China-ASEAN Panorama

ความร่วมมือแปล ‘วรรณกรรมคลาสสิก’ ตัวกลางเชื่อมสัมพันธ์ เสริมความเข้าใจจีน-อาเซียน

16

June

2023

16

June

2023

        หากอยากเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศใดประเทศหนึ่ง นอกเหนือการเดินทางไปท่องเที่ยว เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ หรือดูสารคดีแล้ว ‘การอ่านวรรณกรรมคลาสสิก’ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีเช่นกัน

        ในปี 2565 ผลงานวรรณกรรมคลาสสิก 3 เรื่องของลาว ได้แก่ “ชีวิตและภารกิจของประธานไกสอน พมวิหาน” “สองเอื้อยน้อง” และ “ตำนานขุนบรมราชาธิราช” ได้รับการแปลเป็นภาษาจีนและตีพิมพ์ในประเทศจีนเป็นครั้งแรก ผลงานทั้ง 3 เรื่องนี้ ถือเป็นตัวแทนของวรรณกรรมคลาสสิกของลาว มีทั้งอัตชีวประวัติบุคคลสำคัญ นวนิยายและวรรณกรรมพื้นบ้าน ช่วยให้ผู้อ่านชาวจีนได้สัมผัสใกล้ชิดกับวัฒนธรรมลาวมากขึ้น

จีน-ลาวลงนามบันทึกความร่วมมือแปล ‘วรรณกรรมคลาสสิก’ (ภาพ:Xinhua News)

         ก่อนหน้านี้ ในปี 2564 จีนและลาวได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือแปลวรรณกรรมคลาสสสิก ซึ่งระบุไว้ว่า วรรณกรรมคลาสสิกจากจีนและลาว 50 รายการ จะถูกแปลและเผยแพร่ภายใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อส่งต่อผลงานวรรณกรรมชั้นยอดสู่สายตาผู้อ่านทั้งสองประเทศ

วรรณกรรมลาว 3 เรื่อง ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาจีน (ภาพ: 海外网)

       เช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งเพิ่งลงนามบันทึกความร่วมมือแปลวรรณกรรมคลาสสิกร่วมกับจีนไปเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 โดยมีสำนักบริหารสื่อและสิ่งพิมพ์แห่งชาติจีน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรมของไทย เป็นตัวแทนลงนามความร่วมมือสองฝ่าย

       นอกจากนี้ ภายใต้โครงการร่วมกันแปลผลงานวรรณกรรมจีน-อาเซียน กว่างซีและเมียนมายังได้ร่วมกันแปลผลงานวรรณกรรมมากกว่า 10-12 เรื่องในช่วงแรก ก่อนขยายความร่วมมือต่อเนื่องไปยังหลายประเทศอาเซียน เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ช่วยส่งเสริมการซื้อขายลิขสิทธิ์งานวรรณกรรม และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีน-อาเซียน

ผลงานนวนิยายของเมียนมาที่ได้รับการแปลเป็นภาษาจีน (ภาพ: China Youth Daily)

        ช่วงหลายปีที่ผ่านมา กว่างซีได้อาศัยข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับอาเซียนในการผลักดันการส่งออกผลงานลิขสิทธิ์  ตีพิมพ์ผลงานร่วมกัน ตลอดจนจัดตั้งหน่วยงานสาขาในอาเซียน และ “งานประชุมฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 18” ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 19 มิ.ย. นี้ ณ นครหนานหนิง กว่างซี ภายใต้หัวข้อ “การสร้างห้องสมุดอัจฉริยะและส่งเสริมการอ่าน” ก็จะมาช่วยเป็นอีกแรงขับเคลื่อนให้กับวงการสื่อสิ่งพิมพ์จีน-อาเซียน

        จีนและอาเซียนมีความร่วมมือแลกเปลี่ยนด้านสังคมและวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดมาอย่างต่อเนื่อง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว 50 ครั้ง ทรงพระราชนิพนธ์บันทึกการเสด็จพระราชดำเนินเยือนจีนและพระราชนิพนธ์แปลวรรณกรรมจีนหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ พระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “นารีนครา” ที่มียอดจำหน่ายสูงถึงเกือบ 4 หมื่นเล่ม สะท้อนให้เห็นถึงกระแสความนิยมในวัฒนธรรมจีนที่นับวันยิ่งเพิ่มขึ้น

        ‘งานประชุมฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียน’ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2549 ปัจจุบันได้กลายเป็นงานประชุมฟอรั่มความร่วมมือที่สำคัญเฉพาะด้านระหว่างจีนกับอาเซียน งานครั้งนี้จะเป็นโอกาสสำคัญที่จีนและอาเซียนจะได้ร่วมกันผลักดันความร่วมมือด้านห้องสมุดและงานวรรณกรรม เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศร่วมกันต่อไป

ที่มา: China-ASEAN Panorama

Tags:
No items found.