China-ASEAN Panorama

ฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 18 จัดขึ้นที่นครหนานหนิง กว่างซี

20

June

2023

19

June

2023

       วันที่ 19 มิ.ย. 2566 งานประชุมฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 18 จัดขึ้นที่นครหนานหนิง กว่างซี ประเทศจีน ภายใต้หัวข้อหลักว่าด้วย “การสร้างห้องสมุดอัจฉริยะและส่งเสริมการอ่าน” โดยมีกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีนและรัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นเจ้าภาพ

       แขกผู้มีเกียรติจากจีน-อาเซียน และตัวแทนขององค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องได้หารือร่วมกันในประเด็นต่างๆ เช่น การสร้างห้องสมุดอัจฉริยะเพื่อส่งเสริมการอ่าน การปกป้องบูรณะหนังสือโบราณ และ การขยายความร่วมมือด้านห้องสมุดนานาชาติและตีพิมพ์ผลงานวรรณกรรมระหว่างจีน-อาเซียน

สนับสนุนการสร้างห้องสมุดอัจฉริยะและส่งเสริมการอ่าน

       ในประเด็นด้านการสร้างห้องสมุดอัจฉริยะและส่งเสริมการอ่าน ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของงาน แขกในที่ประชุมได้ร่วมกันย้อนรอยเส้นทางการพัฒนาห้องสมุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แบ่งปันแนวทางการส่งเสริมการอ่านของแต่ละประเทศ เสนอแนะความคิดเห็นเกี่ยวกับความสำคัญและเป้าหมายของการพัฒนาห้องสมุดอัจฉริยะ และแสวงหาแนวทางความร่วมมือแลกเปลี่ยนด้านการสร้างห้องสมุดอัจฉริยะระหว่างจีนและอาเซียน

นายเหรา ฉวน (Rao Quan) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีน

       นายเหรา ฉวน (Rao Quan) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีน กล่าวผ่านทางวิดีโอว่า จีนยินดีที่จะกระชับความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ตามแนว ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ รวมถึงประเทศอาเซียน ในการสร้างห้องสมุดอัจฉริยะ จัดระเบียบและต่อยอดเอกสารโบราณที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางสายไหม การจัดฝึกอบรมบรรณารักษ์ และการส่งเสริมหนังสือโบราณ ผ่านกรอบความร่วมมือ “พันธมิตรห้องสมุดนานาชาติเส้นทางสายไหม” (Silk Road International Library Alliance) ขณะเดียวกัน หวังว่าจะได้ร่วมกันกับประเทศอาเซียน จัดตั้ง “พันธมิตรห้องสมุดจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Library Alliance) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านห้องสมุดระหว่างกัน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีไทย

       นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีไทย กล่าวผ่านทางวิดีโอว่า การสร้างห้องสมุดอัจฉริยะเป็นวิธีการสำคัญในการส่งเสริมการแปลงวัฒนธรรมเป็นดิจิทัล ซึ่งการพัฒนาทางด้านนี้ของจีนได้ไปถึงขั้นของการพัฒนาอย่างรวดเร็วแล้ว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็กำลังพยายามชุบชีวิตห้องสมุด และสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในบริบทของยุคโลกาภิวัตน์ ความร่วมมือด้านห้องสมุดนานาชาติเป็นแนวโน้มที่จะต้องเกิดขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคต จีนและไทยจะสามารถประสานความร่วมมือในด้านห้องสมุดอัจฉริยะได้มากขึ้น

นางสวนสวรรค์ วิยะเกต  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรมและท่องเที่ยว สปป.ลาว

       นางสวนสวรรค์ วิยะเกต (Mrs.Suanesavanh Vignaket) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรมและท่องเที่ยว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่า ปัจจุบัน เพื่อที่จะบรรลุการพัฒนาห้องสมุดอัจฉริยะ ลาวยังคงเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญในด้านเทคโนโลยีและทรัพยากรมนุษย์ ลาวยินดีที่จะดำเนินความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมของอาเซียน และมีเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญขั้นสูง

นาย U Koko รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศาสนาและวัฒนธรรมเมียนมา

       นาย U Koko รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศาสนาและวัฒนธรรมเมียนมา กล่าวเน้นย้ำว่า “ห้องสมุดเป็นที่ที่เราได้รับความรู้ที่จะอยู่คู่กับเราไปตลอดชีวิต หากห้องสมุดในประเทศจีนและอาเซียนมีความร่วมมือกัน ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัล มรดกทางวัฒนธรรมอันยาวนานของเราจะได้รับการส่งต่อที่ดียิ่งขึ้น”

นายสื่อ จงจวิ้น (Shi Zhongjun) เลขาธิการศูนย์อาเซียน-จีน

       นายสื่อ จงจวิ้น (Shi Zhongjun) เลขาธิการศูนย์อาเซียน-จีน ฝากความหวังผ่านทางสุนทรพจน์ว่า หวังว่างานประชุมครั้งนี้และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จะช่วยให้จีนและประเทศอาเซียนสามารถเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนนโยบายและแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกัน ปรับปรุงพัฒนากลไกความร่วมมือ ศึกษาวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะเข้ากับการจัดการห้องสมุด และส่งเสริมการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ กระชับความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นตามกระแสและพัฒนาการโลกยุคดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง และนำมาสู่ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในอนาคต

Dr. Kay Thi Aye ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติเมียนมา

       Dr. Kay Thi Aye ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติเมียนมา กล่าวว่า หากมีโอกาส เรายินดีที่จะร่วมมือกับจีนและอาเซียน เพื่อสำรวจแนวโน้มและแนวปฏิบัติใหม่ในการสร้างห้องสมุดดิจิทัล การบูรณะและปกป้องหนังสือโบราณ ฯลฯ ดังนั้น เราจำเป็นต้องมีคำมั่นสัญญาร่วมกัน แบ่งปันทรัพยากร วางแผนการฝึกอบรมด้านเทคนิคและโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากร

ศาสตราจารย์ซือ ลี่ (Prof. Si li) จากคณะการจัดการข้อมูล มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น

       ศาสตราจารย์ซือ ลี่ (Si li) จากคณะการจัดการข้อมูล มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น กล่าวว่า การส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กถือเป็นแบรนด์ซึ่งมีจุดเด่นและเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาที่สุดของห้องสมุดสาธารณะ เพื่อที่จะแสดงบทบาทของห้องสมุดสาธารณะในฐานะแหล่งการเรียนรู้ของทุกคนอย่างเต็มที่ เราจำเป็นต้องสร้างกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่หลากหลาย ซึ่งแสดงให้เห็นผ่านรูปแบบ หัวข้อ และกลุ่มเป้าหมายส่งเสริมการอ่านที่หลากหลาย

ความร่วมมือเพื่อบูรณะหนังสือโบราณและตีพิมพ์ผลงานวรรณกรรม

       ภายในงาน ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านการบูรณะหนังสือโบราณจากจีนและอาเซียนได้ร่วมแบ่งปันความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และความเป็นไปได้ของความร่วมมือด้านการปกป้องและบูรณะหนังสือโบราณในอนาคต

เฉิน หงเยี่ยน (Chen Hongyan) ผู้อำนวยการหอหนังสือโบราณ หอสมุดแห่งชาติจีน

       เฉิน หงเยี่ยน (Chen Hongyan) ผู้อำนวยการหอหนังสือโบราณ หอสมุดแห่งชาติจีน ได้แบ่งปันกรณีศึกษาการบูรณะเอกสารตุนหวงและสารานุกรมหย่งเล่อของหอสมุดแห่งชาติจีน ผ่านการวิจัยพัฒนาเครื่องมือที่ใช้สำหรับการบูรณะเอกสารโบราณ และใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อการอนุรักษ์และบูรณะหนังสือโบราณ

ศาสตราจารย์เหยา ป๋อเยว่ (Yao Boyue) จากสถาบันวิจัยอนุรักษ์หนังสือโบราณ มหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียนจิน

       ศาสตราจารย์เหยา ป๋อเยว่ (Yao Boyue) จากสถาบันวิจัยอนุรักษ์หนังสือโบราณ มหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียนจิน ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่นักเรียนและคณาจารย์ของสถาบันวิจัยฯ ได้มีส่วนร่วมทางความร่วมมือกับนานาชาติ โดยระบุว่า สถาบันวิจัยอนุรักษ์หนังสือโบราณ มหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียนจิน ยินดีที่จะร่วมมือกับประเทศอาเซียน และพร้อมให้ความช่วยเหลือในการลงรายการหนังสือโบราณอย่างเต็มความสามารถ

       ฟอรั่มการประชุมครั้งนี้ ยังมีบทบาทเป็นประตูเชื่อมโยงความร่วมมือด้านการตีพิมพ์ผลงานวรรณกรรม  ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านสาขาการพิมพ์ในจีนและอาเซียนได้แบ่งปันประสบการณ์ความร่วมมือด้านการตีพิมพ์หนังสือ และแสวงหาโอกาสกระชับความร่วมมือให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ผลสำเร็จเชิงปฏิบัติส่งเสริมความร่วมมือห้องสมุดจีน-อาเซียนขึ้นไปอีกขั้น

       ปัจจุบัน การพัฒนาห้องสมุดได้เข้ามาสู่ยุคของการสร้างห้องสมุดอัจฉริยะและการแบ่งปันข้อมูล การเสริมสร้างความตระหนักในความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างห้องสมุดในจีนและอาเซียน และส่งเสริมการยกระดับความร่วมมือด้านห้องสมุดและตีพิมพ์วรรณกรรมได้กลายเป็นส่วนสำคัญของความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระดับภูมิภาค

พิธีเปิดตัวข้อริเริ่มเพื่อการจัดตั้ง “พันธมิตรห้องสมุดจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Library Alliance)

       นอกจากนี้ งานฟอรั่มครั้งนี้ยังสร้างความสำเร็จใหม่ให้กับการส่งเสริมการพัฒนาห้องสมุดที่มีคุณภาพสูง โดยได้มีการเปิดตัวข้อริเริ่มเพื่อการจัดตั้ง “พันธมิตรห้องสมุดจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Library Alliance) อย่างเป็นทางการ เพื่อส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างห้องสมุดในจีนและอาเซียน ทั้งในด้านการเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและฝึกอบรมบุคลากรห้องสมุด การแบ่งปันทรัพยากรทางเทคนิค และบูรณาการการพัฒนาด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่  เรียกร้องให้ทุกฝ่ายสนับสนุนการสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือระดับภูมิภาค ผลักดันการสื่อสารระหว่างกันในหลากหลายสาขาและช่องทาง และร่วมกันหารือในประเด็นที่เกี่ยวกับแนวทางการรับมือกับการปฏิรูปห้องสมุด เพื่อมีส่วนร่วมในการสร้างการเติบโตร่วมกัน

       ในฐานะฟอรั่มระดับสูงของงาน China-ASEAN Expo ฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียนประสบความสำเร็จในการจัดงานมาแล้วทั้งสิ้น 18 ครั้ง โดยได้แสดงบทบาทเป็นเวทีแลกเปลี่ยนกระชับความร่วมมือด้านวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่อง จนค่อยๆ กลายมาเป็นกลไกความร่วมมือระยะยาวที่ช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Tags: