China-ASEAN Panorama

ย้อนรอยเส้นทางทุเรียนในจีน เมื่อตลาดยักษ์ใหญ่กับผลผลิตสดใหม่มาเจอกัน

3

October

2022

30

August

2022

ผู้เขียน: กวน ชิวอวิ้น นิตยสาร China-ASEAN Panorama

        ทุเรียน...ราชันย์แห่งผลไม้ ไม่เพียงแต่มีรสชาติเลิศล้ำที่ดึงดูดเหล่าบรรดานักชิมทั้งหลาย แต่ยังแฝงไว้ด้วยศักยภาพที่ไร้ขีดจำกัดของการค้าผลไม้ระหว่างจีน-อาเซียน เมื่อตลาดยักษ์ใหญ่กับผลผลิตที่สดใหม่มาเจอกัน ตลาดทุเรียนในจีนจะมีเรื่องราวชวนทึ่งอะไรที่น่าสนใจติดตามบ้าง?

กว่าจะกลายมาเป็น ‘ตลาดผู้ซื้อทุเรียนยักษ์ใหญ่ที่สุดในโลก’

        ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดของจีนได้แซงหน้าปริมาณการนำเข้าเชอร์รี่ ทุเรียนกลายเป็นราชาผลไม้นำเข้าของจีน ถึงแม้จะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ปริมาณการนำเข้าทุเรียนของจีนกลับไม่ได้ลดลง โดยในปี 2563 จีนนำเข้าทุเรียนปริมาณมากถึง 575,900 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,305 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาในปี 2564 จีนได้นำเข้าทุเรียนมากกว่า 809,200 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 4,132 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งปริมาณและมูลค่าการนำเข้าต่างเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ขณะที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยของการบริโภคทุเรียนอยู่ที่มากกว่า 16% ต่อปี

        ตัวเลขที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้นำมาสู่คำจำกัดความใหม่ จีนได้รับการยอมรับว่าเป็นตลาดผู้บริโภคทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่กว่าจะกลายมาเป็นตลาดยักษ์ใหญ่อย่างทุกวันนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งการเข้ามาจัดระเบียบของภาครัฐ การเข้ามาของบริษัทชั้นนำในตลาด และการยกระดับภาคการบริโภค ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลอย่างมากต่อตลาดจีน

        การค้าผลไม้มีสัดส่วนผลกำไรไม่มากนัก ก่อนหน้านี้พฤติกรรมการลักลอบนำเข้าทุเรียนที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจผลไม้ชั้นนำหลายรายตัดสินใจถอนตัวออกจากตลาด  แต่หลังจากที่สำนักงานศุลกากรจีนได้เข้ามาปราบปรามกลุ่มลักลอบนำเข้าทุเรียนอย่างจริงจัง สถานการณ์ในตลาดก็ค่อยๆ กลับคืนสู่สภาวะปกติ

        แนวโน้มการเติบโตที่สดใสและมาตรการกำกับดูแลที่ดี ส่งผลให้ผู้ประกอบการมากมายต่างสนใจเข้ามาลงทุน บริษัทรายใหญ่ต่างทยอยเข้าสู่ตลาด ทำให้มีผู้เล่นที่หลากหลายมากขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา Tmall Fresh (天猫新鲜) ของอาลีบาบาได้จับมือกับผู้ประกอบการทุเรียนไทย สร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมทุเรียนมูลค่ารวมกว่า 3 พันล้านหยวน พร้อมทั้งลงทุนพัฒนาระบบจัดการโลจิสติกส์อัจฉริยะขึ้นมาเพื่อรองรับโปรเจกต์นี้โดยเฉพาะ

        ขณะเดียวกัน จากสภาพอากาศและภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวย ส่งผลให้การเพาะปลูกทุเรียนยังคงไม่แพร่หลายมากนักในประเทศจีน จีนจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าทุเรียนจากต่างประเทศเกือบแทบทั้งหมด แหล่งที่มาจึงไม่ค่อยมีความหลากหลาย และเมื่อความต้องการบริโภคทุเรียนพุ่งสูงขึ้น ย่อมนำมาซึ่งการขยายพื้นที่เพาะปลูกและเพิ่มชนิดปริมาณของทุเรียนในประเทศแหล่งต้นทาง ขณะเดียวกัน กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคชาวจีนก็ยิ่งทำให้ตลาดทุเรียนในจีนเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่จีนจะได้รับฉายาประเทศ “ผู้ซื้อทุเรียนรายใหญ่ที่สุดในโลก”

แรงหนุนออฟไลน์และออนไลน์ สร้างการเติบโตตลาดทุเรียน

        เมื่อย้อนรอยดูเส้นทางการพัฒนาของตลาดทุเรียนในจีน จะพบว่า นักลงทุนจำนวนมากเริ่มให้ความสนใจในตลาดทุเรียนจีนมาตั้งแต่ปี 2561 ตอนนั้นเป็นช่วงที่อีคอมเมิร์ซกำลังบูมในจีน รวมถึงเป็นจังหวะที่กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซอาหารสดกำลังแข่งขันแย่งชิงตลาดกับร้านค้าออฟไลน์ โดยทุเรียนถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีการแข่งขันดุเดือด จึงทำให้เกิดเป็นแรงหนุนการค้าทุเรียนสองด้านผ่านทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์

        ช่องทางออฟไลน์ เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายแบบดั้งเดิมที่มีระดับการบริโภคค่อนข้างนิ่ง ศักยภาพการเพิ่มยอดขายค่อนข้างต่ำ ผู้บริโภคสามารถหาซื้อทุเรียนสดได้ตามหน้าร้านขายส่งผลไม้ตามท้องตลาด โซนผลไม้นำเข้าในห้างไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือตามร้านเชนธุรกิจผลไม้แบรนด์ต่าง ๆ

        “ผู้ซื้อในช่องทางออฟไลน์มีพฤติกรรมการบริโภคที่ค่อนข้างแน่นอน คือมักจะหาซื้อทุเรียนจากสถานที่ขายซึ่งอยู่ใกล้กับที่พักหรือสำนักงาน การเลือกซื้อทุเรียนจากหน้าร้านด้วยตนเองช่วยให้ผู้บริโภคคลายความกังวลในเรื่องของคุณภาพและรสชาติ หากต้องการทลายขีดจำกัด เพิ่มยอดขายให้กับช่องทางออฟไลน์ ผู้ประกอบการควรขยายช่องทางการจัดจำหน่ายทางออฟไลน์ โดยร่วมมือกับห้างร้านที่มีชื่อเสียงของจีน เช่น  Vanguard (华润万家), Yonghui Superstores (永辉超市) ฯลฯ” ชุย ลี่ลี่ กรรมการบริหารสถาบันวิจัยธุรกิจ มหาวิทยาลัยการเงินและเศรษฐศาสตร์เซี่ยงไฮ้ (SUFE) กล่าว

        ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ระดับการบริโภคที่เพิ่มขึ้นก็เป็นโอกาสให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซอาหารสดเติบโตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักลงทุนจำนวนมากเลือกที่จะลงทุนหาผลกำไรในธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น อาลีบาบาได้เปิดตัวแพลตฟอร์มบริการ O2O (Online to Offline) “Taoxianda” (淘鲜达)  และบริการค้าปลีกออนไลน์  “Ele.me” (饿了么) ขณะที่เหม่ยถวนได้เปิดบริการ “Meituan Maicai” (美团买菜) เดลิเวอรี่อาหารสดส่งตรงถึงบ้าน และ “Meituan Select” (美团优选) อีคอมเมิร์ซแบบซื้อรวมกันเป็นกลุ่ม หรือ Group Buying นอกจากนี้ยังมีธุรกิจอีคอมเมิร์ซอาหารสดอีกหลายรายที่ทยอยเข้าสู่ตลาด เช่น Missfresh (每日优鲜), Dingdong Maicai (叮咚买菜) และ Pupu Supermarket (朴朴超市) ฯลฯ

        ปัจจุบัน ปริมาณยอดขายทุเรียนผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของปริมาณการค้าทุเรียนจีนทั้งหมด ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อทุเรียนสดได้โดยไม่ต้องออกจากบ้าน รวมถึงสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาและติดตามข้อมูลการขนส่งโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นผ่านทางออนไลน์ได้ทั้งหมด ตามการคาดการณ์ของ iiMedia Research ด้วยการเติบโตของโมเดลอีคอมเมิร์ซอาหารสดและความครอบคลุมของผู้ใช้งานในวงกว้าง ในอนาคตยอดขายทุเรียนออนไลน์จะยังคงรักษาอัตราการเติบโตที่รวดเร็วไปได้อีกระยะหนึ่ง และคาดว่าปริมาณการค้าทุเรียนผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซจีนจะทะลุ 1 แสนล้านหยวนภายในปี 2566

ผู้เข้าแข่งขันในตลาดมีใครบ้าง?

        เมื่อย้อนกลับมามองที่ตัวผลิตภัณฑ์ สืบค้นกลับไปถึงแหล่งต้นตอที่มา จะพบว่า เริ่มแรกเดิมทีทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ก่อนจะมีการนำเข้ามาปลูกในไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมาและประเทศอื่น ๆ รวมถึงพื้นที่ในจีนอย่างมณฑลไห่หนานและกวางตุ้ง

        จนถึงปัจจุบัน ทั่วโลกมีทุเรียนมากกว่า 600 สายพันธุ์ โดยอินโดนีเซีย ไทยและมาเลเซียถือเป็นแหล่งเพาะปลูกทุเรียนที่สำคัญ แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านต่าง ๆ เช่น มาตรฐานการส่งออก ทำให้ปริมาณการส่งออกทุเรียนจากอินโดนีเซียมีไม่มากเท่าที่ควร ขณะที่มาเลเซียมีความต้องการทุเรียนภายในประเทศปริมาณมาก รวมถึงก่อนหน้านี้เคยมีประกาศสั่งห้ามตัดทุเรียนอ่อนขายเพื่อส่งออก จึงทำให้ปัจจุบันทุเรียนไทยครองแชมป์ตลาดส่งออกทุเรียนทั่วโลกรวมถึงจีน

        ในฐานะทุเรียนที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในจีน ปกติแล้วทุเรียนไทยจะถูกเก็บลงจากต้นตั้งแต่ตอนที่ยังไม่สุกเต็มที่ เข้าเงื่อนไขของการเก็บรักษาและขนส่งผลไม้สด จึงทำให้สามารถส่งออกไปยังประเทศจีนได้ในรูปแบบของทุเรียนสดทั้งลูก โดยปัจจุบัน ทุเรียนไทยมีสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยทั้งสิ้น 20 กว่าสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน คือ ทุเรียนหมอนทอง (D159), ทุเรียนชะนี (D123), ทุเรียนก้านยาว (D158) โดยทุเรียนหมอนทองคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90% ของทุเรียนไทยทั้งหมดที่ส่งออกไปจีน

        ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ราคาทุเรียนไทยอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 60 หยวน ซึ่งถือว่าอยู่ในช่วงราคาที่ผู้บริโภคยอมรับได้ และจากการครองส่วนแบ่งการตลาดที่สูง จึงทำให้ทุเรียนไทยแทบจะกลายเป็นเพียงตัวเลือกเดียวของผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่ที่ซื้อทุเรียนสดผ่านช่องทางที่ทางการไฟเขียว

หนทางข้างหน้า...หลังก้าวเข้ามาสู่ตลาด

        แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคที่มองหาผลิตภัณฑ์คุณภาพ ช่องทางการซื้อหาที่สะดวกสบายตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และการคิดค้นผลิตภัณฑ์ทุเรียนใหม่ ๆ ที่มีมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง...เทรนด์และความต้องการใหม่เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับตัวให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เพื่อให้สามารถอยู่รอดในตลาดต่อไปได้อย่างมั่นคง

        แล้วควรจะก้าวต่อไปในทิศทางไหน? ในมุมมองของ อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ การควบคุมคุณภาพของทุเรียนถือเป็นหลักหัวใจสำคัญ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การเก็บเกี่ยวและฆ่าเชื้อทุเรียน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุเรียนของไทยผ่านหลักมาตรฐานสากล รวมถึงไม่อนุญาตให้มีการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง นอกจากนี้ยังมีการคุมเข้มไม่ให้มีการลักลอบตัดทุเรียนอ่อนส่งขายไปยังต่างประเทศ โดยผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่ด้านบรรจุภัณฑ์และกระบวนการส่งออก เราได้มีการคุมเข้มในเรื่องของคุณภาพ และบังคับให้ผู้ส่งออกทุเรียนที่ขึ้นทะเบียนไว้ต้องระบุเลขล็อตสินค้าและข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับ" อรมน กล่าว

        ผู้ประกอบการทุเรียนไม่อาจพึ่งพาการตรวจสอบจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว การยกระดับขีดความสามารถการควบคุมคุณภาพทุเรียนด้วยตนเอง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้ที่ละเอียดอ่อน จึงเป็นความท้าทายอย่างมากในการขนส่งผ่านโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น

        เพื่อรับประกันความสดใหม่ของทุเรียนไทย ไช่เหนี่ยว เน็ตเวิร์ก (菜鸟网络, Cainiao Network) บริษัทโลจิสติกส์ของอาลีบาบา กรุ๊ป ได้ร่วมมือกับ Tmall (天猫), Yiguo.com (易果) และ ExFresh (安鲜达) เปิดช่องทางตรงสำหรับการขนส่งสินค้าอาหารสดระหว่างจีนและไทย ตามคำบอกเล่าของ ว่าน หลิน ซีอีโอไช่เหนี่ยว เน็ตเวิร์ก เมื่อทุเรียนหมอนทองถูกเก็บจากสวน จะถูกส่งตรงไปยังคลังสินค้าใน 19 เมืองทั่วประเทศจีนทันทีภายใน 120 ชั่วโมง ผู้บริโภคในกว่า 1,400 เขตอำเภอของจีนสามารถสั่งซื้อและได้รับทุเรียนสดใหม่ส่งตรงถึงบ้านได้ภายในวันถัดไป และภายในระยะเวลา 120 ชั่วโมงนี้ ไช่เหนี่ยวได้มีขั้นตอนการตรวจเช็คอุณหภูมิมากกว่า 3 ครั้ง เพื่อรับประกันคุณภาพความสดใหม่ระหว่างการขนส่ง

        นอกเหนือจากการควบคุมคุณภาพสินค้าแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการเชื่อมโยงตลาดและขยายช่องทางจัดจำหน่าย ก่อนหน้านี้ เนื่องจากราคาทุเรียนที่ค่อนข้างสูง จึงทำให้กลุ่มบริโภคส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองชั้นหนึ่ง (First-tier Cities) และเมืองชั้นสอง (Second-tier Cities) โซนแถบชนบทและชานเมืองจึงยังมีช่องว่างให้ขยายตลาดได้อยู่ บริษัทอีคอมเมิร์ซท้องถิ่นหลายแห่งเริ่มใช้วิธีการลดต้นทุนเพื่อขยายตลาดไปยังชุมชน เช่น นำเข้าสินค้าจากแหล่งผลิตโดยตรง จัดเก็บในโกดังส่วนกลาง แล้วให้ลูกค้ามารับสินค้าด้วยตนเอง เชื่อว่าด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ จะทำให้ทุเรียนกลายเป็นผลไม้ที่สามารถเข้าถึงได้ในวงกว้างมากขึ้น และยังคงมีโอกาสขยายตลาดไปได้อีกมาก

        จากตลาดการบริโภคทุเรียนที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันขึ้นในกลุ่มตลาดผลิตภัณฑ์ของทานเล่นที่ทำจากทุเรียน เช่น  แบรนด์ Durian Xishi (榴莲西施), Uncle Durian (榴莲叔叔) ที่เลือกออกจากกรอบสินค้าแนวเดิม ๆ แล้วหันมาจับตลาดกลุ่ม Niche Market ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีและการตลาดที่มีแนวคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่

        “ศักยภาพอันมหาศาลของตลาดจีนกำลังดึงดูดนักลงทุนเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ การแข่งขันที่ดุเดือดอาจเข้ามาเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของตลาด แต่ก็จะทำให้ตลาดขยายวงกว้างขึ้น และจะเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ ๆ ให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงมอบผลประโยชน์ที่มากขึ้นให้กับผู้ประกอบการทุเรียนในอาเซียน ในขณะเดียวกันก็คงพลิกชะตาชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมให้เปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็น้อย ” อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

        ดังเช่นการเข้ามาเป็นเจ้าของสวนทุเรียนของเกษตรกรรายหนึ่งในจ.จันทบุรี ที่รายได้ของเขาเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า ภายในระยะเวลา 2 ปี จากการปลูกทุเรียนเพื่อส่งมอบให้กับ Tmall Supermarket โดยเฉพาะ กล่าวได้ว่า ทุเรียนคือสิ่งที่เข้ามาพลิกชีวิตของเขา....

Tags:
No items found.