China-ASEAN Panorama

ความร่วมมือเกษตรอัจฉริยะ โอกาสร่วมกันของจีน-อาเซียน

2

May

2023

2

May

2023

        โดรน DJI ของจีน กำลังบินโฉบไปมาเหนือแปลงพื้นที่เกษตรใน จ.ร้อยเอ็ด นิกร เกษตรกรวัย 43 ปีควบคุมโดรนฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและปุ๋ยได้อย่างคล่องแคล่ว “ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงด้วยคนงานจะได้วันละไม่เกิน 10 ไร่ แต่ถ้าใช้โดรนจะฉีดได้ถึงวันละ 40-50 ไร่ ช่วยลดปริมาณงานและทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”  นิกรกล่าว

       ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดรนประเภทดังกล่าวที่ผลิตโดยจีนได้โบยบินสู่มือเกษตรกรแล้วในหลายประเทศ ช่วยให้การผลิตมีประสิทธิภาพ สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น

เกษตรกรไทยตรวจเช็คสภาพเครื่องโดรนเกษตร DJI ก่อนใช้งาน (ภาพ: Xinhua News)

        ‘การเกษตรอัจฉริยะ’ได้กลายเป็นหนึ่งในสาขาสำคัญที่เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคการเกษตรจีน-อาเซียน

       “ทุกวันนี้ แม้ตัวจะอยู่ที่จีนก็สามารถรดน้ำแปลงผลผลิตที่กรุงพนมเปญในกัมพูชาได้ เพียงแค่คลิกเม้าส์เท่านั้น” หลาน ฮุ่ยเยี่ยน ผอ.บริหารศูนย์ส่งเสริมการเกษตรจีน-กัมพูชากล่าว

       เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะอย่างระบบควบคุมอัตโนมัติจากระยะไกลนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต แต่ยังทำให้จีนและอาเซียนสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดด้านระยะทาง และค้นพบความก้าวหน้าทางความร่วมมือร่วมกันมากขึ้น

อุปกรณ์ทางการเกษตรอัจฉริยะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตร (ภาพ: Xinhua News ช่างภาพ/ลู่ เยี่ยนหง)

         จีนและอาเซียนกำหนดให้ปี 2566 เป็น "ปีแห่งความร่วมมือด้านการพัฒนาการเกษตรและความมั่นคงด้านอาหาร" โดยมุ่งแน้นความร่วมมือด้านการเกษตรสีเขียวการบรรเทาความยากจนและฟื้นฟูชนบท การเกษตรดิจิทัลและการเกษตรอัจฉริยะ

       ในช่วงที่ผ่านมาจีนและอาเซียนได้ดำเนินโครงการความร่วมมือแลกเปลี่ยนด้านเทคนิคทางการเกษตรมากกว่า 200 โครงการ เช่น การป้องกันควบคุมศัตรูพืช การเพาะปลูกข้าวให้ผลผลิตสูง รวมถึงมีการจัดตั้งฐานสาธิตเทคโนโลยีทางการเกษตรและสถานีทดลองพันธุ์พืชขึ้นหลายแห่ง

       ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีการเพาะปลูกแคนตาลูปแบบเกษตรอินทรีย์ไร้ดินของ ‘สถานีทดลองพันธุ์พืชจีน (กว่างซี) – ลาว’ที่ทำให้พันธุ์แคนตาลูปของจีนได้ไปออกผลที่ลาวเป็นครั้งแรก หรือระบบการจัดการเกษตรอัจฉริยะที่พัฒนาโดยทีมผู้เชี่ยวชาญของจีน ซึ่งได้ถูกนำไปใช้ในกัมพูชา

       ขณะเดียวกัน พันธุ์ข้าวลูกผสมของจีนที่เติบโตในผืนแผ่นดินของอาเซียนก็ได้ถูกนำกลับมาเสิร์ฟบนโต๊ะอาหารที่จีน

       สมัยที่ ‘หยวน หลงผิง’ บิดาข้าวลูกผสมของจีน ยังมีชีวิตอยู่ เขาได้ร่วมกับทีมงานวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสมที่มีความแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิศาสตร์และสภาพอากาศของแต่ละประเทศอาเซียน จากความร่วมมือกว่า 20 ปี ทำให้ทุกวันนี้สามารถพบเห็นแปลงเพาะปลูกพันธุ์ข้าวลูกผสมจีนจำนวนมากในหลายประเทศอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบการเจริญเติบโตของเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมของจีนที่ฐานการผลิตในกรุงฮานอยเวียดนาม (ภาพ: Guangxi Academy of Agricultural Sciences)

 แนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตรอัจฉริยะจีน-อาเซียน

        แม้ว่าปัจจุบันการพัฒนาการเกษตรอัจฉริยะของจีนจะถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จในการปรับใช้และปฏิบัติแต่ก็ยังมีอีกหลายด้านที่ต้องปรับปรุง หากต้องการกระชับความร่วมมือกับอาเซียนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเช่น ผู้ประกอบการจีนควรวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตรที่ราคาย่อมเยาใช้งานและเรียนรู้ง่าย เพื่อให้เข้าถึงเกษตรกรในอาเซียนได้มากขึ้น, ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลเพื่อเพิ่มศักยภาพสินค้าทางการเกษตรสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค เช่น สามารถเช็คข้อมูลการใช้ยาฆ่าแมลงผ่าน QR Code ได้, จัดตั้งแพลตฟอร์มแบ่งปันข้อมูลด้านทรัพยากรเทคโนโลยีและนโยบายทางการเกษตร สร้างระบบให้คำปรึกษาด้านเทคนิคทางการเกษตร เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนด้านบุคลากรแบ่งปันเทคโนโลยี ความรู้และประสบการณ์ด้านการเกษตรระหว่างกัน

        ความร่วมมือด้านการเกษตรเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าที่อยู่ในระดับแนวหน้าของจีน-อาเซียนมาโดยตลอดเชื่อว่าด้วยการมีผลบังคับใช้ของ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค"(RCEP) และการลงนามในข้อตกลงโครงการความร่วมมือด้านการเกษตรระดับทวิภาคีและพหุภาคีจีน-อาเซียนต่างๆความร่วมมือด้านการเกษตรอัจฉริยะระหว่างจีนและอาเซียนจะดำเนินต่อไปอย่างลึกซึ้งต่อเนื่องก้าวสู่หนทางการพัฒนาที่กว้างขึ้น และช่วยสนับสนุนภาคการเกษตรสีเขียวและเกษตรที่สมัยใหม่ต่อไป

นักวิชาการด้านโรคพืชจากเมียนมากำลังตั้งใจศึกษาเทคนิคการควบคุมศัตรูพืชในจีน (ภาพ: Guangxi Academy of Agricultural Sciences)

ที่มา China-ASEAN Panorama

Tags:
No items found.