Interview

ประสบการณ์การพัฒนาของจีน กับบทเรียนความสำเร็จบนเส้นทาง 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์ ผ่าน 3 มุมมองผู้เชี่ยวชาญชาวไทย

27

January

2022

2

July

2021

การพัฒนาในทุกด้านของจีนควรค่าต่อการเรียนรู้และนำมาเป็นกรณีศึกษาโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย

            บนเส้นทาง 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้สร้างบทเรียนความสำเร็จและประสบการณ์การพัฒนาประเทศที่น่าสนใจศึกษามากมายจีนเติบโตยิ่งใหญ่มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? มีบทเรียนอะไรบ้างที่ไทยสามารถเรียนรู้และนำมาปรับใช้ติดตามได้จาก 3 มุมมองผู้เชี่ยวชาญและทรงคุณวุฒิชาวไทย สมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, พล.อ.สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน และ ดร.อุษณีษ์ เลิศรัตนานนท์ หัวหน้าโครงการจีนศึกษาวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การพัฒนาของจีนก่อให้เกิดคุณูปการต่อประชาคมโลก

สมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

            สมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า นับตั้งแต่เปิดประเทศในปี 1979 เป็นต้นมา จีนก็ได้แสดงศักยภาพให้โลกได้เห็นถึงพัฒนาการที่โดดเด่นในทุกด้านนโยบายของจีนร้อยเรียงและเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ กอปรกับความมีเสถียรภาพของรัฐบาลและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประชาชนจีน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนประสบความสำเร็จซึ่งการพัฒนาในทุกด้านของจีนควรค่าต่อการเรียนรู้และนำมาเป็นกรณีศึกษาทั้งสิ้น โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย

            “ในแง่ของเศรษฐกิจ ผมชื่นชมการแก้ปัญหาความยากจนของจีนที่ใช้เวลาเพียงแค่ 40 ปี สามารถช่วยให้ผู้คนหลุดพ้นจากความยากจนได้เกือบ 800 ล้านคน บรรลุเป้าหมายการขจัดความยากจน ตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน2030 ของสหประชาชาติเร็วกว่ากำหนดถึง 10 ปี หนึ่งในนั้นคือการนำเทคโนโลยีที่จีนได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาใช้พัฒนาเกษตรกรให้กลายเป็นผู้ประกอบการส่งเสริมการค้าผ่านระบบอี-คอมเมิร์ซ จีนสร้างความเข้มแข็งภายในและสร้างความยิ่งใหญ่ภายนอกไปพร้อมกันผมเชื่อว่าความสำเร็จนี้ไม่ใช่แค่ความสำเร็จของจีน แต่ยังเป็นความสำเร็จที่ทั่วโลกต้องชื่นชมด้วย

            จากตัวอย่างความสำเร็จนี้ผมคิดว่าสามารถนำมาปรับใช้กับไทยได้ไทยเองยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลาง ในขณะที่พื้นฐานก็เป็นประเทศเกษตรกรรมและผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็อยู่ในกลุ่ม SMEs การแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าของจีนและการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ เป็นตัวอย่างที่ดีต่อการสร้างความเข้มแข็งภายในสร้างความอยู่ดีกินดีให้ประชาชนไทย

            ล่าสุดในปีนี้จีนได้ออกนโยบายการพัฒนาใหม่แบบDualCirculation ที่เน้นการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นปัจจัยหลัก ในขณะที่เศรษฐกิจและตลาดต่างประเทศเป็นปัจจัยส่งเสริมซึ่งกันละกันเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจในประเทศและระหว่างประเทศ นโยบายดังกล่าวของจีนนับเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่น่าจับตามองเพราะหากรูปแบบนี้สำเร็จ จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกเมื่อโลกเกิดวิกฤตต่างๆ ขณะเดียวกันก็สามารถมีส่วนร่วมในวงจรเศรษฐกิจระหว่างประเทศผมมองว่าตรงส่วนนี้ก็สามารถนำมาปรับใช้กับนโยบายของไทยได้ ”

            ในมุมมองของอธิบดีฯสมเด็จ การขับเคลื่อนการพัฒนาหลายด้านของจีนยังก่อให้เกิดคุณูปการต่อประชาคมโลกไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางซึ่งถือเป็นเมกะโปรเจกต์ใหญ่ที่สุดในโลกที่จะเชื่อมโยงจีนไปทั่วโลกมีประเทศที่เกี่ยวข้องกว่า 60 ประเทศ ในเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรปแอฟริกา ส่งผลต่อ 65% ของประชากรโลก มีผลกระทบต่อ 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก และ 1 ใน4 ของการค้าโลก ซึ่งเป็นโครงการที่จีนได้แสดงเจตจำนงกับประเทศต่างๆว่าจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ร่วมกัน (win-win)  

            หากโครงการนี้สำเร็จบรรลุตามวัตถุประสงค์จะถือว่าจีนได้สร้างคุณูปการอันยิ่งใหญ่แก่ประชาคมโลก ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนของโครงการนี้คือการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชียน (AIIB) และกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) ที่ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ประเทศสมาชิกรวมทั้งการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการค้า ด้วยการสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับการฝึกอบรมและทุนการศึกษาในจีนให้กับประเทศสมาชิกอีกมากมาย

            ล่าสุดเมื่อโลกต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 จีนก็ได้ช่วยเหลือและสนับสนุนทั้งด้านบุคลากรอุปกรณ์การแพทย์ และวัคซีน ให้กับประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยซึ่งจีนถือเป็นชาติแรกๆที่หยิบยื่นไมตรีให้เมื่อไทยเข้าสู่ช่วงวิกฤตโควิด พร้อมทั้งยังได้บริจาควัคซีนให้แก่ไทยแล้วกว่า1 ล้านโดส ผมในฐานะภาครัฐและประชาชนชาวไทยก็ต้องขอขอบคุณมา ณโอกาสนี้ด้วย” อธิบดีฯสมเด็จกล่าว พร้อมทั้งกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่รู้สึกชื่นชมนโยบายจีนที่มีต่อประชาคมโลกคือการที่จีนแสดงจุดยืนว่า ในความร่วมมือต่างๆ ต้องอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันให้เกียรติซึ่งกันและกัน และไม่เลือกปฏิบัติ

            “ผมมองว่านี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะคลายข้อกังวลให้กับประเทศเล็กๆ หรือประเทศกำลังพัฒนาที่อาจไม่ได้มีศักยภาพเทียบเท่าจีน”

            สำหรับโครงการที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง“หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”นั้น มีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยในหลายสาขาอาทิ การพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานควบคู่กับการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านข้อมูลและดิจิทัลรวมถึงนโยบายส่งเสริมการยกระดับภาคการผลิต ที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมS-Curvesของไทย และการเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงชุมชนท้องถิ่น

            “ผมมองว่า โครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ตามแผนการลงทุน Belt and RoadInitiative:BRI ของจีนสามารถเชื่อมโยงกับโครงการที่ใหญ่ที่สุดของไทยณ ขณะนี้ได้ นั่นก็คือ โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับการพัฒนาด้านนวัตกรรมตลอดจน Smart City โดยไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาคเชื่อมโยงกับ BRI โดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน (China-IndochinaEconomic Corridor) ไทยจึงยินดีต้อนรับนักลงทุนจีนทุกคน ให้เข้ามาลงทุนในEEC เพื่อแสวงหาโอกาสและผลประโยชน์ทางการค้าร่วมกัน”

            ในแง่ของการค้าไทย-จีน ควรมีการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยเน้นการสนับสนุนการอำนวยความสะดวกทางการค้าการพัฒนารูปแบบทางธุรกิจใหม่ๆ อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านการค้าบริการและขยายความร่วมมือทางการค้าในสาขาสำคัญ อาทิ สินค้าไฮเทคและสินค้าเกษตร เป็นต้น ซึ่งล่าสุดกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการลงนาม MOU ด้านการค้ากับมณฑลไห่หนาน และมณฑลกานซู่

สานสัมพันธ์สองประเทศเติบโตไปด้วยกัน      

            “ไทย-จีนใช่อื่นไกลพี่น้องกัน” อธิบดีฯ สมเด็จ กล่าวว่าคำนี้เป็นคำที่เราคงคุ้นชินเป็นอย่างดีเมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ตลอดระยะเวลา46 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ไทยและจีนได้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม การศึกษา โดยเฉพาะในด้านการค้าและการท่องเที่ยว ที่จีนกลายเป็นคู่ค้าอันดับ1 ของไทย มูลค่าการค้าไทย-จีนในปีที่ผ่านมาสูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท และมีนักท่องเที่ยวชาวจีนมาเยือนประเทศไทยมากที่สุดในโลก

            ในขณะเดียวกันภาษาและวัฒนธรรมจีนก็ทวีบทบาทมากยิ่งขึ้นปัจจุบันมีคนสนใจเรียนภาษาจีนกว่า 7 ล้านคน จากข้อมูลปี 2019 จำนวนนักศึกษาไทยที่ไปศึกษาในจีนสูงเป็นอันดับ 3 รองจากเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันก็มีนักศึกษาจีนมาศึกษาต่อที่ประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปีสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-จีน  ซึ่งมองว่าการศึกษาและวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือที่จะสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อกันอย่างดีที่สุด

            ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ก็ได้ให้ความสำคัญกับจีนมาก ตั้งแต่มารับตำแหน่งก่อนสถานการณ์โควิด-19 ท่านได้เดินทางไปเยือนจีนด้วยตนเองแล้วกว่า 3 ครั้งและตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเดินทางได้ท่านก็ได้ให้ความร่วมมือร่วมงานตามคำเชิญของรัฐบาลจีนทั้งระดับประเทศและระดับมณฑลผ่านระบบออนไลน์อีกมากมาย

            สุดท้ายนี้ ในโอกาสครบรอบ 100 ปีของการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนผมขอแสดงความชื่นชมต่อความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งถือเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดที่ขับเคลื่อนให้จีนสามารถพัฒนาประเทศจนประสบความสำเร็จในหลายด้านและสร้างคุณูปการอันมหาศาลให้ประชาคมโลกจากโครงการหลากหลายที่สร้างขึ้นในเชิงประจักษ์  

            ผมขอขอบคุณความร่วมมือที่จีนมีให้ไทยมาโดยตลอดโดยเฉพาะในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย-จีนที่ได้พัฒนาเรื่อยมาจนปัจจุบันจีนได้เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย และน่าจะทวีบทบาทที่สำคัญยิ่งๆขึ้นไปในอนาคต ซึ่งต้องขอขอบคุณรัฐบาลจีน และพรรคฯ ที่ได้สนับสนุนให้ไทยเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์การค้าที่สำคัญของจีนและในโอกาสนี้ผมขออวยพรให้รัฐบาลจีน และพรรคฯ ประสบความสำเร็จในทุกโครงการอันจะนำมาซึ่งคุณูปการต่อประชาคมโลกต่อไปในอนาคต" สมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าว

การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่าง "สันติ" ความสำเร็จที่โดดเด่นบนเส้นทาง100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน

พล.อ.สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย

            ในมุมมองของพล.อ.สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ความสำเร็จที่โดดเด่นที่สุดของจีนบนเส้นทาง 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน คือ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่าง "สันติ" โดยไม่มีการแตกแยกหรือต่อสู้อย่างรุนแรง

            การวางรากฐานการพัฒนาที่ให้ประชาชนระดับฐานรากมีบทบาทขึ้นมาเมื่อจีนมีการพัฒนาเปิดเสรีทางเศรษฐกิจทำให้การผลิตเกิดความก้าวหน้าและทำให้เกิดการพัฒนาวัฒนธรรมไปพร้อมๆกัน โดยปัจจัยเบื้องหลังที่ทำให้จีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ ประกอบด้วย 3 ปัจจัยสำคัญ

            ประการแรกคือ เป้าหมายหรือทิศทางแนวความคิดการเมืองของพรรคฯ เริ่มตั้งแต่สมัยเหมา เจ๋อตงยึดแนวความคิดคอมมิวนิสต์ทฤษฎีของคาร์ลมากซ์ สมัยเติ้งเสี่ยวผิงมีทฤษฎีความคิดสามตัวแทน จนมาถึงสมัยสี จิ้นผิงว่าด้วยสังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์จีนในยุคใหม่  

            ปัจจัยที่2 คือวิธีการ ซึ่งได้ดำเนินการคู่ขนานไปกับพัฒนาทฤษฎี และคู่ขนานไปกับการปฏิบัติ หรือปฏิบัติไปด้วยศึกษาไปด้วยทำให้เกิดการพัฒนา และปัจจัยที่ 3 คือ เครื่องมือ พื้นฐานสำคัญคือเรื่องของคนมีการไปกระตุ้นเรื่องคน ทำให้เกิดวิสัยทัศน์ของการพัฒนา ตั้งแต่ฐานรากระดับประชาชนสมาชิกพรรค และระดับผู้นำ

            ขณะที่การก้าวข้ามการแบ่งแย่งเชื้อชาติการปกครองโดยฟังเสียงประชาชนการยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนโดยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมถือเป็น 3 คุณูปการที่โดดเด่นอย่างยิ่งของจีนที่มีต่อประชาคมชาวโลกอีกทั้งจีนยังมีการบริหารปกครองประเทศที่สอดคล้องกับหลักธรรมพรหมวิหาร 4 ทางพุทธศาสนา คือ การปกครองโดย “เมตตา กรุณามุทิตา อุเบกขา”

            “สำหรับบทเรียนความสำเร็จการพัฒนาของจีนซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจและไทยควรที่จะศึกษาเรียนรู้คือการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งความสำเร็จของจีนมีความน่าสนใจทั้งเรื่องวิธีการเป้าหมายและเครื่องมือที่ทำให้จีนสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างตรงจุด”

            ในแง่การการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนในก้าวต่อไปนั้นพล.อ.สุรสิทธิ์ มองว่า ความสัมพันธ์ในทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองเศรษฐกิจ การทูต ระหว่างภาครัฐและประชาชนทั้งสองประเทศ คำว่า"การพัฒนา"นั้นคือการทำให้ดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งไทยและจีนได้มีการลงนาม MOU ความร่วมมือระหว่างกันเป็นจำนวนมาก

            ในด้านความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจนั้น จีนกับไทยมีทิศทางที่สอดคล้องกันในการมุ่งพัฒนาตลาดเสรีและเปิดกว้างทางเศรษฐกิจทั้งสองฝ่ายจึงควรร่วมมือกันเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ พร้อมร่วมแบ่งปันเอื้อเฟื้อผลประโยชน์ร่วมกันบนความเสมอภาคและเป็นธรรมรวมถึงการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีด้านสุขภาพและการแพทย์ซึ่งไทยสามารถเรียนรู้จากจีนซึ่งมีความเป็นผู้นำในเทคโนโลยีเหล่านี้

            “สิ่งที่ผมอยากเห็น คือ การพัฒนาด้านการเมืองที่มีคุณธรรมหรือธรรมาภิบาล แม้ว่าไทยและจีนจะมีระบบการเมืองและการปกครองที่แตกต่างกันแต่มีเป้าหมายและหลักการเดียวกันคือทำให้ประเทศชาติและประชาชนมีความผาสุกเรื่องเหล่านี้เราจะร่วมกันพัฒนาได้อย่างไร อีกหนึ่งเรื่องที่ผมอยากเห็น คือการพัฒนาด้านการทูตสาธารณะซึ่งจีนทำได้ดีและเก่งมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยสามารถเรียนรู้และนำมาพัฒนาปรับใช้ให้ดียิ่งขึ้น”

            ท้ายที่สุด พล.อ.สุรสิทธิ์ได้กล่าวแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่า“หนึ่งศตวรรษที่ผ่านมาภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้พิสูจน์ให้โลกประจักษ์ถึงความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคในการนำพาประเทศจีนให้สามารถพัฒนาก้าวไกลไปอย่างรอบด้านท่ามกลางพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก การปฏิรูปและการพัฒนาของจีนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างสันติได้ก่อให้เกิดคุณูปการต่อทั้งชาวจีนและประชาคมโลก

            โอกาสนี้ผมขอให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีความมั่นคงในธรรม ยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม นำพาประเทศจีนและประชาคมโลกก้าวสู่ความเจริญก้าวหน้าร่วมกันและขอให้ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-จีนมีการพัฒนาที่ยั่งยืนนำมาซึ่งความผาสุกแก่ประชาชนทั้งสองประเทศสืบไป" พล.อ.สุรสิทธิ์ กล่าว

ปรับตัวยืดหยุ่นยึดประชาชนเป็นหลัก บทเรียนความสำเร็จจากจีนที่ไทยน่าเรียนรู้

ดร.อุษณีษ์เลิศรัตนานนท์ ผู้อำนวยการโครงการจีนศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์

            100 ปีที่ผ่านมาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนประเทศจีนได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาที่โดดเด่นในหลายด้าน จากประเทศยากจนผงาดสู่มหาอำนาจที่สำคัญของโลก อะไรที่ทำให้จีนพลิกโฉมหน้าได้ขนาดนี้ ดร.อุษณีษ์ เลิศรัตนานนท์ ผู้อำนวยการโครงการจีนศึกษาวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่าปัจจัยแรกคือระบบการเมืองที่เข้มแข็ง ความเป็นพรรคเดียวกุมอำนาจทำให้มีความเป็นเอกภาพสามารถขับเคลื่อนนโยบายเพื่อบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ขาดตอน โดยไม่ต้องเสียพลังงานและเวลาหรือเสียทรัพยากรในการแข่งขันเลือกตั้งเพื่อก้าวสู่อำนาจ

            ปัจจัยที่สำคัญต่อมาคือ การยึดหลักใช้ความสามารถเป็นตัวตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีระบบส่งเสริมสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมาทำงานขับเคลื่อนประเทศคนที่จะก้าวมาเป็นระดับผู้นำได้ต้องผ่านการเรียนรู้งานและประสบการณ์จากระดับล่างก่อนขึ้นมาสูงอย่างเช่นประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่เคยผ่านการทำงานในชนบทมาก่อน ทำให้มีประสบการณ์ตรงเข้าใจถึงสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชน

            นอกจากนี้ตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังแทรกซึมอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคมจีนแม้แต่ในรั้วมหาวิทยาลัยมีการอบรมให้ความรู้และฝึกหัดสมาชิกพรรคที่เป็นคนรุ่นใหม่ตลอดจนจัดการประชุมพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากคนรุ่นเก่าส่งต่ออุดมการณ์จากรุ่นสู่รุ่น ทำให้มีความยึดโยงกันเป็นหนึ่งเดียว

            อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีความยืดหยุ่นไม่ยึดติดมีการปรับตัวตลอดเวลาให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกและภายในประเทศที่เปลี่ยนไปแต่แกนสำคัญที่ยึดมั่นไม่เคยเปลี่ยนคือความเป็นสังคมนิยม (Socialism) ที่ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ทำให้พรรคฯสามารถรักษาอำนาจในการปกครองประเทศไว้ได้มาอย่างยืนยาวโดยไม่ขาดความชอบธรรมและได้รับการยอมรับจากประชาชนมาจนถึงวันนี้

            “จะเห็นได้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะมีการปรับตัวตลอดเวลา สมัยก่อตั้งพรรคในปี ค.ศ.1921 เป็นการรวมตัวกลุ่มชนชั้นกรรมกรในยุคเหมา เจ๋อตงก็ให้ความสำคัญกับชาวนาชนชั้นแรงงาน จนมาถึงมาสมัยยุคเติ้งเสี่ยวผิงก็มีการปฏิรูปเปิดประเทศ จนถึงปัจจุบันในยุคสี จิ้นผิง ที่ชูความเป็นชาตินิยมที่ต้องการเห็นจีนกลับมายิ่งใหญ่การปรับตัวของจีนไม่ยึดติด สิ่งที่สำคัญคือการยอมรับว่าจีนยังมี “ปัญหา”อะไร และพยายามที่จะวางแผนปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด”

            ในมุมมองของดร.อุษณีษ์ บทเรียนความสำเร็จของจีนที่น่าสนใจเรียนรู้สำหรับประเทศไทย คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความกินดีอยู่ดีขึ้นไม่เพียงจีนจะแก้ไขปัญหาความยากจนสำเร็จเท่านั้น นโยบายต่างๆของจีนยังมีการร้อยเรียงและเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบเพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีโดยมีการวางแผนระยะยาวอย่างเป็นขั้นตอนทั้งการพัฒนาระบบการศึกษา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันซึ่งนำมาสู่การต่อยอดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้จีนก้าวมาสู่มหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับสองของโลก  

            “เมื่อปลายปีค.ศ. 2020 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศความสำเร็จจีนหลุดพ้นความยากจนแล้ว ซึ่งถือเป็นเป้าหมายใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนตัวอย่างที่ไทยจะได้เรียนรู้จากจีน คือแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนของจีน  ซึ่งพรรคได้ส่งสมาชิกจำนวน 3ล้านคนลงพื้นที่เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและออกแบบโมเดลการแก้ไขปัญหาให้ตรงกับแต่ละพื้นที่ ทำให้จีนประสบความสำเร็จสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างตรงจุดซึ่งกรณีนี้ไทยสามารถที่จะเรียนรู้จากจีนได้ โดยต้องเปิดใจที่จะศึกษาอย่างจริงจังไร้ซึ่งอคติ”ดร.อุษณีษ์แสดงความคิดเห็น

            นอกจากนี้ยังมีความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นของจีนซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ โดยจีนมีการจัดการลงดาบอย่างเด็ดขาดการดำรงอยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาจากการสร้างความชอบธรรมจากผลงานที่จับต้องได้จึงเน้นการรับฟังและแก้ไขปัญหาตามความต้องการของประชาชน แม้ว่าระบอบคอมมิวนิสต์ในแบบจีนอาจจะไม่ใช่ระบอบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุดในโลกแต่ก็นับว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับ ‘บริบทจีน’ ที่มีประชากรจำนวนมากมีอาณาเขตกว้างใหญ่และมีความหลากหลายสูง

            นี่เป็นเพียงบทสรุปสั้นๆ จากประสบการณ์ความสำเร็จของจีนที่สามารถพลิกตัวเองจนกลายมาเป็นผู้นำระดับโลก  ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน ควบคู่กับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองให้ดีขึ้นซึ่งเป็นบทเรียนที่ไทยสามารถเรียนรู้และนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย โดยการยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง

Tags: