Interview

Great Wall Motor ปักธงรถจีนในไทย ขยายฐานสู่อาเซียน

27

January

2022

24

January

2022

        เอ่ยถึงแบรนด์รถยนต์จีนที่มาแรงที่สุดในไทยเวลานี้ คงต้องยกให้ “เกรท วอลล์ มอเตอร์” (Great Wall Motor) หรือ GWM ผู้นำทัพรถยนต์ Haval H6 และ ORA Good Cat สร้างปรากฏการณ์แจ้งเกิดในไทยด้วยยอดขายในระดับที่ไม่ธรรมดา และถือเป็น “ผู้เล่นสำคัญ” ที่ก้าวเข้ามาปลุกกระแสรถยนต์จีนในตลาดไทยซึ่งค่ายรถญี่ปุ่นเป็นผู้เล่นรายใหญ่มาอย่างยาวนาน

        การเป็นแบรนด์ใหม่ที่จะได้รับการยอมรับในตลาดรถยนต์ไทยที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “ตลาดปราบเซียน” ในระยะเวลาที่รวดเร็วนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย อะไรคือเบื้องหลังกลยุทธ์ความสำเร็จ? ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์พิเศษ เอลเลียต จาง ประธาน เกรท วอลล์ มอเตอร์ ภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย หัวเรือใหญ่ผู้เป็นกำลังสำคัญในการนำพา GWM ทะยานสู่ความสำเร็จในไทยและภูมิภาคอาเซียน  

GWM กับการขยายฐานธุรกิจจากจีนสู่ไทยและอาเซียน

        GWM เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อเนกประสงค์ SUV และรถกระบะที่ใหญ่ที่สุดของจีน การขยายฐานในประเทศไทยนับเป็นก้าวแรกของ GWM ในการเข้าสู่ตลาดอาเซียนและเป็นก้าวสำคัญในการเดินหน้าขยายธุรกิจไปทั่วโลก

        เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2564 GWM ได้จัดพิธีเปิดโรงงานระยองและเริ่มเดินสายการผลิตอย่างเป็นทางการ หลังจากได้เข้าซื้อกิจการศูนย์ผลิตจากเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ที่ถอนทัพออกจากประเทศไทยในปี 2563  

        โรงงานใหม่แห่งนี้ถือเป็นโรงงานผลิตแบบเต็มรูปแบบแห่งที่ 2 นอกประเทศจีนของ GWM และเป็นฐานการผลิตหลักสำหรับรถยนต์พวงมาลัยขวาของภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบัน มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 80,000 คันต่อปี และในอนาคตจะขยายการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 140,000 คันต่อปี

เอลเลียต จาง ประธาน เกรท วอลล์ มอเตอร์ ภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย

        เอลเลียต จาง ประธาน เกรท วอลล์ มอเตอร์ ภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย กล่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มเปิดตัวแบรนด์ในไทยอย่างเป็นทางการในเดือนก.พ ปีที่ผ่านมา GWM ได้วางจำหน่ายรถยนต์ในไทยแล้ว 3 รุ่น ในจำนวนนี้มี 2 รุ่นที่ออกจากสายการผลิตจากโรงงานระยอง คือรถ HAVAL H6 กับ  HAVAL JOLION ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า 100% ORA Good Cat เป็นการนำเข้ามาจากจีน โดยในอนาคตบริษัทฯ มีแผนเตรียมที่จะผลิตรถยนต์ EV ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ในไทยในช่วงประมาณปี 2566– 2567  

        นอกเหนือจากประเทศไทย ในปี 2564 ที่ผ่านมา GWM ยังได้รุกเปิดตัวรถยนต์ 3 รุ่นในสปป.ลาว เมื่อเดือนต.ค.2564 ได้แก่ รุ่น HAVAL H6, HAVAL JOLION และ GWM Pao Passenger Pickup ส่วนการขยายตลาดไปยังมาเลเซียและประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังอยู่ในระหว่างเตรียมการ

        “GWM เล็งเห็นศักยภาพของไทย ทั้งความพร้อมในการเป็นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ และความได้เปรียบในด้านทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ อีกทั้งไทยยังเป็นตลาดรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ และมีปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสม

        นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ที่มีความทันสมัย มีสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่ดีและมีความชัดเจนมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของบริษัทฯที่เน้นการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า” หัวเรือใหญ่ GWM ภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย กล่าว

1 ปีที่ผ่านมากับกระแสการตอบรับในไทย

        การรุกสู่ตลาดไทยของยักษ์ใหญ่อย่าง GWM มาพร้อมกับการสร้างความเชื่อมั่น และสร้างการรับรู้ใหม่ที่ทำให้ลูกค้าชาวไทยเปิดใจยอมรับรถยนต์จีนมากขึ้น ด้วยดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์ อัดแน่นด้วยนวัตกรรมอัจฉริยะ

        ความสำเร็จดังกล่าวสะท้อนผ่านยอดจองและยอดขายที่ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม เริ่มจาก All New HAVAL H6 Hybrid SUV รถยนต์รุ่นเรือธงที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิ.ย. 2564 ซึ่งสร้างผลงานครองยอดขายอันดับ 1 ในกลุ่มรถยนต์คอมแพคเอสยูวีติดต่อกันถึง 3 เดือน (ส.ค.-ต.ค.2564) โดยเมื่อนับถึงเดือน พ.ย. 2564 GWM ได้ส่งมอบรถยนต์ HAVAL H6 ให้แก่ผู้บริโภคชาวไทยไปแล้วกว่า 2,070 คัน ภายในระยะเวลา 5 เดือนนับตั้งแต่ที่มีการเปิดตัวในประเทศไทย

“การเข้ามารุกทำตลาดในไทยของ GWM มาพร้อมกับการสร้างความเชื่อมั่น สร้างการรับรู้ใหม่ที่ทำให้ลูกค้าชาวไทยเปิดใจยอมรับรถยนต์จีนมากขึ้น”

        ต่อเนื่องด้วยการเปิดตัว ORA Good Cat รถยนต์ไฟฟ้า 100% ในช่วงปลายเดือนต.ค. ซึ่งสามารถสร้างปรากฏการณ์ยอดจองทะลุ 1 หมื่นคัน ภายใน 1 สัปดาห์ พร้อมกับการปลุกกระแสและสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ตามมาด้วยการเปิดตัวรถยนต์รุ่นที่ 3 HAVAL JOLION HYBRID SUV เป็นครั้งแรกของโลกที่ประเทศไทยในปลายเดือน พ.ย. ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจจองถึงเกือบ 4,800 คัน ในช่วงของการเปิดจองรถล่วงหน้า(Pre-Sale) 10 วัน

        “เราเป็นแบรนด์ใหม่ในประเทศไทยซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้ถือเป็นช่วงที่เรากำลังอยู่ในขั้นตอนของการสร้างรากฐาน อาจยังไม่ถึงขั้นเรียกว่าปักธงได้สำเร็จ ปัจจัยที่ทำให้เราก้าวมาถึงจุดนี้ได้ ผมคิดว่าหัวใจสำคัญคงหนีไม่พ้นความมุ่งมั่นในเจตนารมณ์ดั้งเดิมของเราที่ต้องการทำให้ GWM ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านยานยนต์ EV ในประเทศไทย พร้อมทั้งส่งมอบประสบการณ์การขับขี่ยานยนต์ที่ล้ำยุคไม่เคยมีมาก่อน สร้างนิยามใหม่ให้กับการขับขี่แห่งโลกอนาคต และเสริมแรงขับเคลื่อนใหม่ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย”

        เอลเลียต จาง กล่าวว่า กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในไทยของ GWM ยึดหลักการ User-centric หรือ “ลูกค้าคือศูนย์กลาง” ภายใต้แบรนด์คอนเซ็ปต์ New Energy, New Intelligence และ New Experience ที่ให้ความสำคัญกับการรับฟังเสียงของผู้บริโภค เรามีการสำรวจความคิดเห็น เก็บข้อมูลความต้องการของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การออกแบบผลิตภัณฑ์และการให้บริการ รวมถึงการจัดตั้งคลับและคณะกรรมการผู้ใช้รถ (HAVAL User Committee) เพื่อร่วมมือกับผู้ใช้งานในการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้าชาวไทยมากยิ่งขึ้น

        พร้อมกันนี้ GWM ยังได้ส่งมอบประสบการณ์ใหม่ในการเป็นเจ้าของรถ โดยนำโมเดลค้าปลีกรูปแบบใหม่แบบ Online-to-Offline (O2O) มาสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ทั้งการให้บริการออฟไลน์ผ่าน GWM Store และ Partner Store ทั่วประเทศ และการให้บริการออนไลน์ผ่าน GWM Application

        นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการแบบ Door-to-Door Service ที่อำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภค ทั้งบริการส่งมอบรถ ชำระเงินปลายทาง และตรวจเช็คสภาพรถถึงหน้าบ้านลูกค้า

        เมื่อแนวคิด “ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง” ได้ถูกนำไปใช้ในทุกขั้นตอนตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการให้บริการ จึงทำให้ผู้บริโภคชาวไทยมีความมั่นใจ เปิดใจ และให้การยอมรับแบรนด์น้องใหม่อย่าง GWM มากยิ่งขึ้น

        “นอกจากนี้ เรายังได้เปิด GWM Experience Center แห่งแรกของประเทศไทย ณ ไอคอนสยาม เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่และเชื่อมความความสัมพันธ์อันดีระหว่าง GWM กับผู้บริโภคชาวไทย โดยตั้งเป้าให้เป็น The 4th Space (พื้นที่ที่ 4) นอกเหนือจากบ้าน ที่ทำงาน และสถานที่ไลฟ์สไตล์ต่างๆ ที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ ทำกิจกรรมที่ชอบ หรือพักผ่อนหย่อนใจ ควบคู่ไปกับการทำความรู้จักแบรนด์และผลิตภัณฑ์ของ GWM”  เอลเลียต จาง กล่าว

ได้เวลาแบรนด์รถยนต์จีนผงาดโลก

        หลังจากที่ GWM ได้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการรับรู้ที่มีต่อแบรนด์จีนอย่างไรบ้าง? ผู้บริหาร GWM ระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การแข่งขันของแบรนด์จีนได้ขยายจากตลาดภายในประเทศไปสู่ตลาดต่างประเทศ จากสถิติของกรมศุลกากรจีน ช่วง 10 เดือนแรก(ม.ค.-ต.ค.)ของปี 2564 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีนเติบโตขึ้น 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

        เบื้องหลังของตัวเลขสถิติที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องนี้ คือการที่แบรนด์จีนได้ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เทคโนโลยีนวัตกรรมและการให้บริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคไปยังตลาดต่างประเทศ เป็นการก้าวออกไปสู่ตลาดต่างประเทศอย่างมีคุณภาพ ด้วยการให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์อย่างจริงจัง ทำให้ผู้บริโภคในต่างประเทศค่อยๆให้การยอมรับและชื่นชอบในแบรนด์จีน

ORA Good Cat รถยนต์ไฟฟ้า 100% สร้างปรากฏการณ์ยอดจองทะลุ 1 หมื่นคัน ภายใน 1 สัปดาห์

        ทั้งนี้ GWM เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะระดับโลกจากประเทศจีน ซึ่งได้มุ่งเน้นไปที่การขยายตลาดไปยังต่างประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีธุรกิจครอบคลุมมากกว่า 60 ประเทศและเขตพื้นที่ทั่วโลก มีการจัดตั้งศูนย์ R&D ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยี และฐานการผลิตในพื้นที่นอกประเทศจีน ทั้งที่สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี ออสเตรีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย รัสเซีย สเปน ไทย ฯลฯ ด้วยการสร้างเครือข่ายการวิจัย การผลิต และการขายระดับโลกคุณภาพสูง ทำให้ GWM มีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับโลก

        “เรามุ่งมั่นที่จะนำผลิตภัณฑ์รถยนต์พลังงานใหม่ของแบรนด์ GWM ในจีนเข้ามาสู่ประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่สอดรับกับตลาดไทย ทั้งการกำหนด Brand Positioning การวิจัยพัฒนาและดำเนินการผลิตจากโรงงานที่ระยอง การบริหารจัดการและการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนเพิ่มการจ้างงานแรงงานชาวไทย ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้เรามีความใกล้ชิดกับผู้ใช้งานมากขึ้น เกิดการเปิดใจยอมรับแบรนด์และผลิตภัณฑ์ของ GWM”

        สำหรับทิศทางก้าวต่อไปในไทยของ GWM ยังคงมุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำด้านยานยนต์พลังงานไฟฟ้า(xEV Leader)  ภายใต้แผน Mission “9in3” ที่จะนำรถยนต์ 9 รุ่น เข้ามาเปิดตัวทำตลาดภายในระยะเวลา 3 ปี โดยมุ่งเน้นที่รถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก

        “ปัจจุบัน GWM เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าในไทยไปแล้ว 3 รุ่น ซึ่งในปี 2565 เราจะยังคงเปิดตัวโมเดลรถยนต์ใหม่ๆตามกลยุทธ์ที่วางไว้ โดยไม่หยุดที่จะปรับปรุงพัฒนาเครือข่ายการให้บริการ และยกระดับประสบการณ์การเดินทางของผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง ”

        ล่าสุด นอกจากรถยนต์ 3 รุ่นแรก All New HAVAL H6 Hybrid SUV , รถ ORA Good Cat และรถ HAVAL JOLION HYBRID SUV ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคชาวไทย ในงานมหกรรมยานยนต์ Thailand International Motor Expo 2021ที่ผ่านมา GWM ยังได้เผยโฉมรถยนต์รุ่นใหม่อีก 2 รุ่น เป็นครั้งแรกของโลกในไทย ได้แก่ รถ All New HAVAL H6 Plug-In Hybrid SUV และ TANK 500 HEV รถยนต์เอสยูวีออฟโรดเอาใจสายลุย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ที่มาเยี่ยมชมบูธ และต้องการให้ GWM นำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยในปี 2565

All New HAVAL H6 Plug-In Hybrid SUV รถรุ่นใหม่ที่ GWM นำมาเปิดตัวเป็นครั้งแรกของโลกในไทย

        ขณะที่ในด้านช่องทางจัดจำหน่าย GWM มีแผนเปิด GWM Store ให้ครบ 30 แห่งภายในสิ้นปี 2564 ทั้งในรูปแบบ GWM Direct Store และ Partner Store โดยจะครอบคลุมทั้งโชว์รูมแบบดั้งเดิม โชว์รูมรูปแบบใหม่ภายใต้ “New Retail Concept” รวมถึงการเปิด GWM Experience Center ขยายเครือข่ายช่องทางจัดจำหน่ายไปพร้อมกับการมอบประสบการณ์การบริการแบบ Online-to-Offline (O2O) ที่สะดวกสบายมากขึ้นให้กับผู้บริโภค

        นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา GWM ยังได้เดินหน้ายกระดับ EV Ecosystem ในไทย ด้วยการเปิดตัว G-Charge Supercharging Station สถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charge แห่งแรกของ GWM ในประเทศไทยที่สยามสแควร์ ซอย 7 พร้อมทั้งประกาศเดินหน้าขยายเครือข่ายจุดบริการอัดประจุไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ G-Charge กว่า 100 แห่งภายในปี 2566 และเตรียมขยายจุดบริการ DC Fast Charge ไปทุก GWM Partner Store ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งตั้งเป้าเปิดจุดชาร์จแบบ AC Normal Charge หรือที่เราเรียกว่า Destination Charge ไปยังโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า

เดินหน้าขับเคลื่อน EV Ecosystem หนุนไทยสู่ฮับอาเซียน

        สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ในมุมมองของ GWM ในด้านการสนับสนุนด้านนโยบาย รัฐบาลไทยได้วางนโยบายให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ พร้อมทั้งออกมาตรการสนับสนุนทั้งมาตรการทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย พร้อมกับตั้งเป้าหมายว่าในปี 2573 ไทยจะมีสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าสาธารณะ 12,000 หัวจ่าย ซึ่งช่วยสนับสนุนให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมนี้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

        ขณะที่ในด้านผู้บริโภค ทั้งตลาดไทยและอาเซียนต่างมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก ผู้บริโภคส่วนใหญ่เปิดใจยอมรับผลิตภัณฑ์และแบรนด์ใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นพื้นที่แห่งโอกาสให้เราได้เข้ามาเปิดตลาด

กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในไทยของ GWM ยึดหลักการ User-centric หรือ “ลูกค้าคือศูนย์กลาง” ภายใต้แบรนด์คอนเซ็ปต์ New Energy, New Intelligence และ New Experience

        ทั้งนี้ GWM มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านยานยนต์ EV ในประเทศไทย มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและการวิจัยด้านพลังงานสะอาดและนวัตกรรมอัจฉริยะ เช่น พลังงานแบตเตอรี่ และเครือข่ายอัจฉริยะ (IN) ที่สั่งสมมามากกว่า 10 ปี นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยังได้ลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านหยวน เพื่อสร้างแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่มีชื่อว่า L.E.M.O.N, Tank และ Coffee ในจำนวนนี้มีเทคโนโลยีที่ทาง GWM เป็นผู้วิจัยพัฒนาขึ้นเองและเป็นผู้นำระดับโลก เช่น L.E.M.O.N DHT และเทคโนโลยี EV

        สำหรับประเทศไทยและประเทศอาเซียน เราหวังว่าจะได้ใช้ประสบการณ์ด้านพลังงานใหม่และนวัตกรรมเทคโนโลยีอัจฉริยะที่สั่งสมมา เพื่อมอบผลิตภัณฑ์พลังงานสะอาด ผลิตภัณฑ์ที่ชาญฉลาดและปลอดภัยยิ่งขึ้นให้กับผู้บริโภคชาวไทย

        นอกจากนี้ GWM ยังพร้อมเดินหน้าสร้างโครงข่ายการบริการสถานีชาร์จที่สะดวกสบายมากขึ้น ผ่านการบูรณาการสถานีชาร์จสาธารณะเข้ากับ GWM APP และใช้เทคโนโลยีคลาวด์ของ GWM เพื่อสร้างระบบนิเวศของพลังงานใหม่ที่รวบรวมเอาทั้ง เมือง G-Charge, ครอบครัว G-Charge, บริการ G-Charge และ GWM APP ไว้ในที่เดียว

        จากการพัฒนาดังกล่าว GWM หวังว่าจะได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาคุณภาพสูงของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

        ท้ายที่สุด ในมุมมองของผู้บริหาร GWM ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ในตลาดอาเซียนยังอยู่ในช่วงบุกเบิก ในขณะที่ตลาดยานยนต์พลังงานใหม่ในจีนมีมาหลายปีแล้ว ช่วงของการบ่มเพาะตลาดค่อยๆผ่านไป และกำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่กว่าตลาดจีนจะก้าวมาถึงวันนี้ได้ ก็ต้องผ่านบทเรียนมาอย่างมากมาย เช่น บทเรียนจากการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า ในราวช่วงปี 2547  มีบางบริษัทที่ตัดสินใจลงทุนสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวนมาก เพราะเห็นว่ามีการสนับสนุนด้านนโยบายและโอกาสทางตลาดที่ดี โดยไม่ได้คำนึงว่าขณะนั้นความต้องการในตลาดยังต่ำอยู่ การชาร์จไฟไม่ได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โมเดลไม่ชัดเจน ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่

        ดังนั้น ตลาดที่ยังอยู่ในช่วงบุกเบิกอย่างตลาดอาเซียน ก็สามารถเรียนรู้บทเรียนจากประเทศที่อุตสาหกรรมเติบโตเต็มที่แล้วได้ เพื่อให้สามารถบรรลุการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ในประเทศของตนได้รวดเร็วและยั่งยืน

Tags: