แตกต่างกันย่อมมีข้อเด่นและข้อด้อยแตกต่างกัน แต่จากผลการทดลองในสัตว์และการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 2 และ 3 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ปัจจุบันวัคซีนชนิดเชื้อตายของจีนมีความปลอดภัย นอกจากนี้จีนยังได้เริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนมาตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 ไปแล้วรวมกว่า 15 ล้านโดส ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงความปลอดภัยของวัคซีนของจีนได้เป็นอย่างดี

        แม้ว่าในด้านประสิทธิผล วัคซีนของจีนจะไม่ได้มีประสิทธิผลสูงสุดในปัจจุบัน แต่วัคซีนของจีนอาจเป็นตัวเลือกที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดในราคาเอื้อมถึงได้มากที่สุดของหลายๆประเทศในขณะนี้

        ศาตราจารย์ Anna Yeung-Cheung ภาควิชาชีววิทยา วิทยาลัยแมนฮัตตันวิลล์ในนิวยอร์ก ระบุว่า วัคซีน mRNA ของบริษัทไฟเซอร์และโมเดอร์นาของสหรัฐฯ มีข้อด้อยด้านกำลังการผลิตและต้นทุน เนื่องจากจำเป็นต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิ -70°C ซึ่งหมายถึงต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น “ประเทศเหล่านี้ไม่มีกำลังทรัพย์พอจะจ่ายให้ประชาชนของพวกเขาได้มากขนาดนั้น ถึงคุณจะส่งวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาไปให้ พวกเขาก็จำเป็นต้องมีตู้แช่แข็งอุณหภูมิต่ำพิเศษซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมากในการเก็บรักษาวัคซีน” Anna Yeung-Cheung กล่าว

        จากสถิติของธนาคารซิตี้แบงก์  85% ของวัคซีนทั่วโลกถูกจับจองโดยประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษและญี่ปุ่น โดยต่างสั่งซื้อวัคซีนเกินกว่าความต้องการของคนในประเทศไปมาก เช่น แคนาดาที่สั่งซื้อวัคซีนในปริมาณมากเพียงพอที่จะฉีดให้กับคนในประเทศได้ถึง 5 ครั้ง

วันที่ 30 ธ.ค.2563 สำนักบริหารเวชภัณฑ์แห่งชาติจีน (NMPA) อนุมัติวางจำหน่ายวัคซีนโควิดเครือซิโนฟาร์มในตลาดแบบมีเงื่อนไข

        วันที่ 15 ธันวาคม 2563 รายงานเรื่องการสั่งจองวัคซีนของประเทศทั่วโลก เผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยดุ๊ก ประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาอาจต้องรอนานถึงปี 2566-2567 กว่าจะได้เริ่มฉีดวัคซีนให้คนในประเทศ ขณะที่ช่วงหนึ่งในรายงานของ The Wall Street Journal ของสหรัฐฯ ระบุว่า “สิ่งเดียวที่อาจจะเปลี่ยนสภาพความไม่สมดุลนี้ได้คือวัคซีนจากจีน” “สำหรับประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศที่กำลังพัฒนาบางประเทศ จีนจะมีแนวทางช่วยเหลือด้านการเข้าถึงและซื้อหาวัคซีนให้แก่ประเทศเหล่านี้”

        วัคซีนของจีนซึ่งเป็น ‘ตัวเลือกเดียว’ ที่มีอยู่ ด้านหนึ่งนับว่ามีคุณภาพดีเยี่ยม ทั้งยังประหยัดต้นทุนการขนส่ง เพราะสามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 2-8°C ได้ แถมยังมีการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น จีนยังกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบต่อวัคซีนในฐานะเป็นสินค้าสาธารณะของโลก และสร้างโอกาสแห่งโชคชะตาในการรับมือโรคระบาดให้กับประเทศกำลังพัฒนา กล่าวได้ว่าปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ประเทศอาเซียนเลือกใช้วัคซีนของจีน

        วัคซีนเป็น‘อาวุธ’สำคัญสำหรับมนุษยชาติในการต่อสู้กับโรคระบาด เป็นการตกผลึกทางภูมิปัญญาและวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ ขณะที่เบื้องหน้าทุกประเทศกำลังเผชิญกับห้วงวิกฤตการแพร่ระบาด การถกเถียงถึงข้อเด่นข้อด้อยของวัคซีน ก็ไม่แตกต่างอะไรกับการเลือกว่าจะกินหมั่นโถวหรืออาหารอันโอชะก่อนในยามที่เผชิญกับความอดอยาก ซึ่งไม่ใช่หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหา เพราะสุดท้ายแล้ว การวิจัยพัฒนาวัคซีนนั้นไม่ใช่การขับเคี่ยวกันระหว่างประเทศหรือการแข่งขันทางธุรกิจ แต่เป็นศึกใหญ่ที่มนุษยชาติต้องร่วมกันต่อกรกับศัตรูที่มีชื่อว่า COVID-19

Tags: