China-ASEAN Panorama

จีนปั้นแม่ค้าออนไลน์ยุคใหม่ ไลฟ์ขายสินค้าเป็นภาษาอาเซียน

18

April

2023

17

April

2023

        ภายในสตูดิโอไลฟ์สดของบริษัท Guangxi Guimao Tianxia  Enterprise Management Service Co.,Ltd. หลัว เลี่ยวฉี กำลังไลฟ์สดแนะนำสินค้ากว่างซีด้วยภาษาไทยอย่างคล่องแคล่ว

"ขอต้อนรับสู่ห้องไลฟ์สดของเรา นี่คือที่นอนสัตว์เลี้ยงทำจากหวายที่ผลิตในกว่างซี..."  

        นอกเหนือจากภาษาไทย ปัจจุบัน บริษัท Guangxi Guimao Tianxia ในกว่างซี ยังมีห้องไลฟ์สตรีมมิ่งสำหรับไลฟ์ขายสินค้าออนไลน์ด้วยภาษาอาเซียนอื่นๆอีกหลายภาษา เช่น ภาษาลาว กัมพูชา เวียดนาม ฯลฯ นอกจากนี้ ยังได้เปิดร้านค้าและไลฟ์สดผ่านแพลตฟอร์ม Lazada และ Shopee ช่วยพาสินค้ากว่างซีเจาะตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน

การแข่งขันไลฟ์สตรีมข้ามพรมแดนจีน-อาเซียน ปี2022 (ภาพ: China Daily)

        ท่ามกลางการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในตลาดไลฟ์สตรีมมิ่งที่จีน การไลฟ์สดผ่านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนเพื่อเปิดตลาดต่างประเทศ ได้กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการชาวจีน

        ในฐานะที่เป็นประตูเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน ทำให้กว่างซีมีความได้เปรียบด้านการมีบุคลากรที่มีทักษะการสื่อสารภาษาอาเซียนจำนวนมาก และกลายมาเป็นพื้นฐานอันแข็งแกร่งให้กับการพัฒนาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของกว่างซี

โซนจัดแสดงสินค้ากว่างซีของบริษัท Guangxi Cross Border Shopping E-Commerce
(ภาพ: Nanning Evening News)

‘ภาษาไทย’ ภาษายอดฮิตที่ชาวกว่างซีเลือกเรียน

        จากสถิติของกรมการศึกษาเขตฯกว่างซีจ้วง ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาในกว่างซีเปิดสอนภาษาอาเซียน ทั้งสิ้น 7 สาขาวิชา ได้แก่ อินโดนีเซีย กัมพูชา ไทย เมียนมา ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย โดยมีนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่มากกว่า 3,600 คน สาขาวิชาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือภาษาไทยและเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนเกินกว่า 80% ของนักศึกษาทั้งหมด

โซนจัดแสดงสินค้าอาเซียนของบริษัท Guangxi Guimao Tianxia (ภาพ: Nanning Evening News)

        ในช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐของกว่างซียังได้ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมแข่งขันไลฟ์สตรีมภาษาต่างประเทศ เพื่อบ่มเพาะบุคลากรด้านนี้อย่างต่อเนื่อง เช่น การแข่งขันไลฟ์สตรีมข้ามพรมแดนจีน-อาเซียน เมื่อเดือน มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา กิจกรรมดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขันได้ทำงานร่วมกับแบรนด์ท้องถิ่นของกว่างซีและหนานหนิง ใช้ความสามารถด้านภาษาอาเซียนในการไลฟ์ขายสินค้าท้องถิ่นของกว่างซี  เรียกได้ว่าได้ทั้งบ่มเพาะบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถ พร้อมทั้งโปรโมทสินค้ากว่างซีไปในคราวเดียวกัน

ห้องไลฟ์สดภาษาไทยของบริษัท Guangxi Guimao Tianxia (ภาพ: Nanning EveningNews)

อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน หนุนสินค้ากว่างซีแจ้งเกิดอาเซียน

        จากปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของกว่างซี ดึงดูดให้บริษัทต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสินค้ากว่างซีโกอินเตอร์สู่ต่างประเทศ หนึ่งในนั้นคือโครงการที่ใช้ชื่อว่า 桂货出海 (กุ้ยฮั่วชูไห่) หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “พาสินค้ากว่างซีไปต่างแดน” ของบริษัท Guangxi Cross Border Shopping E-Commerce Co., Ltd.

สตรีมเมอร์ของ Guangxi Guimao Tianxia กำลังไลฟ์ในห้องถ่ายทอดสด (ภาพ: Nanning Evening News)

        โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง บริษัท Guangxi Cross Border Shopping E-Commerce Co., Ltd. กับ สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของจีน (CCPIT), Guangxi Business School, สมาคมอีคอมเมิร์ซกว่างซี และ Xiamen Yanzhi Lifang Technology Co., Ltd  ในเดือนม.ค. 2563  เพื่อผลักดันสินค้าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของกว่างซี ให้ "ก้าวสู่สากล" โดยอาศัยจุดแข็งของระบบนิเวศน์การค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในหนานหนิง

เหอ หมิงเสียง (ขวา) นักศึกษาชาวอินโดนีเซียกำลังไลฟ์สด (ภาพ: Nanning EveningNews)

        ปัจจุบัน Guangxi Cross Border Shopping E-Commerce ยังได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนให้กับแบรนด์ยาสีฟัน LMZ และยาอม Golden Throat รวมถึงมีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ก๋วยเตี๋ยวหลัวซือเฝิ่นและชาลิ่วเป่า ซึ่งเป็นสินค้าชื่อดังของกว่างซีไปยังตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

        ขณะที่จุดแข็งทำเลที่มีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่งโลจิสติกส์ข้ามแดนของหนานหนิง ได้เอื้ออำนวยต่อการจัดส่งสินค้าไปยังตลาดเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สามารถจัดส่งสินค้าได้ภายในเวลาแค่ 2-3 วัน

เหอ หมิงเสียง (ขวา) นักศึกษาชาวอินโดนีเซียกำลังไลฟ์สด (ภาพ: Nanning EveningNews)

        “วันนี้ลูกค้าสั่งซื้อ พรุ่งนี้หลังจากคลังสินค้าคัดแยกเสร็จ บริษัทขนส่งของเวียดนามก็สามารถจัดส่งพัสดุให้ลูกค้าได้ทันทีในวันถัดไป" หลู ซ่างเจี้ยน รองผู้จัดการทั่วไปของ Guangxi Cross border Shopping E-Commerce กล่าว

        ภายใต้การผนึกกำลังกันของ “การไลฟ์สดเป็นภาษาอาเซียน+อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน” และแรงสนับสนุนจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ช่วยส่งเสริมให้สินค้ากว่างซีสามารถออกไปโกอินเตอร์ได้ทั้งในตลาดอาเซียน และตลาดต่างประเทศได้อย่างไม่ไกลเกินฝันอีกต่อไป

Tags: