Interview

เดินหน้า EEC เชื่อมโลก เชื่อม‘ไทย-จีน’ ปลุกเศรษฐกิจหลัง COVID-19

12

January

2022

22

February

2021

ในช่วง2 ปีที่ผ่านมาคลื่นการลงทุนลูกใหม่จากจีนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนเติบโตสูสีคู่คี่กับญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยมายาวนาน

            แม้ COVID-19 จะส่งผลกระทบทั่วโลก แต่การผลักดัน “โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก”หรือ “อีอีซี” หัวจักรสำคัญในการดึงดูดการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยังคงเดินหน้าต่อเนื่องในทุกมิติ

           ดร.ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการสายงานการลงทุนและต่างประเทศสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายตลอดจนโอกาสและศักยภาพของอีอีซีกับการเชื่อมต่อการลงทุน‘ไทย-จีน’ ท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนไปหลัง COVID-19

‘อีอีซี’ เดินหน้าต่อเนื่องทุกมิติ

            ดร.ลัษมณ กล่าวว่า ด้วยจุดแข็งภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศไทยทำให้อีอีซีเป็นจุดยุทธศาสตร์ในแง่ของการเชื่อมโยง (Connectivity) ในภูมิภาคเอเชีย แม้การแพร่ระบาด COVID-19จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก แต่อีอีซีได้สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนด้วยการเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่อเนื่องตามแผน

            หลายโครงการสำคัญได้ลงนามสัญญาร่วมทุนและพร้อมเริ่มดำเนินการแล้วไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกและโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งทั้งหมดคาดจะเริ่มเห็นความคืบหน้าการก่อสร้างตั้งแต่กลางปี2564

          “ในแง่การลงทุนของภาคอุตสาหกรรม นับตั้งแต่ปี 2560 – 2563 การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซียังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของนักลงทุน ซึ่งอนาคตที่เราต้องการเห็นมากขึ้นคือความร่วมมือการลงทุนในด้านไฮเทคโนโลยีโดยมี EECi (เขตนวัตกรรมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) ที่วังจันทร์วัลเลย์จ.ระยอง เป็นเครื่องมือสำคัญในการรองรับการลงทุนใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นรวมถึงการผลักดันเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ที่ต้องเร่งเดินหน้าต่อ”

           นอกจากนี้ยังมี 3 เมกะโปรเจกต์ใหม่ที่จะเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ซึ่งอีอีซีอยู่ระหว่างเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้คาดว่าจะเริ่มมีความชัดเจนในช่วงกลางปี 2564 ประกอบด้วย 1. “โครงการสะพานไทย” ที่จะเชื่อมโยงอีอีซีไปสู่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้(เอสอีซี) 2.โครงการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน (ท่าเรือชุมพร ท่าเรือระนอง Land bridge) และ 3.โครงการท่าเรือบก(Dryport) ที่จะเชื่อมโยงการขนส่งจากจีนลงมาทางลาวและไทย

            สำหรับภาพรวมการขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีในรอบปี 2563 ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 453 โครงการ มูลค่าลงทุน 2.08 แสนล้านบาท คิดเป็น43% ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ โดยเป็นการลงทุนจากต่างประเทศรวม1.15 แสนล้านบาท คิดเป็น 55% ของมูลค่าขอรับส่งเสริมทั้งหมดในอีอีซี  โดยนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในอีอีซีมากที่สุดมูลค่าการลงทุน 50,455 ล้านบาท คิดเป็น 44%และอันดับสองเป็นนักลงทุนจากจีน มูลค่าการลงทุน 21,831ล้านบาท

           ด้านความคืบหน้าโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีในปี2563 จาก 453 โครงการ ได้อนุมัติคำขอแล้ว 292 โครงการ คิดเป็นสัดส่วน 64%, มีการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนแล้ว172 โครงการ (59%) และได้เริ่มโครงการแล้ว 79 โครงการ (46%)  โดยในปี 2564 อีอีซีตั้งเป้าหมายดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศมูลค่าไม่ต่ำกว่า3 แสนล้านบาท

ชู 3 แกนธุรกิจ ‘ดิจิทัล-สุขภาพ-โลจิสติกส์’ จุดขายใหม่ประเทศไทย

            นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มุ่งให้เกิดการเชื่อมต่อการขนส่งหลายรูปแบบ(MultimodalTransport) อีอีซียังได้ปรับยุทธศาสตร์ใหม่ให้สอดรับกับ NewNormal จากการแพร่ระบาดของ COVID-19  

            “จากการวิเคราะห์ นโยบายการขับเคลื่อน  12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซีเรามองว่ายังเป็นเป้าหมายที่ใช่อยู่สำหรับอนาคต แต่มีธุรกิจ 3 แกนหลักที่มีศักยภาพสูงที่เราจะมุ่งโปรโมทการลงทุนมากขึ้นเพื่อรับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงในยุค New Normal”  

แกนที่ 1 : กลุ่มธุรกิจดิจิทัลผลจาก COVID-19 ทำให้เกิดการเร่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมหาศาลในขณะที่ไทยมีความโดดเด่นในด้านความพร้อมการใช้งาน 5G ในพื้นที่อีอีซี ทำให้มีโอกาสในการดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเข้ามาเชื่อมต่อกับแกนดิจิทัลอาทิ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยียานยนต์อัจฉริยะฯลฯ

แกนที่ 2 : กลุ่มธุรกิจสุขภาพCOVID-19 ทำให้คนหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้นซึ่งไทยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สามารถต่อยอดได้ทั้งอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (MedicalHub) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ตลอดจนอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future) ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการเกษตรและไบโอเทคโนโลยีสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงเช่น อาหารเสริม เวชสำอาง ฯลฯ

แกนที่ 3 : กลุ่ม Smartlogistics ในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้เกิดการ Disruption ในภาคขนส่งอย่างมากจุดเด่นของอีอีซีซึ่งมีการเชื่อมต่อการขนส่งหลายรูปแบบ ทั้งท่าเรือน้ำลึก สนามบินถนน รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ทำให้อีอีซีเหมาะที่จะเป็นฮับโลจิสติกส์ในภูมิภาครวมถึงการลงทุนด้านการขนส่งและคลังสินค้าอัจฉริยะที่จะเชื่อมต่อกับเทคโนโลยียุคดิจิทัล

นักลงทุนจีนยังเป็นดาวเด่น

            ประเทศจีนถือเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายสำคัญที่อีอีซีต้องการดึงดูดการลงทุนโดยมีการประสานความร่วมมือกับบีโอไอและกระทรวงต่างประเทศที่มีสถานกงสุลในเมืองใหญ่ๆของจีนอย่างใกล้ชิด

            ตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา แม้ COVID-19 จะทำให้การเดินทางหยุดชะงัก แต่การดำเนินงานเพื่อดึงดูดการลงทุนจากจีนยังมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการประชุมทางไกลผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับ 50ซีอีโอบริษัทจากจีนที่มีแผนขยายฐานการลงทุนมายังประเทศไทย  การหารือร่วมกับหอการค้าไทย-กวางตุ้งซึ่งตั้งเป้านำธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องสำอางกว่าร้อยบริษัทเข้ามาลงทุน รวมถึงให้ความสนใจในการลงทุนSmart City และ Financial Center ในพื้นที่อีอีซี

           ดร.ลัษมณ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คลื่นการลงทุนลูกใหม่จากจีนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนเติบโตสูสีคู่คี่กับญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยมายาวนาน โดยมี 2 ปัจจัยสำคัญจากTrade War ที่เป็นตัวเร่งและนโยบายของรัฐบาลจีนที่ต้องผลักดันให้บริษัทของจีนออกไปต่างประเทศมากขึ้น

           อุตสาหกรรมที่จีนเข้ามาลงทุนหลักๆ ในไทยได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งไทยมีความพร้อมด้าน Ecosystem จากการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ที่นักลงทุนจีนสนใจเข้ามาลงทุน ซึ่งไทยมีความโดดเด่นในด้านความพร้อมโครงข่าย5G ซึ่งนำหน้าประเทศอื่นๆในอาเซียน โดยคาดว่าภายในเดือนมี.ค.2564 จะมีการให้บริการ 5G ครอบคลุมพื้นที่ถึง 50% ในอีอีซี

           “จีนมีศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับแนวหน้าของโลกซึ่งสามารถเชื่อมต่อได้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยต้องการผลักดันไม่ว่าจะเป็นยานยนต์แห่งอนาคต เทคโนโลยีหุ่นยนต์ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์

            บริษัทยักษ์ใหญ่จากจีนที่เข้ามาขยายฐานในไทยแล้วในช่วงที่ผ่านมาอาทิ Alibaba, Huawei, Midea นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายรายที่ให้ความสนใจประเทศไทย อาทิ GreeElectric บริษัทยักษ์ใหญ่เครื่องใช้ไฟฟ้าและ Xiaomi บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีน”  

           ดร.ลัษมณกล่าวว่า ทิศทางข้างหน้าเศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องนักลงทุนจีนยังคงแสวงหาโอกาสการขยายตลาด ขยายฐานการผลิต ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งในจุดหมายการลงทุนที่นักลงทุนจีนให้ความสนใจ

           “โอกาสที่เราจะเติบโตไปพร้อมกับการลงทุนใหม่ๆ ที่เข้ามามีทั้งในส่วนของบริษัทผู้ผลิตที่เป็นซัพพลายเออร์และส่วนของเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะเข้ามาลงทุน การพัฒนาแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี รวมถึงโอกาสในการแสวงหาความร่วมมือระหว่างบริษัทไทยกับบริษัทจีนเพื่อให้เกิดการSynergyขยายโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจระหว่างกัน” ดร.ลัษมณ กล่าว

Tags: