Education

‘ไทย-จีน’ลงนามความร่วมมือด้านการศึกษา พัฒนาบุคลากร-การเรียนการสอนภาษาจีน

23

May

2022

20

April

2022

        เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทย และ เถียน เสวียจวิน (H.E.Mr. Tian Xuejun) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการของจีน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-จีน ผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Center for Language Education and Cooperation - CLEC ) กับ 3 หน่วยงานด้านศึกษาของไทย ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

        การลงนามความร่วมมือด้านการศึกษาจำนวน 3 ฉบับในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยกับจีน ประกอบด้วย 1.กรอบความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเรียนการสอนภาษาจีน ระหว่าง อว.กับ CLEC เพื่อกระชับความร่วมมือในด้านการแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรม การพัฒนาหลักสูตรภาษาจีนและการสอนภาษาจีนและอาชีวศึกษาและเทคโนโลยี  2.กรอบความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเรียนการสอนภาษาจีนระหว่างศธ.กับ CLEC และ 3.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการร่วมกันพัฒนาสถาบันภาษาจีน และการศึกษาอบรมด้านเทคนิคและอาชีวะ ระหว่าง สอศ. กับ CLEC

        ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวผ่านระบบออนไลน์ ว่า ความร่วมมือวันนี้สอดรับกับแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งระบุให้ความร่วมมือด้านการศึกษาเป็นสาขาที่จะดำเนินการร่วมกัน และสอดรับกับแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2565-2569) ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำร่วมกัน  ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว นอกจากทักษะทางวิชาชีพแล้ว การพัฒนาทักษะทางภาษาก็สำคัญยิ่งต่อการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมต่างประเทศในประเทศไทย ความร่วมมือนี้จึงเป็นการเพิ่มช่องทางในการพัฒนาและเรียนรู้ทักษะมาตรฐานนานาชาติได้มากขึ้น

        เถียน เสวียจวิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการด้านภาษาแห่งชาติ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวผ่านระบบออนไลน์ตอนหนึ่งว่า “ประเทศจีนให้การสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาจีนและการทำความรู้จักประเทศจีนให้กับคนไทยมาโดยตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ คนไทยเรียนภาษาจีนเป็นอันดับ 1 ของโลก และจำนวนครูจีนที่ส่งมาประเทศไทยก็เป็นอันดับ 1 ของโลกเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีโครงการภายใต้การสนับสนุนของสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ให้มีการจัดห้องเรียนขงจื่อแห่งแรกในโลก สถาบันภาษาจีนการศึกษาอบรมด้านเทคนิคอาชีวศึกษา รวมถึงห้องปฏิบัติการภาษาจีน เป็นแห่งแรกของโลกเช่นกัน ซึ่งเป็นผลสำเร็จชิ้นสำคัญในการพัฒนาการศึกษาภาษาจีนนานาชาติ

        “กรอบความร่วมมือฉบับใหม่ระหว่างไทยกับจีน ที่เน้นการยกระดับสมรรถนะครูสอนภาษาจีนท้องถิ่น การพัฒนาการทักษะการทำงานข้ามสายงานของบุคลากรทางการศึกษา และพัฒนาแหล่งทรัพยากรทางการศึกษา จะกลายเป็นพื้นฐานที่สำคัญและมั่นคงสำหรับการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย ผมยินดีที่ความร่วมมือครั้งนี้ขยายการพัฒนาไปถึงในระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงพัฒนาการดิจิทัลเพื่อการศึกษา และส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาหลังสถานการณ์โควิด-19ด้วย” รมช.ศึกษาธิการของจีนกล่าว

        สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมมฺธโช) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร และประธานคณะกรรมการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล  กล่าวว่า โครงการความร่วมมือนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี

        ทั้งนี้ ไทยและจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 โดยความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีความใกล้ชิด มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ และมีการขยายความร่วมมือเชิงลึกในทุกมิติ โดยในปี 2565 จะครบรอบ 47 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีน การลงนามความร่วมมือด้านการศึกษาครั้งนี้ จึงถือเป็นการเน้นย้ำสัมพันธไมตรีที่แน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ รวมทั้งการดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษาร่วมกันอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

Tags: