Interview

30 ปี ความสัมพันธ์จีน-อาเซียน จีน-ไทยก้าวเข้าสู่ยุคของความร่วมมือแบบ Win-Win

27

January

2022

16

August

2021

สัมภาษณ์พิเศษ อรรถยุทธ์ ศรีสมุทร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง

ผู้เขียน กวน ชิวอวิ้น นิตยสาร CAP

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-จีนจากเดิมที่ดีอยู่แล้วจะยิ่งพัฒนารุดหน้าขึ้นไปอีกและเมื่อมีความตกลง RCEP เพิ่มเข้ามาก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจการค้าการลงทุนของสองประเทศเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว    

            ผ่านไปชั่วพริบตาเดียว จีนและอาเซียนก็ได้จับมือเดินเคียงข้างกันมา30 ปีแล้ว ในฐานะหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน ไทยได้เป็นสักขีพยานและมีส่วนร่วมในห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนมาโดยตลอดตั้งแต่โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” การเร่งเดินหน้าโครงการความร่วมมือการท่องเที่ยวไทย-จีน การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงและความตกลง RCEP รวมถึงการใช้ประโยชน์จากงาน China-ASEAN Expo (CAEXPO) เป็นช่องทางที่รวดเร็วของการพัฒนาเชิงลึก และให้ความสำคัญกับการกระชับความร่วมมือในหลากหลายด้านกับจีนอย่างจริงจัง

            เนื่องด้วยปีนี้เป็นวาระครบรอบ30 ปี ความสัมพันธ์คู่เจรจาจีน-อาเซียน นิตยสาร China-ASEAN Panorama (CAP) ได้เดินทางไปยังปักกิ่งเพื่อสัมภาษณ์ อรรถยุทธ์ ศรีสมุทร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง จากการพูดคุยกันครั้งนี้ทำให้เรารับรู้ได้ว่าแม้หนทางการพัฒนาของทั้งสองฝ่ายจะเหมือนกันเป็นส่วนใหญ่ แตกต่างกันเป็นส่วนน้อย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปคือมิตรภาพ“จีนไทยใช่อื่นไกลพี่น้องกัน”

ไทยได้รับอานิสงส์จากความสัมพันธ์จีน-อาเซียนที่แน่นแฟ้นขึ้นทุกวัน

           “จีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนมาหลายปีต่อเนื่องทั้งยังมีคุณูปการสำคัญด้านเศรษฐกิจการค้า ความมั่นคงในภูมิภาค การแลกเปลี่ยนด้านสังคมวัฒนธรรมและการพัฒนาทางเทคโนโลยีมาโดยตลอด ความร่วมมือสองฝ่ายประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง  และในระหว่างช่วง 30 ปีความสัมพันธ์จีน-อาเซียนนี้ผลของการไปมาหาสู่ระหว่างจีนกับไทยเองก็เด่นชัดมากเช่นกัน” ทูตไทยประจำปักกิ่ง กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนและจีนกับไทยที่แน่นแฟ้นขึ้นทุกวัน

           “ความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับอาเซียนรวมถึงประเทศไทยสะท้อนให้เห็นผ่านการแลกเปลี่ยนระดับสูงทั้งในรูปแบบทวิภาคีและพหุภาคีที่มีมาอยู่ตลอดเช่น การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นที่นครฉงชิ่ง เมื่อต้นเดือนมิ.ย.2564 ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของความเสมอภาคและไว้วางใจซึ่งกันและกันของทั้งสองฝ่ายและในสถานการณ์โควิด-19 จีนยังได้เร่งให้ความช่วยเหลือจัดหาและบริจาควัคซีนหลายล้านโดสแก่อาเซียนส่งทีมบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาช่วยสนับสนุน ฯลฯ

           นอกจากนี้ จีนและอาเซียนยังได้กำหนดขอบเขตความร่วมมือเฉพาะด้านขึ้นเป็นประจำทุกปีเช่น กำหนดให้ปี 2563 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลจีน-อาเซียนขณะที่ปี 2564 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจีน-อาเซียน”  ทูตไทยฯ กล่าว ในฐานะหนึ่งในสมาชิกกลุ่มประเทศจีน-อาเซียนไทยจะเร่งเข้ามามีส่วนร่วมในความร่วมมือระดับภูมิภาค เก็บเกี่ยวผลของการพัฒนาที่เกิดจากความสัมพันธ์จีน-อาเซียนที่แน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ

RCEP กำหนดมาตรฐานใหม่ความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าจีน-ไทย

           เดือนพ.ย.2563 การลงนามความตกลง RCEP อย่างเป็นทางการซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีคุณภาพสูงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หลังจากใช้เวลาเจรจามายาวนานถึง8 ปี ถือเป็นความหวังที่จะเข้ามาช่วยคลี่คลายสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าโลกที่ถูกแช่แช็งภายใต้การแพร่ระบาดของไวรัสที่ลุกลาม

           มองย้อนกลับไปในบริบทของการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าจีน-ไทยปี 2563 มูลค่าการนำเข้าและส่งออกโดยรวมระหว่างจีนและไทยสูงถึง 98,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐประเทศไทยขึ้นแท่นเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 12 ของจีน แซงหน้าประเทศพัฒนาแล้วอย่างอังกฤษฝรั่งเศส อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ ด้วยอัตราเติบโตที่ 7.5% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เหนือความคาดหมายในช่วงโควิด

            ขณะเดียวกัน จีนก็เป็นคู่ค้าอันดับ 1ของไทยและประเทศต้นทางนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทยมาอย่างต่อเนื่อง บริษัทจีนที่มีชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซการสื่อสารโทรคมนาคม เหล็กกล้า โซลาร์เซลล์ ต่างก็เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในไทย ส่วนกลุ่มซีพีของไทยก็เป็นบริษัทชื่อดังที่คนจีนรู้จักคุ้นหูกันดี

           ในมุมมองของท่านทูตไทยฯ ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-จีนจากเดิมที่ดีอยู่แล้วจะยิ่งพัฒนารุดหน้าขึ้นไปอีกและเมื่อมีความตกลง RCEP เพิ่มเข้ามาก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจการค้าการลงทุนของสองประเทศเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

           “ก่อนอื่นในภาพกว้างเราต้องรักษาการเปิดกว้างการค้าและการลงทุนให้คงอยู่เพื่อให้มั่นใจว่าห่วงโซ่อุปทานโลกจะมีความยืดหยุ่น ต่อเนื่องและไม่ถูกกระทบได้ง่ายRCEP จะมีส่วนช่วยเร่งการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจหลังโควิด สร้างตลาดและโอกาสการทำงานที่มากขึ้นให้กับผู้ประกอบการและผู้คนทั่วโลก”ท่านทูตไทยฯ กล่าว

           “ถัดมาหากมองในแง่เฉพาะด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีน-ไทยภาคการส่งออก ภาคการผลิต และอีคอมเมิร์ซของไทยสามารถอาศัย RCEPเป็นช่องทางการพัฒนาได้ บริษัทท้องถิ่นในอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถเสริมสร้างการบูรณาการกับห่วงโซ่อุปทานภายในภูมิภาคผ่านวัตถุดิบหรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปที่ได้จากตลาด RCEP และจากการบูรณาการอุตสาหกรรมเข้าด้วยกันผู้ประกอบการ SMEs จะมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าของภูมิภาคและทั่วโลกมากขึ้น”

ไทยงัดมาตรการเด็ด ฟื้นการท่องเที่ยวควบคู่วัฒนธรรม

           ปี 2563 เป็นปีที่สถานการณ์ไม่ปกติ นอกเหนือจากโอกาสใหม่ด้านเศรษฐกิจการค้าแล้วสำหรับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวที่กำลังดิ้นรนกับวิกฤตโควิด ธุรกิจจะฟื้นกลับสู่สภาพเดิมได้เมื่อไหร่เป็นสิ่งที่พวกเขากังวลใจมากที่สุดประเทศไทยซึ่งพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเสาหลักทางเศรษฐกิจ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องงัดไม้เด็ดออกมาช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง

           “เพื่อที่จะฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวทุกฝ่ายในไทยต่างพยายามกันอย่างเต็มที่” ท่านทูตไทยฯ เล่าให้เราฟังว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ออกมาตรการสนับสนุนเงินค่าโรงแรมที่พักเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ได้เปิดตัวโครงการ “ฮักไทย” (HUG THAIS) เพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและเร่งขยายความร่วมมือกับหลายสายการบิน ด้านกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้สนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเสริมการท่องเที่ยวยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยในการเดินทางของนักท่องเที่ยว

           ภายใต้สถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดสถานทูตไทยในจีนได้ทุ่มเทความพยายามอย่างมาก เพื่อรักษาการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้คนทั้งสองประเทศ

           “นับตั้งแต่ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19ทางสถานทูตได้ปรับเปลี่ยนแผนการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และได้พยายามส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-จีนอย่างเต็มที่เช่น การจัดงานเทศกาลไทยประจำปี 2564 “Celebrating Songkran Festival with Thai StreetFood” ที่มีผู้เข้าชมวิดีโอกิจกรรมรวมมากกว่า 250 ล้านยอดวิวทั่วโลกนอกจากนี้ สถานทูตไทยยังได้จัดกิจกรรมด้านวัฒนธรรมในรั้วสถานศึกษาและมหาวิทยาลัยในกรุงปักกิ่งรวมถึงมีความร่วมมือกับสื่อท้องถิ่นในจีน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างผู้คนทั้งสองประเทศ”ทูตไทยฯ กล่าว

           ครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์จีน-อาเซียน มีอนาคตที่สดใสรออยู่เบื้องหน้าช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ เมื่อถามถึงงานมหกรรม China-ASEAN Expo (CAEXPO) ครั้งที่ 18ที่กำลังจะมาถึง ท่านทูตไทยยิ้มพร้อมกับกล่าวคำอวยพรและเอ่ยถึงความคาดหวังต่องานครั้งนี้ว่า“จีนไม่เพียงแต่เป็นพันธมิตรทางความร่วมมือที่สำคัญของอาเซียน แต่ยังเป็นมิตรสหายที่สำคัญของไทยด้วยเช่นกันหวังว่าในอนาคตทั้งสองฝ่ายจะมีความร่วมมือที่ดีต่อกันมากขึ้น เชื่อว่าเราจะก้าวเข้าสู่ยุคของความร่วมมือแบบWin-Win ผมขออวยพรให้การจัดงาน CAEXPO เจริญรุดหน้ายิ่งขึ้นในทุกๆปี”

Tags: