China-ASEAN Panorama

จีน-อาเซียน กับโอกาสและความท้าทายยุคหลังโควิด

24

February

2022

24

February

2022

ผู้เขียน : กวน ชิวอวิ้น นิตยสาร CAP

        นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จีนและอาเซียนไม่เพียงแต่เป็นพื้นที่ที่เกิดการแพร่บาดเป็นกลุ่มแรกๆ แต่ยังเป็นภูมิภาคที่ริเริ่มขยายความร่วมมือเพื่อร่วมกันรับมือกับความท้าทายของการแพร่ระบาดและบรรลุผลสำเร็จก่อนใครเพื่อน ด้วยยุคหลังโควิดที่กำลังใกล้เข้ามา ท่ามกลางสถานการณ์ระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อน จีนและอาเซียนจะต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่อะไรบ้าง? ในห้วงของการร่วมกันต่อสู้กับความยากลำบาก จีนและอาเซียนจะสามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ และพลิก ‘วิกฤต’ ให้เป็น ‘โอกาส’ ได้หรือไม่?

        เมื่อเร็วๆนี้ ที่งานการประชุมเสวนาเชิงยุทธศาสตร์คลังสมองจีน-อาเซียน (China-ASEAN Think Tank Strategic Dialogue Forum) ครั้งที่ 13 แขกผู้มีเกียรติได้หารือกันในประเด็นเหล่านี้ โดยในฐานะกิจกรรมสำคัญภายใต้งาน China ASEAN Expo ครั้งที่ 18 การประชุมเสวนาเชิงยุทธศาสตร์คลังสมองจีน-อาเซียน ถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการ เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือยุคหลังโรคระบาดที่มีประสิทธิภาพระหว่างจีน-อาเซียน

หนทางข้างหน้าไม่ได้ราบรื่น

        ในระยะยาว ภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียนยังคงมีแนวโน้มพัฒนาไปอย่างมั่นคง แต่หนทางข้างหน้าก็ไม่ได้ราบรื่นซะทีเดียว หนึ่งในความท้าทายภายนอกที่สำคัญที่สุด คือ อิทธิพลของประเทศนอกภูมิภาคที่มีต่อสถานการณ์ระหว่างประเทศ การรับมือกับผลกระทบเชิงลบจากประเทศนอกภูมิภาค ได้กลายเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาสำคัญที่จะกระทบต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หลังโควิด จีนและอาเซียนจะยังคงรักษาความเป็นคู่ค้าอันดับ1 ของกันและกันปริมาณการค้าทวิภาคีทำสถิติสูงสุดอย่างต่อเนื่องในภาพคือท่าเรือชินโจวในกว่างซี

        “ปัจจุบัน ประเทศมหาอำนาจชาติตะวันตกบางส่วนกำลังพยายามหาช่องทางแทรกกลางระหว่างจีนกับอาเซียน ด้วยการเร่งผลักดัน ‘ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก’ ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือที่ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจการค้า เทคโนโลยี ห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น การลดการปล่อยคาร์บอน พลังงานสะอาด โครงสร้างพื้นฐาน มาตรฐานแรงงานและอื่นๆ โดยมีกลุ่มภาคี 4 ฝ่าย (Quad) ซึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลียเป็นเวทีหารือที่สำคัญ การแทรกแซงและอุปสรรคเหล่านี้ อาจเป็นตัวแปรที่ทำให้โครงการความร่วมมือของจีนในด้านที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ และหากกรอบยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกขยายไปถึงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงก็จะกลายเป็นการจู่โจมสองทาง ซึ่งจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้อาเซียนต้องเลือกข้างมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต” ศ.ดร.หยาง เป่าอวิ๋น ศาสตราจารย์จากคณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และอาจารย์พิเศษประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว “แต่ก็ไม่ต้องวิตกกังวลจนเกินไป เพราะกลุ่มประเทศอาเซียนมีความระแวดระวังสูงกับนโยบายกีดกันต่างๆอยู่แล้ว อีกทั้งการร่วมมือกับจีนเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันก็เป็นฉันทามติเชิงกลยุทธ์ที่บรรดาประเทศอาเซียนเห็นพ้องกันมาโดยตลอด”

        “พวกเรายังต้องให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงของมุมมองที่ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีต่อจีนด้วย นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดมุมมองเกี่ยวกับจีนที่แตกต่างกันไปภายในกลุ่มประชากรต่างๆ ของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เฉิน จี๋เสียง รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอินเดีย สถาบันสังคมศาสตร์มณฑลเสฉวน กล่าว

        ด้านหนึ่งประเทศและประชากรในอาเซียนมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับผลงานของจีน ตามรายงานผลการสำรวจความสัมพันธ์จีน-อาเซียน ประจำปี 2564 ที่เผยแพร่โดย Foreign Policy Community of Indonesia (FPCI)  67% ของผู้ตอบแบบสอบถามจาก 10 ประเทศอาเซียน เห็นด้วยหรือเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการกระชับความสัมพันธ์กับจีน โดยเชื่อมั่นว่าจะมีส่วนช่วยลดแรงกระทบที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับจากโควิด-19 ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็มีกลุ่มคนบางส่วนแสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้งานวัคซีนจีนในวงกว้าง ซึ่งประเด็นเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องเสริมความเชื่อมั่นและพูดคุยทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน

ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนได้ก้าวเข้าสู่ขั้นตอนใหม่ ในภาพคือการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ฉลองวาระครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-จีนซึ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เข้าร่วมและเป็นประธานในการประชุม (ภาพ: สำนักข่าวซินหัว)

        “นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังกระทบต่อการแลกเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรมของทั้งสองฝ่าย การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันถูกปิดกั้น ตัวเลขนักท่องเที่ยวและการติดต่อทางธุรกิจตกฮวบ นักศึกษาไม่สามารถเดินทางกลับไปศึกษาต่อตามปกติได้ กิจกรรมแลกเปลี่ยนจำนวนมากทำได้ผ่านทางออนไลน์เท่านั้น ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปจะไม่ส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มพูนความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้คน” เฉิน จี๋เสียง กล่าวเสริม

พลิก ‘วิกฤต’ ให้เป็น ‘โอกาส’  จีนและอาเซียนควรร่วมกันรับมือ

        ด้วยโอกาสและความท้าทายที่จะตามมาหลังโควิด ทำให้ ‘การคว้าโอกาส’ และ ‘กระชับความร่วมมือ’ กลายเป็นคำสำคัญของจีนและอาเซียนในการร่วมกันรับมือกับความท้าทาย หากต้องการพลิก  ‘วิกฤต’ ให้เป็น ’โอกาส’  ความร่วมมือจีน-อาเซียนควรจะเดินต่อไปในทิศทางไหน?

        ในมุมมองของ จวง กั๋วถู่ นักวิชาการจากกว่างซี และประธานสมาคมวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งประเทศจีน การผลักดันการประสานงานเชิงกลยุทธ์และเสริมความเชื่อมั่นทางการเมืองซึ่งและกัน จะเป็นกำลังสำคัญสำหรับจีนและอาเซียนในการต่อต้านภัยคุกคามทางการเมืองจากภายนอก โดยควรเสริมการเจรจาเชิงกลยุทธ์ระดับสูง เพิ่มการสื่อสารเชิงนโยบาย และเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาของทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างให้เกิดฉันทามติร่วมกันมากขึ้น

        “ความคิดเห็นของประชาชนก็เป็นประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายต้องให้ความสำคัญ” สวี่ หนิงหนิง ประธานบริหารสภาธุรกิจจีน-อาเซียน (China-ASEAN Business Council: CABC) และประธานคณะกรรมการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม RCEP กล่าว ความไว้วางใจซึ่งกันและกันทางการเมืองมีพื้นฐานมาจากความคิดเห็นของประชาชน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นจะต้องสร้างให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันขึ้นระหว่างประชาชนทั้งสองฝ่าย ตลอดจนเพิ่มพูนความเข้าใจและเสริมความไว้วางใจซึ่งกันและกันผ่านการสนับสนุนความร่วมมือภาคประชาชน เช่น ความร่วมมือด้านคลังสมอง การศึกษา สื่อสารมวลชนและวัฒนธรรม

        ด้าน ศ.ดร.หยาง เป่าอวิ๋น มองว่า ในช่วงยุคหลังโควิด การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันและควบคุมโรคระบาด และการเร่งวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีน จะยังคงเป็นภารกิจหลักที่จะช่วยรับประกันได้ว่าการพัฒนาด้านต่างๆ จะเป็นไปอย่างมั่นคง และจะเป็นกุญแจสำคัญในการตัดสินว่าจะสามารถเอาชนะการแพร่ระบาดได้หรือไม่

        “ประการแรก เราจำเป็นต้องเร่งขยายร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนกับอาเซียน และดำเนินการในทางปฏิบัติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงและสั่งซื้อวัคซีน เพื่อช่วยประเทศอาเซียนเอาชนะโรคระบาด ประการต่อมาคือ การร่วมมือกันสร้างระเบียบใหม่ของความร่วมมือด้านความมั่นคงทางสาธารณสุขจีน-อาเซียน ใช้รูปแบบการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนประเทศเจ้าภาพ และร่วมกันลงมติในประเด็นปัญหาสำคัญ ประการสุดท้ายคือ เร่งเปิดตัวเครือข่ายประสานงานด้านสาธารณสุขฉุกเฉินจีน-อาเซียนโดยเร็วที่สุด จัดโครงการฝึกอบรมบุคลากรด้านสาธารณสุขจีน-อาเซียนและโครงการอื่นๆ และช่วยเหลือประเทศอาเซียนในการเสริมศักยภาพทางด้านสาธารณสุข ”   ศ.ดร.หยาง เป่าอวิ๋น กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โชว์ขวดวัคซีนซิโนแวคที่เพิ่งส่งมาถึงไทย

        เมื่อกล่าวถึงประเด็นเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รองผู้อำนวยการและนักวิจัยของศูนย์วิจัยนโยบายการพัฒนาองค์กรและการบูรณาการระหว่างประเทศ สถาบันสังคมและเศรษฐศาสตร์ของลาว ลงความเห็นว่า "นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเกิดใหม่และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้กลายเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นวัตกรรมและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศจะกลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ประเทศอาเซียนต้องเร่งผลักดัน เพื่อเสริมแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ในอนาคตอันใกล้ สปป.ลาวหวังว่าจะได้ขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลกับจีนภายใต้กรอบความร่วมมือจีน-อาเซียน” ทั้งนี้ เธอเน้นย้ำว่า การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่บนพื้นฐานของการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีน-อาเซียนที่มีอยู่เดิม ไม่เพียงแต่ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคหลังโรคระบาด แต่ยังช่วยเพิ่มความสามารถของอาเซียนในการรับมือกับภัยคุกคามทางเศรษฐกิจจากภายนอกด้วย

        “ในยุคหลังโควิด อุปสรรคและความท้าทายเป็นสิ่งที่จีนและอาเซียนต่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากทั้งสองฝ่ายประสานความร่วมมือ ร่วมกันรับมือและต่อสู้กับความยากลำบาก ก็จะสามารถพลิก  ‘วิกฤต’ ให้เป็น ’โอกาส’ ได้” สวี่ หนิงหนิง กล่าวขณะให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ

อนาคตความร่วมมือจีน-อาเซียนยุคหลังโควิด

        เมื่อย้อนมองภาพการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-อาเซียนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะพอสังเกตเห็นได้ว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นถูกขับเคลื่อนด้วยวิกฤต ตั้งแต่วิกฤตทางการเงิน การแพร่ระบาดของโรคซาร์ส มาจนถึงโควิด-19 ทั้งสองฝ่ายได้ผ่านการทดสอบครั้งสำคัญมาครั้งแล้วครั้งเล่า จนก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเมื่อไม่นานมานี้ นสพ.New Straits Times ของมาเลเซีย ได้เผยแพร่บทความวิเคราะห์ ซึ่งระบุว่า แม้จะเข้าสู่ช่วงยุคหลังโควิด แต่ความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างจีนกับอาเซียนจะยังคงเดินหน้าต่อ ทั้งสองฝ่ายต่างแสวงหาโอกาสใหม่ในการพัฒนาผ่านการเผชิญหน้าปัญหาและความท้าทายร่วมกัน

การประชุมเสวนาเชิงยุทธศาสตร์คลังสมองจีน-อาเซียนครั้งที่ 13 (กวน ชิวอวิ้น ถ่ายภาพ)

        ตู้ หลาน นักวิจัยร่วมและรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประเด็นระหว่างประเทศของจีน ก็มีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยกล่าวในงานการประชุมเสวนาเชิงยุทธศาสตร์คลังสมองจีน-อาเซียนว่า “ประการแรก เจตจำนงทางการเมืองในการพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายกำลังเติบโตขึ้น นับตั้งแต่ร่วมกันต่อสู้กับโควิดมา 1 ปีกว่า จีนและอาเซียนต่างให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มความไว้วางใจซึ่งกันและกันทางการเมือง และการปกป้องผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีการหารือเชิงลึกเพื่อหาแนวทางรับมือกับประเด็นระดับภูมิภาคและระดับโลก ทั้งข้อพิพาททะเลจีนใต้ วิกฤตการเมืองเมียนมา การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาและแก้ไขปัญหาความยากจน และในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศยกระดับความสัมพันธ์จาก 'หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์' สู่ 'หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน' โดยจีนแสดงเจตนารมณ์ที่จะผลักดันการร่วมสร้าง 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง' คุณภาพสูง และดำเนินความร่วมมือให้สอดคล้องกับเอกสารมุมมองอาเซียนต่อด้วยอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on Indo-Pacific: AOIP) ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ล้ำค่าและหาได้ยากยิ่งในสถานการณ์ที่โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดทั่วโลก และลัทธิคุ้มครองการค้า (Protectionism) ที่ขยายวงกว้างมากขึ้น

        ตู้ หลาน มองว่า ในอนาคต จีนจะแสดงบทบาทของประเทศมหาอำนาจที่มีความรับผิดชอบอย่างแข็งขันมากขึ้น และจะส่งเสริมการประสานงานและบูรณาการยุทธศาสตร์ทางการเมืองร่วมกันกับอาเซียน ขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียนจะให้การสนับสนุนข้อริเริ่มเพื่อการพัฒนาทั่วโลกที่จีนเสนอ ทั้งสองฝ่ายจะกลายเป็นหุ้นส่วนที่ขาดไปไม่ได้ในการร่วมกันรับมือกับความท้าทายต่างๆ  ทั้งนี้ ตู้ หลาน กล่าวเสริมว่า “การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายมีทิศทางดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะก่อให้เกิดความร่วมมือต่างๆตามมามากขึ้น โดยจีนถือเป็นประเทศแรกๆ ที่ฟิ้นตัวได้รวดเร็วจากโควิด จากการคาดการณ์ล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เศรษฐกิจจีนปี 2565 จะเติบโตที่ระดับ 8.4% ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจของ 10 ประเทศอาเซียน ยกเว้นเมียนมา จะฟื้นตัวกลับสู่สภาวะปกติได้ทั้งหมด”

การแลกเปลี่ยนด้านสังคมวัฒนธรรมเป็นไฮไลท์ความร่วมมือจีน-อาเซียน

        “นอกจากนี้ ในระหว่างช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่14 ประเทศจีนยังได้เข้าสู่ขั้นตอนการพัฒนาใหม่ ซึ่งจะมีการยกระดับการเปิดกว้างกับต่างประเทศมากขึ้น อาเซียนถือเป็นภูมิภาคทางความร่วมมือที่สำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาใหม่วงจรคู่ของจีน ข้อได้เปรียบด้านต้นทุนกำลังการผลิตของอาเซียนและห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตที่สมบูรณ์ของจีนเป็นสิ่งที่สามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดการผสานรวมกันเป็นเครือข่ายเศรษฐกิจที่มีการเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด และเมื่อประกอบกับนโยบายอื่นๆที่เข้ามาสนับสนุน เช่น กรอบข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ฉบับ 3.0 ที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา และความตกลง RCEP ที่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ จะส่งผลให้เศรษฐกิจและการค้าแบบดั้งเดิมได้รับการยกระดับและขยายไปในทิศทางที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น การเงินข้ามพรมแดนและเศรษฐกิจดิจิทัล” ตู้ หลาน กล่าว

        บางทีเราคงไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าการแพร่ระบาดครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด และไม่อาจคาดเดาได้ว่าสถานการณ์ระหว่างประเทศจะพัฒนาต่อไปในทิศทางไหน แต่การประสานความร่วมมือ เร่งขยายผลประโยชน์และยกระดับความร่วมมือระหว่างกัน ผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค และบรรลุความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน จะเป็นหนทางที่จีนและอาเซียนจะยืนหยัดเดินหน้าต่อไป

Tags: