China-ASEAN Panorama

‘แพทย์แผนจีน’ เดินหน้าบุกตลาดโลก สนับสนุนการสร้าง ‘เส้นทางสายไหมสุขภาพ’

26

July

2022

25

July

2022

ผู้เขียน: ถัง อี้ นิตยสาร CAP

        การแพทย์แผนจีนมีวิวัฒนาการยาวนานหลายพันปี เป็นศาสตร์การรักษาโรคตำรับโบราณดั้งเดิมของจีน จากยุทธศาสตร์ “พลิกฟื้นพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์แผนจีน” ของภาครัฐในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ตลาดการแพทย์แผนจีนภายในประเทศจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อผสานรวมกับแรงสนับสนุนจากข้อริเริ่ม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ยิ่งทำให้ศาสตร์การแพทย์แผนจีนขยายไปสู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

การแพทย์แผนจีนมีบทบาทสำคัญในการป้องกันและต่อสู้กับโควิด-19 (ภาพ: VisualChina)

        นับตั้งแต่ปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประสิทธิภาพในการรักษาโควิดของศาสตร์การแพทย์แผนจีนเป็นที่ยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตของการแพทย์แผนจีนในตลาดโลก ภายใต้สภาวะการป้องกันโรคระบาดและหันมาใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพของคนยุคปัจจุบัน จีนจะอาศัยข้อริเริ่ม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมการแพทย์แผนจีนไปสู่ตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น และแสดงบทบาทที่มากขึ้นในระบบการแพทย์และสาธารณสุขทั่วโลกได้อย่างไร? ดูเหมือนเราจะค้นพบคำตอบได้จาก ความร่วมมือด้านการแพทย์แผนจีนที่ใกล้ชิดกันระหว่างจีนกับอาเซียน และผลประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP

ยาสมุนไพรจีน ‘จ้างหงฮวา’ หรือ ดอกคำฝอย

เส้นทางโกอินเตอร์ของการแพทย์แผนจีน

        จีนมีการค้าขายวัตถุดิบยาสมุนไพรจำนวนมากกับประเทศต่าง ๆ ตามแนวเส้นทางสายไหมมาตั้งแต่สมัยโบราณ และการมาถึงของข้อริเริ่ม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ก็ได้นำพาโอกาสการพัฒนาใหม่ ๆ มาสู่อุตสาหกรรมการแพทย์แผนจีนอีกครั้ง

ในปี 2564 การส่งออกยาสมุนไพรจีนมีมูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.5%

        ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ไม่ใช่แค่เส้นทางการค้า แต่ยังเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนวิทยาการความรู้ระหว่างโลกตะวันออกกับตะวันตก เส้นทางการค้าด้านการแพทย์และยา รวมถึงเป็นโอกาสสำคัญในการขยายตลาดการแพทย์แผนจีนไปยังต่างประเทศ ในระหว่างช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 การมีส่วนร่วมสร้าง ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ของการแพทย์แผนจีนได้มีความคืบหน้าเชิงบวก

โซนจัดแสดง ‘ยาสมุนไพรกว่างซี 10 ชนิด’ ภายในงานมหกรรมยาแพทย์แผนจีนครั้งที่ 12

       ด้านการแลกเปลี่ยนทางการค้า ได้มีการบรรจุเนื้อหาการแพทย์แผนจีนลงในข้อตกลงการค้าเสรีแล้ว 16 ฉบับ จัดตั้งฐานการส่งออกและบริการการแพทย์แผนจีนแห่งชาติ 17 แห่ง ยอดการนำเข้าส่งออกผลิตภัณฑ์ประเภทยาสมุนไพรจีน มีมูลค่าสะสมรวมกว่า 28,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีการใช้งานผลิตภัณฑ์และบริการการแพทย์แผนจีนในวงกว้างมากขึ้น

        ด้านแหล่งวัตถุดิบยาสมุนไพร ทางการจีนได้จัดตั้งศูนย์การแพทย์แผนจีนที่มีคุณภาพค่อนข้างสูงในต่างประเทศแล้ว 30 แห่ง และฐานความร่วมมือด้านการแพทย์แผนจีนระหว่างประเทศ 56 แห่ง มอบบริการด้านการแพทย์แผนจีนที่มีคุณภาพให้กับผู้คนในประเทศตามแนว ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ และส่งเสริมการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาแพทย์แผนจีนในประเทศต่าง ๆ

โซนจัดแสดงยาแพทย์แผนโบราณอาเซียน ภายในงานมหกรรมยาแพทย์แผนจีน ครั้งที่ 12

       การผลักดันการแพทย์แผนจีนสู่ตลาดโลก หนีไม่พ้นการส่งออกวัตถุดิบยาสมุนไพรจีน จากตัวเลขสถิติที่เกี่ยวข้อง ในปี 2564 การส่งออกผลิตภัณฑ์ประเภทยาสมุนไพรจีนมีมูลค่ารวมกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.5% จากปีก่อน ขณะที่ยอดนำเข้าอยู่ที่ 2,740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.1%

        จากความใกล้ชิดกันทางด้านภูมิศาสตร์วัฒนธรรมและอื่น ๆ ทำให้ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้การยอมรับศาสตร์การแพทย์แผนจีนอย่างทั่วถึง อุตสาหกรรรมการแพทย์แผนจีนในอาเซียนมีแนวโน้มสดใส กว่างซีในฐานะแนวหน้าการเปิดกว้างทางความร่วมมือกับอาเซียนของจีน ไม่เพียงแต่มีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง แต่ยังมีข้อได้เปรียบด้านแหล่งทรัพยากรยาสมุนไพรจีน ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กว่างซีได้ส่งเสริมโครงการจัดตั้งฐานอุตสาหกรรมการผลิตวัตถุดิบสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Active Pharmaceutical Ingredients: API) เพื่อพัฒนาระบบยาแห่งชาติ โดยกำหนดให้เมืองหนานหนิงและอวี้หลินเป็นพื้นที่ขับเคลื่อนสำคัญ หนึ่งในนั้นคืองานมหกรรมยาแผนแพทย์จีน (Traditional Chinese Medicine Expo) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองอวี้หลิน กว่างซี ปัจจุบันจัดมาแล้วทั้งสิ้น 12 ครั้ง โดยได้มีการเปิดตัว ‘โซนยาแพทย์แผนโบราณอาเซียน’ ครั้งแรกในงานมหกรรมยาแพทย์แผนจีน ครั้งที่ 12 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดแสดงวัตถุดิบยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ยาจากประเทศต่าง ๆ ทั้งไทย สิงคโปร์ ลาว รวมกว่า 100 ชนิด ถือเป็นเวทีสำคัญของการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านยาแพทย์แผนจีนระหว่างประเทศ โดยมูลค่าการลงทุนของโครงการที่ลงนามภายในงานเพิ่มขึ้นถึง 53.9% จากปีก่อนหน้า

        จากความร่วมมือแลกเปลี่ยนด้านวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนขยายไปสู่การส่งออกการบริการด้านการแพทย์แผนจีน กว่างซีไม่หยุดใช้ศักยภาพที่มีอยู่เป็นแรงขับเคลื่อนแนวหน้าของการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์แผนจีน ช่วยเสริมการพัฒนาและแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์แผนจีนภายใต้ข้อริเริ่ม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’

เร่งส่งออกแพทย์แผนจีนสู่สากล ฝ่ากระแสโควิด

        นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาคมโลกต่างให้การยอมรับในประสิทธิภาพของศาสตร์แพทย์แผนจีนเป็นอย่างดี การใช้งานยาแพทย์แผนจีนทั่วโลกเพิ่มขึ้นสู่ระดับใหม่ ทางการจีนได้ทยอยเผยแพร่แผนการรักษาโควิด-19 ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนออกมาในเวอร์ชั่นภาษาต่าง ๆ  แบ่งปันประสบการณ์ต่อต้านการแพร่ระบาดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนกับกว่า 150 ประเทศและเขตพื้นที่ทั่วโลก ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนจีนไปช่วยเหลืองานด้านการต่อต้านการแพร่ระบาดใน 28 ประเทศ “ยาสมุนไพรสำเร็จรูป 3 ชนิด ตำรับยา 3 ตำรับ” หรือ “ซานเย่าซานฟาง” (三药三方) และตำรับยาสมุนไพรจีนอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านโรคระบาดได้ถูกนำไปอ้างอิงและใช้งานแล้วในหลายประเทศ มีบทบาทอย่างแข็งขันในการต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาดทั่วโลก

        ต้นเดือน เม.ย.2565 องค์การอนามัยโลก (WHO) ยอมรับบทบาทของศาสตร์การแพทย์แผนจีนในการต่อสู้กับโควิด-19 ในรายงานการประชุมประเมินผลการรักษาโควิดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนโดยผู้เชี่ยวชาญของ WHO ชี้ชัดถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษาโควิดด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีน และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิก WHO พิจารณาถึงความเป็นไปได้ของการใช้ศาสตร์การแพทย์แผนจีนในการรักษาโควิด ภายใต้ระบบและกรอบการกำกับดูแลด้านสาธารณสุข

อาเซียนเป็นตลาดภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการส่งออกยาสมุนไพรจีน

        ‘ยาเหลียนฮัว ชิงเวิน แคปซูล’ ถือเป็นยาที่มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านโควิดทั้งในประเทศจีนและทั่วโลก ตามรายงานของบริษัท Yiling Pharmaceutical ผู้วิจัยและพัฒนายาเหลียนฮัว ชิงเวิน แคปซูล จนถึงปัจจุบันยาเหลียนฮัว ชิงเวิน แคปซูลได้รับการขึ้นทะเบียนและจำหน่ายแล้วในกว่า 30 ประเทศและเขตพื้นที่ทั่วโลก อาทิ แคนาดา รัสเซีย ฟิลิปปินส์ คูเวต ฯลฯ ถือเป็นการใช้ศาสตร์ภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีนร่วมสนับสนุนงานป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดทั่วโลก

        นอกจากนี้ ประเทศไทยซึ่งถือเป็นประเทศแรกในโลกนอกเหนือจากจีนที่รับรองการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนอย่างครอบคลุมตามกฎหมาย เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกในปี 2563 สมาคมแพทย์แผนจีนแห่งประเทศไทยได้จัดตั้ง ‘คณะผู้เชี่ยวชาญด้านงานต้านโรคระบาดด้วยแพทย์แผนจีน’ โดยอาสาทำหน้าที่เป็นด่านหน้าต่อสู้กับโควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งหม้อต้มยาสมุนไพรจีนแจกจ่ายให้กับผู้คนที่เดินผ่านไปมาตามท้องถนน “การแพทย์แผนจีนไร้พรมแดน เป็นทั้งของชาวจีน และของผู้คนทั่วโลก” ภูษิต แซ่หลิน นายกสมาคมแพทย์แผนจีนแห่งประเทศไทยกล่าว

        “แผนพัฒนาเพื่อส่งเสริมการบูรณาการการแพทย์แผนจีนคุณภาพสูงร่วมกับข้อริเริ่ม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (พ.ศ. 2564-2568)” ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ควรเสริมสร้างความร่วมมือในอุตสาหกรรมวัตถุดิบยาสมุนไพรจีน ใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะของการป้องกันและรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้กับผู้คนในประเทศต่าง ๆ ตามแนว ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ และสนับสนุนการสร้างประชาคมร่วมด้านสุขภาพของมนุษยชาติ

        ภายใต้บริบทของยุคสมัยแห่งการต่อสู้กับโรคระบาดและกระแสการดูแลรักษาสุขภาพ เชื่อว่าศาสตร์การแพทย์แผนจีนจะได้รับการยอมรับจากผู้คนทั่วโลกมากขึ้น และจะแพร่กระจายไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

เส้นทางที่มีทั้งโอกาสและความท้าทาย

        การมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการของ RCEP  ทำให้บรรดาประเทศสมาชิกในภูมิภาคล้วนแต่เป็นหุ้นส่วนทางความร่วมมือที่สำคัญของการพัฒนาการแพทย์แผนจีน การก้าวไปสู่ระดับสากลของอุตสาหกรรมการแพทย์แผนจีนได้พบกับโอกาสครั้งใหม่

        แต่ละปีญี่ปุ่นนำเข้าวัตถุดิบสมุนไพรและตัวยาพร้อมใช้จากจีนมูลค่าราว 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในเกาหลีใต้มีปริมาณการเพาะปลูกสมุนไพรภายในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด สมุนไพรที่ใช้จึงเป็นของที่นำเข้ามาจากจีนแทบทั้งหมด แต่ละปีมีการนำเข้าสมุนไพรและตัวยาพร้อมใช้จากจีนปริมาณราว 2.5-3 หมื่นตัน ขณะที่อาเซียนถือเป็นตลาดส่งออกระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดของยาสมุนไพรจีน เช่น การส่งออกสมุนไพรจีนไปยังประเทศไทยจะได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีค่อนข้างมาก ภาษีการนำเข้าเจียงหวง (姜黄) หรือ ขมิ้นชัน ของไทยจะได้รับการปรับลดจากอัตราฐานภาษี 27% เป็น 0 ภายในระยะเวลา 10 ปี ขณะที่ภาษีนำเข้าจ้างหงฮวา (藏红花) หรือ ดอกคำฝอย ของเวียดนามจะปรับลดลงจาก 15% เป็น 0 ภายใน 10 ปี การส่งออกสมุนไพรจีนไปยังอาเซียนจึงยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

        แต่หนทางการนำการแพทย์แผนจีนไปสู่สากลก็ใช่ว่าจะราบรื่นไร้อุปสรรค โอกาสใหม่ ๆ ที่เข้ามาก็นำความท้าทายมาสู่อุตสาหกรรมการแพทย์แผนจีนด้วยเช่นกัน

        สื่อ ลี่เฉิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดเชิงกลยุทธ์เกี่ยวกับการแพทย์แผนจีน กล่าวว่า การมีผลบังคับใช้ของ RCEP ได้นำความท้าทายมาสู่อุตสาหกรรมการแพทย์แผนจีนด้วยเช่นกัน โดยเป็นการสร้างแรงกดดันให้เกิดการยกระดับทางอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลจากมาตรการอำนวยความสะดวกด้านการค้า เช่น การลดอัตราภาษี ทำให้เกิดการส่งออกวัตถุดิบเคมีภัณฑ์ สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (API) บรรจุภัณฑ์และวัสดุเสริม เครื่องจักรงานเภสัชกรรมและอื่นๆ เข้ามายังประเทศจีนมากขึ้น กลายเป็นคู่แข่งกับบริษัทระดับเดียวกันภายในประเทศ ซึ่งอาจทำให้บริษัทจีนมีผลกำไรลดลง หรืออาจทำให้บริษัทจีนที่ศักยภาพการแข่งขันไม่สูงพอถูกกำจัดออกจากตลาดเร็วขึ้น เช่น ญี่ปุ่นอาจจะเพิ่มการนำเข้าวัตถุดิบสมุนไพรจากจีน แล้วนำไปผลิตเป็นสินค้าตำรับยาสมุนไพรจีน แล้วส่งออกมากลับมาที่จีนในปริมาณมาก เนื่องจากอัตราภาษีที่ต่ำ ต้นทุนการนำเข้าสินค้าจากจีนจึงลดลงมาก ทำให้บริษัทผู้ผลิตเวชภัณฑ์ยาแพทย์แผนจีนต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้น

        ดังนั้นระหว่างกระบวนการเร่งเดินหน้าขยายตลาดสู่ต่างประเทศ ภาคอุตสาหกรรมการแพทย์แผนจีนควรใช้โอกาสนี้ยกระดับความร่วมมือด้านระบบการบริหารจัดการสาธารณสุขกับทั่วโลก มุ่งเดินหน้าสร้างพันธมิตรความร่วมมือด้านการแพทย์แผนโบราณ กระชับความร่วมมือด้านสาธารณสุข เพิ่มการจัดหาบริการแพทย์แผนจีนคุณภาพสูงและสร้างศูนย์การแพทย์แผนจีนระดับสูงในต่างประเทศ เสริมความแข็งแกร่งให้กับคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ของการแพทย์แผนจีน ส่งเสริมการประยุกต์ใช้ผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และบริการการแพทย์แผนจีนทั่วโลก ตลอดจนสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการแพทย์แผนจีนทั้งในและต่างประเทศ ร่วมกันจัดตั้งสถาบันวิจัยอุปกรณ์สำคัญด้านการแพทย์แผนจีน เพื่อดึงดูดผู้มีความสามารถและผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศมาเข้าร่วม

        ‘แผนพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์แผนจีน’ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 ที่เผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ระบุถึงแนวทางที่ชัดเจนสำหรับหลายตัวชี้วัดการพัฒนาด้านการแพทย์แผนจีน คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 ศักยภาพการบริการด้านสุขภาพการแพทย์แผนจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก นโยบายและระบบการพัฒนาการแพทย์แผนจีนคุณภาพสูงจะได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น การฟื้นฟูและพัฒนาการแพทย์แผนจีนจะบรรลุผลเชิงบวก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของการแพทย์แผนจีนในตลาดโลก และเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้คนทั่วโลกมากขึ้น

----------------------------------------

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง >> Yiling Pharmaceutical ผู้นำยาแพทย์แผนจีนมุ่งกระชับความร่วมมืออาเซียน

Tags: