Interview

คุ้มกับที่ทุ่มเททำมาทั้งชีวิต สยามดินแดนที่ฉันผูกพัน

12

January

2022

1

March

2021

ผู้เขียน : หลี หมิ่น นิตยสาร CAP

        ต้วน ลี่เซิง ชายวัยใกล้ 80 ปี ลูกศิษย์ของจี้ เสี้ยนหลิน เป็นนักวิชาการคนแรกที่ทางการจีนส่งมาสอนหนังสือในประเทศไทย และเป็นนักวิจัยด้านภาษาและประวัติศาสตร์ไทยที่มีชื่อเสียง ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงการศึกษาและการวิจัยด้านภาษาและประวัติศาสตร์ไทยมาทั้งชีวิต หลังจากกลับมาอยู่บ้านเกิด ปัจจุบัน ต้วน ลี่เซิง ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการคณะกรรมการวิชาการศูนย์ไทยศึกษา มหาวิทยาลัยยูนนาน และยังคงมีส่วนช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านมนุษยศาสตร์และวัฒนธรรมระหว่างจีน-ไทยอย่างต่อเนื่อง

จับพลัดจับผลูมาเรียนเอกไทย ได้ดีเป็นนักวิจัยในต่างแดน

        ปี 1962 ต้วน ลี่เซิง ซึ่งมีคะแนนสอบติดอันดับต้นๆ ของมณฑลยูนนานสอบเข้าสาขาวิชาภาษาตะวันออกของมหาวิทยาลัยปักกิ่งได้สำเร็จ หัวหน้าสาขาในขณะนั้นคือ จี้ เสี้ยนหลิน เนื่องจากสมัยก่อนการคมนาคมยากลำบาก ยังไม่มีรถไฟ ต้วน ลี่เซิง จึงต้องใช้เวลาถึง 7 วันเต็ม เดินเท้าจากบ้านเกิดที่คุนหมิงไปยังปักกิ่ง เขาพูดติดตลกว่ารู้สึกราวกับตัวเองเป็นบัณฑิตที่ต้องดั้นด้นไปเข้าร่วมการสอบจอหงวนที่เมืองหลวง

        ต้วน ลี่เซิงที่ผ่านอุปสรรคมากมายกว่าจะไปถึงมหาวิทยาลัยปักกิ่งได้ กลับต้องเผชิญกับความยุ่งยากอีกครั้งเมื่อถึงคราวต้องเลือกวิชาเอก “ตอนแรกผมตั้งใจจะเลือกอาจารย์จี้ เสี้ยนหลิน ผมชอบศึกษาประวัติศาสตร์อารยธรรมอินเดีย ผมอยากจะเรียนภาษาสันสกฤตกับท่าน ทว่าปีนั้นสาขาวิชาภาษาสันสกฤตกลับไม่มีอยู่ในรายชื่อแผนรับนักศึกษาที่ทางการประกาศออกมา” ต้วน ลี่เซิงกล่าว ด้วยเหตุนี้เขาจึงต้องกลับไปทบทวนเรื่องการเลือกวิชาเอกใหม่

        “ในตอนนั้นผมแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับภาษาไทยเลย แต่เผอิญไปเห็นนิตยสารภาพเล่มหนึ่งเข้า ในนั้นมีภาพเด็กผู้หญิงคนหนึ่งกำลังรำไทย สวมชุดคล้ายคลึงกับคนอินเดีย ผมเลยคิดว่างั้นเรียนภาษาไทยก็แล้วกัน” ต้วน ลี่เซิงกล่าว “และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้ก้าวเข้าสู่เส้นทางของการศึกษาวิจัยภาษาและประวัติศาสตร์ไทย”

        ปี 1980 ต้วน ลี่เซิงในวัย 36 ปี สอบติดปริญญาโทที่สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็น หลังจากนั้น 3 ปี เขาก็เรียนจบและได้อยู่เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยต่อ ระหว่างปี 1984-1985 ต้วน ลี่เซิงได้รับเชิญให้ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะนักวิชาการจีนคนแรกที่ทางการจีนส่งมาสอนหนังสือในไทย และตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมาก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

        ด้วยประสบการณ์การทำงานและใช้ชีวิตสองช่วงนี้ในประเทศไทย ทำให้ ต้วน ลี่เซิงมีข้อได้เปรียบด้านการวิจัยประวัติศาสตร์ไทยผ่านทั้งการลงพื้นที่วิจัยภาคสนามและการตีความเอกสารโบราณ หากไม่นับช่วงเวลาที่สอนหนังสือในไทย ต้วน ลี่เซิงยังเคยไปเป็นนักวิจัยอาคันตุกะ (Visiting scholar) ที่อเมริกา และเคยกลับมาสอนที่มหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็นด้วย แต่ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ชีวิตของเขามักต้องข้องเกี่ยวกับภาษาไทยอยู่ตลอด

สองบุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุด

        นับตั้งแต่ที่จับพลัดจับผลูมาเรียนวิชาเอกภาษาไทย จนกระทั่งได้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยประวัติศาสตร์ไทยที่มีชื่อเสียงแห่งยุค มีบุคคลอยู่สองท่านที่ ต้วน ลี่เซิงคิดว่ามีอิทธิพลต่อเขาอย่างมาก ท่านแรกคืออาจารย์จี้ เสี้ยนหลิน ส่วนอีกท่านหนึ่งคือคุณอุเทน เตชะไพบูลย์ หรือชื่อ “แต้โหงวเล้า” ชาวจีนโพ้นทะเลที่มีชื่อเสียงในไทย

        ปี 1984 ต้วน ลี่เซิงที่เดินทางมารับหน้าที่อาจารย์ในไทยไม่เคยนึกฝันเลยว่า จะได้เจอกับบุคคลอีกท่านที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อชีวิตของเขา นั่นคือคุณอุเทน เตชะไพบูลย์ ชาวจีนโพ้นทะเลผู้โด่งดังในไทย ซึ่งขณะนั้นเป็นหนึ่งในเศรษฐีอันดับต้นๆของประเทศ เขาคือผู้ก่อตั้งธนาคารศรีนคร ทั้งยังดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งมาตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ มีความรู้ภาษาจีน ภาษาไทย และภาษาอังกฤษอย่างแตกฉาน ทั้งยังเชี่ยวชาญในศาสตร์ศิลปะพู่กันจีน เรียกได้ว่าในไทยไม่มีใครที่ไม่รู้จักเขา

        “ในสมัยนั้นจีนและไทยยังไม่ค่อยมีการไปมาหาสู่ระหว่างกันเท่าไหร่ แต่ผมมักจะได้เห็นลายมือการเขียนพู่กันจีนของบุคคลท่านหนึ่งตามสถานที่ต่างๆอยู่บ่อยครั้ง ฝีมือการเขียนดีมาก ลงชื่อไว้ว่า ‘แต้โหงวเล้า’ ผมเลยอยากไปพบกับเขาดูสักครั้ง” ต้วน ลี่เซิงกล่าว จากการแนะนำของเพื่อนที่ทำงานในสำนักข่าว ทำให้ต้วน ลี่เซิง ได้มีโอกาสพบกับคุณอุเทนครั้งแรกที่ตึกสำนักงานใหญ่ของธนาคารศรีนคร

        ต่อมาช่วงปี 1987-1992  ต้วน ลี่เซิงได้เดินทางไปเป็นนักวิจัยอาคันตุกะที่อเมริกา ก่อนที่โชคชะตาจะนำเขากลับมายังประเทศไทยอีกครั้ง ทั้งสองได้พบกันอีกครั้งในงานงานหนึ่ง คุณอุเทนได้เชิญให้เขามาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติที่ตนเองเป็นผู้ก่อตั้ง ซึ่งต้วน ลี่เซิงก็ตกปากรับคำด้วยความยินดี และการอยู่เมืองไทยครั้งนี้ของเขาก็กินเวลายาวนานถึง 8 ปี

        “อะไรคือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากคุณอุเทน? เขาทำให้ผมได้เห็นว่า คนเชื้อสายจีนและชาวจีนโพ้นทะเลในไทยนั้นสุดยอดแค่ไหน พวกเขาได้สร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยไว้มากมาย และนี่ก็ทำให้ผมตัดสินใจที่จะศึกษาเรื่องของคนเชื้อสายจีนในไทยอย่างจริงจัง” ต้วน ลี่เซิงกล่าว “กล่าวได้ว่าอาจารย์จี้ เสี้ยนหลิน และคุณอุเทนเป็นบุคคลสำคัญที่ชักนำผมเข้าสู่เส้นทางของการศึกษาวิจัยประเทศไทย”

ความสัมพันธ์จีน-ไทยเจริญรุดหน้า

        ทุกวันนี้ สื่อภาษาจีนในไทย แพลตฟอร์มโซเชียลต่างๆ การติดตามรับชมผลงานละครซีรีส์ หรือแม้กระทั่งกระแสการออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ ได้ทำให้การเรียนรู้ทำความเข้าใจระหว่างชาวจีนและชาวไทยกลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น และด้วยความที่ประเทศจีนมีพลังอำนาจมากขึ้นก็ทำให้คนเชื้อสายจีนและชาวจีนโพ้นทะเลในไทยมีความภาคภูมิใจในภูมิหลังของตนเองมากขึ้นเช่นกัน

        นับตั้งแต่ที่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย การแลกเปลี่ยนด้านการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศมีความคึกคักมากขึ้น การเรียนการสอนภาษาจีนในไทยได้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง ไม่เพียงแต่การเรียนการสอนภาษาจีนในมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติเท่านั้นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก สถาบันขงจื่อเองก็เติบโตพัฒนาเป็นอย่างดีในประเทศไทย แค่ปี 2006 ปีเดียวมีการก่อตั้งสถาบันขงจื่อขึ้นถึง 10 แห่งในประเทศไทย และก่อตั้งเพิ่มภายหลังอีก 6 แห่ง จนถึงสิ้นปี 2020 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีห้องเรียนขงจื่อ 11 แห่ง สถาบันขงจื่อรวม 16 แห่ง มากที่สุดในอาเซียน

        ต้วน ลี่เซิง มองว่า สถาบันขงจื่อได้แสดงบทบาทด้านการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างแข็งขัน ภาษาถือเป็นเครื่องมือโดยตัวของมันเอง เป็นสื่อกลางในการสื่อสาร ซึ่งไม่ควรจะถูกเหตุปัจจัยทางการเมืองมาแทรกแซงมากจนเกินไป

กลับบ้านเกิด ยืนหยัดส่งเสริมการแลกเปลี่ยนจีน-ไทย

        ปี 2004 หลังจาก ต้วน ลี่เซิงเกษียณอายุจากมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็นกลับมาอยู่บ้านเกิดที่คุนหมิง เขาได้รับเชิญจากศูนย์ไทยศึกษา มหาวิทยาลัยยูนนานให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคณะกรรมการวิชาการศูนย์ไทยศึกษา มหาวิทยาลัยยูนนาน และได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศซีอานและมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกหลายแห่ง

        หลายปีมานี้ ต้วน ลี่เซิง ยังคงผลิตผลงานเขียนออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ “รวมเกร็ดประวัติศาสตร์ไทย” “ประวัติศาสตร์ศิลปะวัฒนธรรมไทย” “ท่องประวัติศาสตร์ไทย” “ท่องประวัติศาสตร์กัมพูชา” และยังคงยืนหยัดทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนด้านสังคมวัฒนธรรมและการเรียนการสอนด้านภาษาระหว่างจีนกับไทยต่อไป

Tags: