China-ASEAN Panorama

ดอกจำปาลาวผลิบาน ต้อนรับการเปิดใช้งานเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

16

March

2022

5

December

2021

ผู้เขียน: หลี หมิ่น นิตยสาร CAP      

        รถไฟ EMU “ขบวนล้านช้าง” เป็นรถไฟที่ออกแบบโดยจีนสำหรับเส้นทางรถไฟจีน-ลาว จากภาพแบบร่างสู่ขบวนรถจริง  "ขบวนล้านช้าง" ได้เปิดตัวบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาว และความฝันของชาวลาวในการ "เปลี่ยนประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลให้กลายเป็นประเทศเชื่อมทางบก" ก็กลายเป็นความจริงเช่นกัน

พิธีรับมอบรถไฟ“ขบวนล้านช้าง”

        "จานปาเทียนเซียง" คือหนึ่งในการออกแบบตกแต่งภายในที่ "ขบวนล้านช้าง" เลือกใช้ ซึ่งเป็นลวดลายของดอกจำปาลาวที่กำลังเบ่งบาน ดอกจำปาลาวเป็นดอกไม้ประจำชาติลาว หมายถึง ความสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ จากการเจรจาความร่วมมือ การก่อสร้างอย่างเป็นทางการ และการเปิดการเดินรถ รถไฟจีน-ลาว ซึ่งจีนและลาวร่วมกันสร้าง เปรียบเสมือนดอกจำปาลาวที่กำลังเบ่งบานในความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ

        หลังจากรอคอยมากว่า 10 ปี ในที่สุดดอกจำปาลาวก็ผลิบานในวันครบรอบ 60 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ลาว

รถไฟจีน-ลาวเสร็จทันตามกำหนด

        วันที่ 25 ธ.ค. 2559 พิธีเปิดการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจีน-ลาว จัดขึ้นที่บ้านพอนไช เมืองหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง ท่านทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สปป.ลาวในขณะนั้น ปัจจุบันเป็นประธานประเทศ สปป.ลาว ได้เข้าร่วมในพิธีและประกาศการลงมือก่อสร้างเส้นทางรถไฟจีน-ลาวอย่างเป็นทางการ

        ย้อนไปเดือนเม.ย. 2553 รัฐบาลจีนได้ลงนาม MOU โครงการก่อสร้างทางรถไฟกับกระทรวงโยธาธิการและขนส่งของสปป.ลาว และได้มีการหารือรายละเอียดของโครงการในเบื้องต้น ทำการวิจัยและอภิปรายเชิงลึก จนนำมาสู่บทสรุปในเรื่องของรูปแบบความร่วมมือ การจัดสรรเงินทุนและนโยบายสนับสนุนร่วมกัน

        วันที่ 13 พ.ย. 2558 พิธีลงนามสัญญาความร่วมมือเส้นทางรถไฟจีน-ลาว จัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการก่อสร้างทางรถไฟระหว่างรัฐบาล เป็นสัญญาณว่าโครงการเส้นทางรถไฟจีน-ลาวได้เข้าสู่ขั้นตอนการลงมือปฏิบัติอย่างเป็นทางการ

        ในระหว่างที่เส้นทางรถไฟจีน-ลาวกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ดาวเทียมสื่อสาร ลาวแซด-1 (LaoSat-1) จากความร่วมมือระหว่างจีน-ลาวได้ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้เดินทางไปเยือน สปป.ลาวหลายครั้ง ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามใน “ข้อตกลงความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว” และ “แผนปฏิบัติการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันจีน-ลาว” รวมถึงได้ลงนามใน “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” หรือ RCEP ในฐานะประเทศสมาชิก ทางด่วนช่วงเวียงจันทน์-วังเวียง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางด่วนจีนลาว เปิดใช้งานก่อนกำหนด... และปี 2564 นี้จีนและลาวยังได้ฉลองครบรอบ 60 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทูตด้วย

ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้

        รถไฟจีน-ลาวเป็นเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศสายแรกที่จีนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างหลัก โดยทั้งสายใช้มาตรฐานทางเทคโนโลยี อุปกรณ์และการเชื่อมต่อกับเครือข่ายรถไฟจีน นับว่าเป็นโครงการที่ส่งออกรถไฟจีนไปยังต่างประเทศอย่างแท้จริง

        “เทคโนโลยีที่เราใช้ในการก่อสร้างรถไฟจีน-ลาว ล้วนแต่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงตามเกณฑ์มาตรฐานสูงสุดของจีน” หวัง ก้วนเฉียว เลขาธิการพรรคฯ ประจำคณะกรรมการฐานปฏิบัติงานรถไฟเวียงจันทน์-บ่อเต็น ส่วนที่ 2 ของกลุ่มบริษัทวิศวกรรมการรถไฟแห่งประเทศจีนหมายเลข 2 (China Railway No.2 Engineering Group) กล่าว เทคโนโลยีและเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ในงานสร้างทางรถไฟจีน-ลาวล้วนแต่เป็นของชั้นดีคุณภาพสูง ตั้งแต่การนำเทคโนโลยีอันทันสมัย อย่างเครื่องบินโดรน 5G ดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วมาใช้ มาจนถึงการใช้แบบแปลนมาตรฐานของจีน และตั้งโรงงานเชื่อมเหล็กรางรถไฟในนครเวียงจันทน์ ด้านงานก่อสร้างก็ละเอียดพิถีพิถันทุกขั้นตอน แค่ส่วนระบบจ่ายไฟฟ้า จะมีการระบุชื่อผู้รับผิดชอบในส่วนขั้นตอนต่างๆอย่างละเอียด มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพื่อให้งานออกมาตรงตามมาตรฐาน

        การทำงานอย่างใส่ใจทุกรายละเอียด ไม่ใช่เพียงเพราะว่ามีการรถไฟจีนอยู่เบื้องหลัง แต่ยังเป็นภาพลักษณ์ของประเทศจีน และการเปิดใช้งานเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ยังเป็นคำมั่นสัญญาที่ประเทศจีนได้ให้ไว้กับประชาชนชาวลาวด้วย

        คำมั่นสัญญานี้ มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในแผนการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ให้ความสำคัญกับการปกป้องรักษาสภาพนิเวศวิทยาดั้งเดิมตลอดเส้นทางไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อมอบเส้นทางรถไฟสีเขียวให้กับประชาชนชาวลาว

พิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

        คำมั่นสัญญานี้ มีความร่วมมือจากหลายฝ่าย กรมศุลกากรเมืองคุนหมิงได้เปิดช่องทางสีเขียวสำหรับโครงการรถไฟจีน-ลาว เปิดบริการด้านพิธีการศุลกากรตลอด 365 วัน จีนและลาวได้มีการจัดตั้งกลไกการทำงานด้านศุลกากร “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ร่วมกัน เสริมการประสานงานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการขนส่งวัสดุก่อสร้างโครงการรถไฟจีน-ลาว ด้านบริษัทมืออาชีพจากส่วนต่างๆของประเทศจีน เช่น ยูนนาน กว่างโจว ปักกิ่ง เหลียวหนิง ฯลฯ ได้กลายเป็นกำลังสำคัญในการก่อสร้างโครงการรถไฟจีน-ลาว

        คำมั่นสัญญานี้ มีการยืนหยัดฟันฝ่าอุปสรรค โครงการรถไฟจีน-ลาว เป็นการก่อสร้างในพื้นที่ที่มีความท้าทายทางวิศวกรรมเป็นอย่างมาก เส้นทางบางส่วนมีสะพานและอุโมงค์คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 97.5% ทีมงานฝ่ายจีนต้องใช้เครื่องมือและองค์ความรู้ทางวิศวกรรม เพื่อเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ทั้งสภาพอากาศร้อนสูง แก๊สพิษที่เป็นอันตราย การผุกร่อนของชั้นหิน น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม จนสามารถสร้างสุดยอดงานวิศกรรมอันน่าทึ่งอย่างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขง, อุโมงค์บ้านเส้น หมายเลข 2 และอุโมงค์อันติ้ง ได้เสร็จสิ้นทันตามกำหนด

        คำมั่นสัญญานี้ มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ ฝ่ายจีนได้สร้างบุคลากรด้านการรถไฟให้แก่สปป.ลาว ผ่านการฝึกอบรมเฉพาะทางและการถ่ายทอดทักษะประสบการณ์ให้อย่างหมดเปลือก

        คำมั่นสัญญานี้ ทำได้สำเร็จตามกำหนด เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 เจ้าหน้าที่ฝ่ายลาวไม่สามารถกลับมาประจำการได้ ทำให้ขาดแคลนกำลังคนในไซต์งานก่อสร้างรถไฟจีน-ลาว แต่จะทำอย่างไร? ให้สามารถเริ่มเดินรถได้ทันภายในปี 2021  ซึ่งบุคลากรจากจีนก็ได้เข้ามาช่วยเสริมตรงจุดนี้

        ที่บริเวณไซต์งานก่อสร้างรถไฟจีน-ลาว ทางตอนเหนือของนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท Power China Sinohydro Bureau 10 (บริษัท Sinohydro 10) ภายใต้อากาศร้อนอุณหภูมิสูงกว่า 40°C หัวหน้าไซต์งาน ทีมเทคนิค เจ้าหน้าที่ไปจนถึงคนขับรถได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานถึงที่ไซต์งาน จากความพยายามร่วมกันของทีมงานฝ่ายจีน ทำให้สามารถชดเชยช่วงเวลา 2 เดือนที่ล่าช้าไป และช่วยให้งานวางรางรถไฟสามารถส่งมอบได้ทันตามกำหนด

        นอกเหนือจากไซต์งานของ บริษัท Sinohydro 10 งานส่วนอื่นๆ ของโครงการรถไฟจีน-ลาวล้วนแต่มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องแม้อยู่ในช่วงวิกฤตโควิด ข่าวสารอัพเดทที่มีมาให้ได้ยินอยู่ตลอด เป็นการส่งสัญญาณที่ดีว่าโครงการรถไฟจีน-ลาวจะสามารถเดินรถได้ทันตามกำหนด

        การเปิดเดินรถไฟจีน-ลาวจะเป็นการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านการสร้างระบบคมนาคมทางรางของจีน เป็นเหรียญรางวัลความสำเร็จของการส่งออกเทคโนโลยีรถไฟจีนไปยังต่างประเทศ รวมถึงเป็นความภาคภูมิใจร่วมกันของทุกภาคส่วนทั้งจีนและลาวที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้

ขยายโอกาสผ่านรถไฟจีน-ลาว

        โครงการรถไฟจีน-ลาวเป็นเส้นทางรถไฟสมัยใหม่สายแรกของลาว อย่างไรก็ตามการเปิดให้บริการเดินรถไฟเพียงอย่างเดียวไม่ใช่หนทางที่จะบรรลุผลประโยชน์สูงสุด ดังนั้นการขยายโอกาสผ่านรถไฟจีน-ลาว หรือ “รถไฟจีน-ลาว+” จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของลาว โอกาสที่ว่านี้คือ สินค้าใหม่ อุตสาหกรรมใหม่และกำลังการผลิตใหม่ที่จะตามมาหลังจากการเริ่มใช้งานรถไฟจีน-ลาว เป็นแนวคิดรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่แค่การคมนาคมขนส่ง แต่จะเป็นการนำพาการพัฒนามาสู่ทุกอุตสาหกรรมของลาวผ่านเส้นทางรถไฟนี้

ภาพถ่ายมุมสูงของสถานีเหย่เซี่ยงกู่ในสิบสองปันนา

        ในมุมมองของสวี กั๋วอู่ ประธานบริษัท Hunan Xuanye Ecological Agricultural Development จำกัด โมเดล “รถไฟจีน-ลาว+” จะสร้างโอกาสใหม่ให้กับภาคอุตสาหกรรมการเกษตรของลาว ปัจจุบัน บริษัท Xuan Ye (Laos) จำกัด ที่บริษัทฯได้เข้าไปลงทุนในลาว ได้ร่วมมือกับ บริษัท เทคโนโลยีการบินปักกิ่ง จำกัด (Beijing Aviation Technology Co., Ltd.) วางแผนจะสร้างนิคมอุตสาหกรรมเกษตรเชิงนิเวศที่ทันสมัยตามแนวรถไฟจีน-ลาวในประเทศลาว

        จากคำบอกเล่าของ สวี กั๋วอู่ นิคมอุตสาหกรรมนี้จะครอบคลุมพื้นที่ 60 เฮกตาร์ โดยเลือกทำเลที่ตั้งใกล้กับสถานีขนส่งสินค้าเวียงจันทน์ พร้อมกับเตรียมสร้างโกดังรองรับสินค้าเกษตรปริมาณ 2 แสนตัน  เพื่อพัฒนาเป็นโกดังสินค้าเกษตรในต่างประเทศแห่งแรกในเส้นทางรถไฟข้ามพรมแดนของ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” “หลังจากนิคมฯเริ่มดำเนินงานจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยว โลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ การศึกษาและอุตสาหกรรมอื่นๆ ทำให้เส้นทางรถไฟจีน-ลาวกลายเป็นช่องทางเชื่อมโยงด้านการค้า วัฒนธรรมและผู้คนอย่างแท้จริง และนำมาสู่การพัฒนาอย่างครอบคลุมตามโมเดลรถไฟจีน-ลาว+” สวี กั๋วอู่ กล่าว

        ดร.เถียน อวี้ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ของแผนกที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ของ China International Engineering Consulting Co., Ltd. (CIECC) ยังชี้ให้เห็นอีกว่า ในอนาคตพื้นที่สำคัญตามแนวเส้นทางรถไฟจีน-ลาวสามารถนำไปใช้เพื่อการพัฒนาเชิงบูรณาการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้ เช่น การสร้างเขตเศรษฐกิจข้ามพรมแดนบริเวณพื้นที่ชายแดนจีน-ลาว และสำหรับเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญอย่างหลวงพระบาง ควรเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ

        จากประเทศจีนสู่ลาว จากระดับผู้นำประเทศไปจนถึงประชาชนคนทั่วไป ระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ลาว เส้นทางรถไฟจีน-ลาวได้รับเสียงชื่นชมมากมาย ชาวลาวต่างพากันเรียกรถไฟสายนี้อย่างคุ้นเคยว่า “เส้นทางดอกจำปาบาน” ขณะที่ทางฝั่งจีน ดอกไม้ผลิบานเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความร่ำรวยเงินทองและยศถาบรรดาศักดิ์ การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข  วันที่ 3 ธ.ค. 2564 ทั้งสองประเทศได้ต้อนรับการเปิดเดินรถเส้นทางรถไฟจีน-ลาวอย่างเป็นทางการ เราหวังว่าในอนาคตรถไฟสายนี้จะนำพาความสุขมาสู่จีนลาวและผู้คนทั้งสองของประเทศต่อไป

Tags: