Education

เดินหน้าจัดตั้ง “สถาบันอาชีวศึกษาไทย–จีน” ผลิตบุคลากรรองรับ EEC

27

January

2022

18

January

2021

            สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ร่วมกับศูนย์การศึกษาและความร่วมมือด้านภาษาระหว่างประเทศกระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดย ศาสตราจารย์ ดร.หม่า เจี้ยนเฟยผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาและความร่วมมือด้านภาษาระหว่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อยกระดับและพัฒนาการอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพและความสามารถทางภาษาจีน โดยมีสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนีผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหารประธานคณะกรรมการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล ร่วมในพิธีฯ เมื่อวันที่ 18ธันวาคม ที่ผ่านมา  

            มณฑล ภาคสุวรรณ์รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เปิดเผยว่า ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้จะมีการจัดตั้ง “สถาบันอาชีวศึกษาไทย–จีน” ซึ่งจะมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนการสอนการใช้ภาษาและวัฒนธรรมจีน ให้สถานศึกษาในสังกัด ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาและการวิจัยอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐานเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนากำลังคนเข้าสู่เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) และภูมิภาคอาเซียน เชื่อมโยงการพัฒนาเข้ากับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

            ทั้งนี้ ผู้สำเร็จอาชีวศึกษาภายใต้โครงการดังกล่าวจะมีความสามารถในการใช้ภาษาจีนสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสาธารณรัฐประชาชนจีนตลอดจนนักศึกษาอาชีวศึกษา ผู้บริหาร ครู และบุคลากรได้เรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความเข้าใจและมิตรภาพอันดีของทั้งสองประเทศต่อไป

              ด้านสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนีหรือ “สมเด็จธงชัย” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหารประธานคณะกรรมการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล กล่าวว่าสถาบันอาชีวศึกษาไทย-จีนที่กำลังจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นนวัตกรรมความร่วมมือในรูปแบบ“ภาษาจีน+ทักษะวิชาชีพ” ในโลกสมัยใหม่นี้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาและวิสาหกิจจีน-ไทยร่วมมือการผลิตบุคลากรและการพัฒนานำเทคโนโลยีวิชาชีพสมัยใหม่ตลอดจนการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในวิทยาลัยอาชีวศึกษาไทยให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลและจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”ของจีน และโครงการ EEC ภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ของประเทศไทยซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวมีบริษัทของผู้ประกอบการชาวจีนไปลงทุนเป็นจำนวนมากไม่น้อยกว่า120บริษัทและประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนสามารถเชื่อมโยงกับทุกประเทศได้อย่างสะดวก

               ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.หม่าเจี้ยนเฟย กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ในการจัดตั้งสถาบันอาชีวศึกษาไทย-จีนอยู่ในระหว่างการจัดทำข้อสรุป และหารือร่วมกันในลำดับต่อไป อย่างไรก็ตามเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคน และตอบโจทย์โครงการ EEC พื้นที่ในการจัดตั้งสถาบันอาชีวศึกษาไทย-จีนก็จะเป็นพื้นที่ในเขต EEC

Tags: